ติดอันดับ

จีนโอนอ่อนต่อการทำรัฐประหารของพม่า ขณะที่พันธมิตรอินโดแปซิฟิกต่างประณามความรุนแรง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พันธมิตรอินโดแปซิฟิกร่วมกันกดดันให้พม่ากลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังจากจีนปิดกั้นความพยายามของสหประชาชาติในการประณามการทำรัฐประหารโดยกองทัพ อีกทั้งยังกลบเกลื่อนการกักขังผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของพม่าว่าเป็น “การปรับคณะรัฐมนตรี”

ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นักการทูตระดับสูงจากออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ได้หารือกันเกี่ยวกับ “ความจำเป็นเร่งด่วนในการกอบกู้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในพม่าและความสำคัญของการเสริมสร้างความพร้อมรับมือของประชาธิปไตยในภูมิภาคที่กว้างขึ้น” นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว ตามรายงานของเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

นายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ “เรียกร้องอย่างหนักแน่นให้กองทัพพม่ายุติการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อพลเรือน” ที่เข้าร่วมการประท้วงโดยทันที

สหรัฐฯ ระบุอย่างเป็นทางการว่า การทำรัฐประหารของกองทัพพม่าทำให้ความช่วยเหลือบางส่วนของสหรัฐฯ หยุดชะงักและเป็นสิ่งกระตุ้นให้มีการทบทวนโครงการช่วยเหลือพม่า ตามรายงานของซีบีเอสนิวส์ “เราได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพพม่า” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว “หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงและสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนแล้ว เราได้ประเมินว่านางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรครัฐบาลพม่า และนายวีน-มยิน หัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง ถูกปลดออกจากตำแหน่งจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์”

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของพม่ายังได้กดดันให้ทหารกองทัพปล่อยตัวนางซูจีและหยุดการใช้กำลังที่เป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ประท้วงอีกด้วย ข้อเรียกร้องจากสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นหลังจากที่ตำรวจพม่าเปิดฉากยิงสลายฝูงชนอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน รอยเตอร์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการประท้วงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์อย่างน้อย 21 คน (ภาพ: ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารเดินขบวนในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564)
นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวกับบีบีซีว่า เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ถือเป็นก้าวถอยหลังที่น่าสลดใจของพม่า ขณะที่นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้แสดงถึงความกังวลเช่นเดียวกับประเทศอื่น เมื่อเกิดการรัฐประหาร สำนักข่าวซินหัวของจีนเรียกการยึดอำนาจดังกล่าวว่าเป็น “การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่” ในวันถัดมา จีนได้เข้าร่วมกับรัสเซียในการปิดกั้นความพยายามของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประณามการทำรัฐประหารดังกล่าว

แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศของจีนจะปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ว่าจีนมอบความยินยอมโดยนัยต่อการทำรัฐประหาร แต่ก็ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจีนที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่า รายงานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยนางซูซาน ฮัทชินสัน นักวิเคราะห์แห่งสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียเปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินที่ไม่ได้ลงทะเบียนเดินทางระหว่างนครย่างกุ้งของพม่ากับคุนหมิงของจีนทุกคืนเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลจีนอ้างว่าเครื่องบินลำดังกล่าวใช้เพื่อลำเลียงอาหารทะเล แต่ลักษณะที่เป็นการลักลอบของเที่ยวบินดังกล่าวทำให้ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

นางฮัทชินสันระบุว่า “ผู้ใดก็ตามที่จัดการเที่ยวบินเหล่านี้จะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะปกปิดไว้” มีการปิดเครื่องส่งสัญญาณของเครื่องบิน และสนามบินในคุนหมิงไม่ได้ลงทะเบียนเที่ยวบินดังกล่าวทางออนไลน์ การส่งเสริมทฤษฎีที่ดูไม่มีความเป็นไปได้ที่ว่าโควิด-19 เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งซึ่งทางเจ้าหน้าที่จีนเน้นย้ำนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเที่ยวบินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการเก็บรวบรวมรายละเอียดจากภาพดาวเทียม พนักงานสนามบินในนครย่างกุ้ง และสมาชิกขบวนการอารยะขัดขืนของพม่า นางฮัทชินสันระบุว่า มีสองเหตุผลที่เป็นไปได้สำหรับเที่ยวบินดังกล่าว “เหตุผลแรกคือเที่ยวบินเหล่านี้ได้ส่งกองกำลังของจีนและผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เข้ามาช่วยเหลือตะมะดอ หรือกองทัพพม่า ในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ต และอีกเหตุผลหนึ่งคือเที่ยวบินเหล่านี้ใช้เพื่อเพิ่มจำนวนอาวุธในกองทัพพม่า”

จีนขึ้นชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศของตนเพื่อขจัดความขัดแย้ง อีกทั้งยังได้รับผลประโยชน์ทางการเงินในการค้าอาวุธอย่างเร่งด่วนกับพม่า นอกจากนี้ คุนหมิงยังเป็นที่ตั้งของหน่วยปืนใหญ่ หน่วยข่าวกรองด้านสัญญาณและทางไซเบอร์ต่าง ๆ ของจีนอีกด้วย

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button