ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์และประเทศพันธมิตรประนามการรุกรานจากกองกำลังสำรองทางทะเลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่ FORUM

หุ้นส่วนภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำลังร่วมกับฟิลิปปินส์ในการประณามการรุกล้ำที่เป็นไปในเชิง “ห้อมล้อมและคุกคาม” โดยเรือของจีนนับร้อยลำที่เข้าสู่ดินแดนอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องการประท้วงทางการทูตต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และเรียกร้องให้กองเรือเล็กถอนกำลังจากแนวปะการังวิธซันโดยทันที หรือที่รู้จักกันในชื่อแนวปะการังจูเลียน เฟลิเป ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมะนิลาไทมส์กองทัพฟิลิปปินส์ได้ส่งเรือของกองทัพเรือเข้าไปเสริมเพื่อปฏิบัติ “การลาดตระเวนอธิปไตย” ในพื้นที่ดังกล่าว และเครื่องบินขับไล่กำลังตรวจตราเรือของจีนประมาณ 200 ลำ (ภาพ) ซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่าเป็นกองกำลังสำรองทางทะเล

“จากการมีบทบาทของกองทัพเรือที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เราพยายามสร้างความมั่นใจให้แก่คนในกองทัพถึงความมุ่งมั่นที่แน่วแน่และมั่นคงของฟิลิปปินส์ในการปกป้องและป้องกันพวกเขาจากการคุกคาม และเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีสิทธิ์เหนือพื้นที่ประมงที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ” พล.ต. เอ็ดการ์ด อารีวาโล โฆษกกองทัพกล่าวในแถลงการณ์ ตามรายงานของรอยเตอร์

นอกจากนี้ นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยังหยิบยกประเด็นดังกล่าวกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศของตน โดยอ้างคำวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2559 จากศาลระหว่างประเทศที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตที่กว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งครอบคลุมทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก

“ประธานาธิบดีบอกว่าเรากังวลอย่างจริงจัง ไม่ว่าประเทศใดก็จะเป็นกังวลหากมีเรือจำนวนมากขนาดนั้นเข้ามา” นายแฮร์รี โร้ค โฆษกของนายดูแตร์เต กล่าวกับผู้สื่อข่าว “ประธานาธิบดีย้ำสิ่งที่ได้บอกองค์การสหประชาชาติว่า เราจะยืนอยู่เคียงข้างและปกป้องดินแดนของเรา”

รัฐบาลจีนอ้างว่าเรือเหล่านี้เป็นเรือประมงที่หลบภัยจากสภาพอากาศเลวร้ายในทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งแห่งหนึ่ง และเรือจอดอยู่ในน่านน้ำของจีน อย่างไรก็ตาม การรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปตามรูปแบบการกระทำเชิงยั่วยุของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระดับโลก พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล แต่กลับมุ่งที่จะยึดครองดินแดนโดยสร้างที่ทำการกองบัญชาการทางทหารบนที่ดินที่ขุดลอกขึ้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองกำลังสำรองทางทะเลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปลอมตัวเป็นกองเรือประมง เพื่อรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำอธิปไตยและเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามต่างอ้างสิทธิทางอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ประเทศภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรวมถึงสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการด้านการฝึกซ้อมทางทหารและเสรีภาพในการปฏิบัติการเดินเรืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักนิติธรรมจะคงอยู่ในน่านน้ำที่สำคัญ

ภาพจากดาวเทียมระบุว่าเรือของจีนได้รวมตัวกันที่แนวปะการังรูปทรงบูมเมอแรง ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2563 ตามรายงานของสื่อ “การเคลื่อนพลครั้งนี้ที่แนวปะการังวิธซันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้น” นายเกรกอรี บี. โพลิง ผู้อำนวยการโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เวียดนามกล่าวว่าการรุกล้ำนี้ยังละเมิดเขตแดนของตนอีกด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์ แนวปะการังดังกล่าว ซึ่งเวียดนามเรียกว่าดาบาดู ตั้งอยู่ชายขอบทางตะวันออกของหมู่เกาะสแปรตลีที่มีถิ่นกำเนิดในเวียดนาม เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งเวียดนามจอดเรือใกล้กับพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคม

“เวียดนามขอให้จีนหยุดการละเมิดนี้ และเคารพอธิปไตยของเวียดนาม” นางเลอ ธิ ธู แฮง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามกล่าว

สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศฟิลิปปินส์กล่าวว่า ประเด็นทะเลจีนใต้ “เกี่ยวข้องโดยตรงกับสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงความกังวลของทุกฝ่าย”

“ญี่ปุ่นคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการดำเนินการใด ๆ ที่เพิ่มความตึงเครียด” สถานทูตญี่ปุ่นกล่าวทางโพสต์ทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม “เราสนับสนุนการบังคับใช้ #หลักบังคับแห่งกฎหมาย ในทะเล และร่วมมือกับประชาคมนานาชาติเพื่อปกป้องทะเลที่เสรี เปิดกว้าง และสงบสุข”

โดยแคนาดา นิวซีแลนด์ รวมถึงสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ต่างกังวลถึงประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน

“สหรัฐอเมริกายืนหยัดเคียงข้างฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเรา ในการเผชิญหน้ากับกองกำลังสำรองทางทะเลของจีนที่แนวปะการังวิธซัน” นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 28 มีนาคม “เราจะยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรของเรา และหยัดยืนเพื่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ”

เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำฟิลิปปินส์เน้นย้ำว่า ประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้ความมั่นคงทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศเสื่อมกำลังลงเพียงฝ่ายเดียวจะเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างสันติ” “สหภาพยุโรปยึดมั่นความสงบเรียบร้อยตามกฎระเบียบ” นายลุค เวรอน ทวีตข้อความ

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button