ติดอันดับ

การสำรวจความคิดเห็นเผยประชาชนจีนไม่ชอบสหรัฐฯ และพันธมิตรอเมริกัน

เจ้าหน้าที่ FORUM

ชาวจีนเกือบ 3 ใน 4 คนมีความรู้สึกในแง่ลบต่อสหรัฐอเมริกา และแสดงมุมมองว่าไม่พอใจพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศในลักษณะเดียวกัน ตามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่าผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน นั่นคือมีมุมมองในแง่ลบต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน

ความจริงแล้ว ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มีมุมมองในแง่ลบต่อจีนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยส่วนหนึ่งมาจากการจัดการกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามรายงานของศูนย์วิจัยพิว

อย่างไรก็ตาม การมองโลกของผู้อยู่อาศัยทั่วจีนแผ่นดินใหญ่บางส่วนเกิดจากการควบคุมข้อมูลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามที่นายอดัม วาย. หลิว นักวิจัยซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, นายเสี่ยวจุน หลี่ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และนักวิชาการนอกถิ่นประจำศูนย์จีนแห่งศตวรรษที่ 21 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์โลกซานดิเอโก และนางซงหยิง ฟาง รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ในเท็กซัสระบุ คณะนักวิจัยดังกล่าวได้วิจัยมุมมองของพลเมืองจีนที่มีต่อประเทศพัฒนาแล้ว 14 แห่งรวมถึงสหรัฐฯ และเขียนข้อค้นพบลงในรายงานที่ตีพิมพ์ในนิตยสารข่าวออนไลน์ เดอะดิโพลแมต

การวิจัยชี้ว่าผู้อยู่อาศัยในจีนแผ่นดินใหญ่มีความคิดที่ดีมากกว่าต่อประเทศที่สื่อจีนกล่าวถึงในแง่ดี และแสดงออกว่าเต็มใจที่จะร่วมมือกับจีนตามเงื่อนไขของพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนประเทศที่โต้กลับการรุกรานของจีนได้รับคะแนนในแง่ลบจากผู้อยู่อาศัยชาวจีน

“โดยสรุปแล้ว ข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทั้งหมดเป็นเรื่องไม่ดี” นายหลิว นายหลี่ และนางฟางกล่าว “เริ่มต้นด้วยสงครามการค้า การแบนหัวเว่ย และการทะเลาะทางการทูตเกี่ยวกับการประท้วงของฮ่องกง ต่อด้วยความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดการการระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้มีการปิดสถานกงสุลของอีกฝ่าย ซึ่งทุกอย่างลดระดับลงมาอย่างรวดเร็วสู่การประจันหน้ากันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2522”

นายหลิว นายหลี่ และนางฟางได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของชาวจีนสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และครั้งที่สองในสัปดาห์ถัดมาหลังจากนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 โดยรายงานว่าความไม่พอใจของผู้ตอบชาวจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือจากร้อยละ 77 ในการสำรวจครั้งแรกลดลงมาที่ร้อยละ 72 ในการสำรวจครั้งที่สอง

รูปแบบที่ปรากฏขึ้นจากการสำรวจทั้งสองครั้งนี้ “แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มพื้นฐานว่าความคิดเห็นของประชาชนจีนคงที่ในช่วงสามเดือนดังกล่าว และมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเช่นนั้นในอนาคตอันใกล้” นักวิจัยทั้งสามเขียนลงในเดอะดิโพลแมตฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 “ไม่มีสักเหตุการณ์เดียวที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกพื้นฐานเหล่านั้นได้อย่างมาก แม้แต่เหตุการณ์สำคัญ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์”

ในการสำรวจครั้งที่สองพบว่า ผู้ตอบชาวจีนยังคงมีระดับความไม่พอใจต่อแคนาดาและสหราชอาณาจักรแทบไม่เปลี่ยนแแปลง และลดลงมาเพียงเล็กน้อยสำหรับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มุมมองในเชิงลบที่มีต่อออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 เป็นร้อยละ 54 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

“ไม่นานหลังจากการสำรวจครั้งแรกของเรา รัฐบาลจีนก็ได้ใช้อัตราภาษีอากรหรือข้อจำกัดแบบใหม่กับการส่งออกเนื้อวัว ไวน์ ข้าวบาร์เลย์ ไม้ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของออสเตรเลีย นอกจากนี้ การทะเลาะกันที่เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ระหว่างนักการทูตจีนรายหนึ่งกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่ทหารออสเตรเลียบางคนกระทำในอัฟกานิสถาน ยังยกระดับไปเป็นสงครามคำพูดอย่างเต็มรูปแบบระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีประเทศอื่น ๆ เข้ามาร่วมวงด้วย” นายหลิว นายหลี่ และนางฟางเขียน “มีการรายงาน หารือ และแบ่งปันข่าวสารและการวิเคราะห์เหตุการณ์เหล่านี้อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศจีน ซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้มุมมองที่มีต่อออสเตรเลียย่ำแย่ลง”

ความคิดเห็นของประชาชนในจีนสามารถ “กระตุ้นหรือยับยั้ง” นโยบายต่างประเทศของจีนได้ และผู้นำจีนทราบดีว่าการสนับสนุนของประชาชนช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลเผด็จการและช่วยระดมความคิดริเริ่มด้านนโยบาย ตามที่นายหลิว นายหลี่ และนางฟางระบุ

นักวิจัยยืนยันว่าสิ่งนี้ทำให้การควบคุมข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลทั้งในและนอกจีนแผ่นดินใหญ่เป็นยุทธวิธีที่สำคัญสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการที่พรรคฯ พยายามกำหนดการมองโลกของชาวจีนแผ่นดินใหญ่

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button