เรื่องเด่น

เรื่องราวที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน

ความกลัวการถูกปฏิเสธกระตุ้นให้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดสร้างภาพของจีนในแง่ดี

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

รายการภาพยนตร์ทำเงินยอดนิยมจะไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ทำลายสถิติในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า เป็นครั้งแรกที่จีนจะก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มียอดขายตั๋วภาพยนตร์สูงสุด ตามรายงานของนิตยสารเดอะฮอลลีวูดรีพอร์ทเตอร์ ภายในสิ้น พ.ศ. 2563 คาดว่ายอดขายด้านภาพยนตร์ของจีนจะขึ้นนำที่ 1.228 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.69 แสนล้านบาท) เทียบกับยอดขายในสหรัฐฯ ที่ 1.193 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.58 แสนล้านบาท) 

การคาดคะเนชี้ให้เห็นว่า จีนน่าจะได้ครองตำแหน่งทางด้านนี้ในอนาคตอันใกล้ “นั่นหมายความว่า สิ่งสำคัญสำหรับบริษัทภาพยนตร์ในฮอลลีวูดคือ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการภาพยนตร์ที่ตนลงทุนจะสามารถผ่านมาตรฐานการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดของประเทศแห่งนี้ได้” Axios.com ระบุ 

จีนใช้การเซ็นเซอร์ควบคุมสื่อที่จะอนุญาตให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในแผ่นดินใหญ่และในแพลตฟอร์มสื่อสังคม อนไลน์อย่างรัดกุมเสมอ อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หมายความว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจควบคุมเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนมากขึ้น

พรรคคอมมิวนิสต์จีนอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ต่างประเทศเพียง 34 เรื่องต่อปีในโรงภาพยนตร์ของจีน และภาพยนตร์แต่ละเรื่องต้องได้รับความเห็นชอบจากกองเซ็นเซอร์ นั่นคือหน่วยงานกำกับดูแลสำนักข่าว สิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโพชไทมส์ บริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศมีรายได้จากกำไรของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในจีนเพียงร้อยละ 25 แต่หากภาพยนตร์เรื่องใดร่วมผลิตกับบริษัทสัญชาติจีน บริษัทภาพยนตร์ดังกล่าวจะทำกำไรได้เกือบถึงร้อยละ 50 ดิอีโพชไทมส์รายงาน 

ทว่าการสร้างกำไรที่มากขึ้นย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา บริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ร่วมผลิตมักจะต้องถ่ายทำฉากต่าง ๆ ในจีน คัดเลือกนักแสดงชาวจีน ยอมให้มีนักลงทุนชาวจีน และถ่ายทอดภาพรัฐบาลจีนในเชิงบวก ตามรายงานของดิอีโพชไทมส์ 

การควบคุมการเซ็นเซอร์เหล่านี้ยังครอบคลุมไปถึงวิดีโอเกมด้วย เช่น เกมดีโวชั่น ซึ่งเปิดให้บริการเพียงหนึ่งสัปดาห์ในช่วงต้น พ.ศ. 2562 ในเครือข่ายเกมสตรีม ก่อนที่จีนจะใช้อำนาจจัดการ 

บริษัทอินดีอีเวนท์ ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีนที่เผยแพร่เกมดีโวชั่น นำเกมดังกล่าวออกจากสตรีมหลังจากผู้เล่นชาวจีนค้นพบและร้องเรียนเกี่ยวกับภาพที่อ้างถึงนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรค และวินนี่เดอะพูห์ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับตัวละครดิสนีย์ที่เป็นข้อถกเถียง

ทั้งนี้ ทางการจีนจะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทอินดีอีเวนท์ในภายหลัง ตามข้อมูลจาก Engadget.com หลังจากนั้น ผู้สร้างเกมดีโวชั่น ซึ่งเป็นผู้พัฒนาของบริษัทเรดแคนเดิลจากไต้หวัน จึงได้ออกจดหมายขอโทษ นอกจากนี้ บริษัทเรดแคนเดิลยังถูกระงับบัญชีในเว่ยป๋อซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน   

“นี่คือการดำเนินการเซ็นเซอร์ของจีน” อ้างอิงจากบทความประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ใน Engadget.com “หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในตลาดวิดีโอเกมของจีนนานสองปี เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่จำกัดเสรีภาพในการสร้างสรรค์และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเทนเซ็นต์ที่ได้รับความสนใจทั่วโลก จีนในปัจจุบันจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีของอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งหมด”

เมื่อพูดถึงวงการภาพยนตร์ ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องในสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่โดยกองเซ็นเซอร์ของจีน อย่างไรก็ตาม การประทับตราอนุมัติดังกล่าวมักหมายความว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องลดทอนฉากที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการมีเพศสัมพันธ์ และบ่อยครั้งที่หมายถึงการสร้างเรื่องราวที่สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หน้าถัดไปคือตัวอย่างของวิธีการที่ฮอลลีวูดปรับโครงเรื่องเพื่อให้ได้รับการอนุมัติจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือถูกปฏิเสธเนื่องจากผู้บริหารสตูดิโอปฏิเสธที่จะให้ความใส่ใจในการเซ็นเซอร์ตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ


ภาพยนตร์: ท็อปกัน (2563)

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: ภาพยนตร์ท็อปกันสุดคลาสสิก พ.ศ. 2529 มีตัวละครหลักคือ มาเวอริค ที่แสดงโดยนายทอม ครูซ นักแสดง สวมบทนักเรียนที่โดดเด่นในโรงเรียนฝึกอาวุธต่อสู้ชั้นสูงของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในภาพยนตร์ต้นฉบับ มาเวอริคสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนังที่มีแผ่นปะขนาดใหญ่ซึ่งมีข้อความว่า “เรือตะวันออกไกล 63-4 ยูเอสเอส กัลเวสตัน” โดยแผ่นปะนี้เป็นการรำลึกถึงการเดินทางของเรือประจัญบานสหรัฐฯ ลำดังกล่าวในญี่ปุ่น ไต้หวัน และแปซิฟิกตะวันตก ดังนั้นจึงมีธงของสหรัฐฯ สหประชาชาติ ญี่ปุ่น และไต้หวันรวมอยู่ด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาปัดฝุ่นใหม่ใน พ.ศ. 2563 พร้อม “สร้างภาพใหม่” ให้เสื้อแจ็คเก็ตของมาเวอริค โดยนำธงญี่ปุ่นและไต้หวันออก แล้วใส่รูปที่คล้ายกันซึ่งไม่สามารถระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งใดเข้ามาแทน ตามรายงานจากบิสเนส อินไซเดอร์

เทนเซ็นต์ พิคเจอร์ส ฝ่ายภาพยนตร์ของบริษัทเทนเซ็นต์ซึ่งเป็นในเครืออินเทอร์เน็ตของจีน ได้ร่วมทุนสนับสนุนการถ่ายทำครั้งนี้ ตามรายงานของเดอะฮอลลีวูดรีพอร์ทเตอร์ นอกจากนี้ บริษัทเทนเซ็นต์ยังเป็นเจ้าของร่วมของบริษัทสกายแดนซ์ ซึ่งร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้กับบริษัทพาราเมาต์

เหตุใดจึงสำคัญ: จีนได้ต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจีนใช้การทูตสมุดเช็คเพื่อซื้ออิทธิพล ผู้นำญี่ปุ่นไม่ได้เดินทางเยือนจีนมานานถึงแปดปี จนกระทั่งนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางไปจีนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 การใช้อิทธิพลทางการเงินเพื่อลบการกล่าวถึงญี่ปุ่นในภาพยนตร์ที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมชาวจีนจึงเป็นเรื่องเหมาะสม เนื่องจากจีนมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางอำนาจ ความตึงเครียดระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับไต้หวันยิ่งชัดเจนมากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน และปฏิเสธการอ้างสิทธิ์หรือการรับรองใด ๆ ที่แสดงว่าไต้หวันเป็นประเทศเอกราช


ภาพยนตร์: เอเวอเรสต์ มนุษย์หิมะเพื่อนรัก (2562)

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: เพิร์ลสตูดิโอ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีนใช้เวลาหนึ่งปีร่วมงานกับดรีมเวิกส์แอนิเมชัน เพื่อสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง
เอเวอเรสต์ มนุษย์หิมะเพื่อนรัก อีกเวอร์ชันหนึ่งที่กองเซ็นเซอร์ของจีนจะอนุมัติให้ออกฉาย เพิร์ลสตูดิโอทำงานเพื่อเปลี่ยนมุกตลกและภูมิหลังของตัวละคร ตามข้อมูลของบิสเนส อินไซเดอร์ 

บางทีการแสดงอิทธิพลของจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอาจอยู่ในฉากที่แสดงแผนที่ของเอเชียตะวันออก โดยมีเส้นประเก้าเส้นของจีน (ในภาพ) ในทะเลจีนใต้ เอเวอเรสต์ มนุษย์หิมะเพื่อนรัก เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างร่วมกันระหว่างบริษัทดรีมเวิกส์ของสหรัฐฯ และเพิร์ลสตูดิโอของจีน ตามรายงานจาก บิสเนส อินไซเดอร์ ทั้งนี้ ไม่มีการกล่าวถึงเส้นประเก้าเส้นในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์และไม่มีการระบุเหตุผลที่ใส่เข้ามา  

เหตุใดจึงสำคัญ: ทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ จีนได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นในบริเวณพื้นที่พิพาทแห่งนี้ เพื่อพยายามหักล้างการอ้างสิทธิ์ในทรัพยากรของประเทศคู่กรณีอื่น ๆ มาเลเซียปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย เว้นแต่จะลบแผนที่ออก ทางการเวียดนามปฏิเสธภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน ส่วนในฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตร จีนยังคงอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้แข่งกับหลายประเทศในภูมิภาค ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ตัดสินให้การอ้างสิทธิ์ด้วยเส้นประเก้าเส้นของจีนในทะเลจีนใต้ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ เป็นโมฆะ แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าวซึ่งขาดกลไกการบังคับใช้


ภาพยนตร์: จอมเวทย์มหากาฬ (2559)

มาร์เวลสตูดิโอ/อินสตาแกรรม

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: โครงเรื่องจากหนังสือการ์ตูนต้นฉบับของเรื่องจอมเวทย์มหากาฬ มีตัวละครที่ชื่อว่า แอน
เชียนวัน ชาวนาผู้รักสงบที่เกิดในคามาร์ทัช หมู่บ้านในดินแดนที่ซ่อนอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อทิเบต การดัดแปลงภาพยนตร์ของมาร์เวลสตูดิโอได้เลือกนางทิลดา สวินตัน นักแสดงหญิงชาวอังกฤษ (ภาพในโปสเตอร์ของภาพยนตร์) มารับบทบาทดังกล่าว จึงช่วยให้โครงเรื่องไม่ต้องสื่อถึงทิเบต

เหตุใดจึงสำคัญ: พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพจีนเข้ายึดครองทิเบตใน พ.ศ. 2494 และมีผู้ที่ไม่ใช่ชาวจีนจำนวนมากเชื่อว่าทิเบตควรได้รับเอกราชหรือการปกครองตนเองได้มากขึ้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
“แอนเชียนวันมีต้นกำเนิดมาจากทิเบต ดังนั้น หากคุณยอมรับว่าทิเบตเป็นสถานที่แห่งหนึ่งและเขาเป็นชาวทิเบต ก็เสี่ยงที่รัฐบาลจีนจะพูดว่า ‘นี่ คุณรู้จักประเทศที่ดูหนังมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกหรือเปล่า เราจะไม่ฉายภาพยนตร์ของคุณ เพราะคุณเลือกที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง'” นายซี. โรเบิร์ต คาร์กิล ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องจอมเวทย์มหากาฬ อธิบายไว้ในพอดคาสต์เดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ใน DoubleToasted.com เกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนชาติพันธุ์ของแอนเชียนวัน


ภาพยนตร์: ไอรอนแมน 3 (2556)

นายสแตน ลี ผู้สร้าง เข้าร่วมการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดรอบปฐมทัศน์เรื่องไอรอนแมน 3

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: ผู้ชมไอรอนแมน 3 ในจีนได้ดูฉากพิเศษที่ไม่ได้ฉายนอกประเทศ รายงานของบิสเนส อินไซเดอร์ ระบุว่า ความจริงแล้วมีการเพิ่มการแสดงผลิตภัณฑ์อีกสี่นาทีในภาพยนตร์มาร์เวลเรื่องนี้ ซึ่งมาร์เวลสตูดิโอร่วมสร้างกับดีเอ็มจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสัญชาติจีน หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ในฉบับภาษาจีน ยังมีการเพิ่มการเปิดตัวภาพยนตร์ด้วยคำถามว่า “ไอรอนแมนใช้อะไรฟื้นฟูพลังงานของเขา” คำตอบปรากฏขึ้นพร้อมกับคำว่า กู่ลี่ ดูโอ ซึ่งเป็นยี่ห้อเครื่องดื่มนมในประเทศจีน ใน พ.ศ. 2555 ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายนี้ได้ยกเลิกการขายเครื่องดื่มสูตรสำหรับทารกเนื่องจากมีสารปรอทเจือปน ต่อมารัฐบาลจีนได้เริ่มรณรงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองว่า นมของบริษัทดังกล่าวมีความปลอดภัยจริง ๆ ตามรายงานของบิสซิเนส อินไซเดอร์ สิ่งพิเศษอื่น ๆ ในเวอร์ชันภาษาจีน ได้แก่ เด็กนักเรียนชาวจีนที่เชียร์ไอรอนแมน การจัดวางผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนในฉาก และการใช้ยาจีนเพื่อช่วยเหลือไอรอนแมน ตามข้อมูลของบิสซิเนส อินไซเดอร์

เหตุใดจึงสำคัญ: การจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ของจีนให้ผลกำไรมหาศาล ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวบันเทิง Vulture.com ระบุว่า ในเวลาที่ไอรอนแมน 3 มีกำหนดเปิดตัว จีนก็แซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะตลาดจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งนั่นทำให้จีนมีสิทธิ์มีเสียงทางเศรษฐกิจมากขึ้นในเรื่องภาพยนตร์ฮอลลีวูด อีกทั้งยังอาจเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ร่วมมือกับบริษัทของจีน และน้อมรับความต้องการของจีนในการแต่งเรื่องราวให้เข้าข้างจีนมากยิ่งขึ้น


ภาพยนตร์: พิกเซล (2558)

นายคริส โคลัมบัส ผู้กำกับภาพยนตร์ เข้าร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์พิกเซล ที่นครนิวยอร์ก รอยเตอร์

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: บทภาพยนตร์แอนิเมชันแนวตลก พ.ศ. 2556 ของโซนี่เรื่องพิกเซล มีฉากที่มนุษย์ต่างดาวระเบิดโพรงเข้าไปในกำแพงเมืองจีน

“แม้ว่าการเจาะช่องบนกำแพงเมืองจีนอาจไม่เป็นปัญหา ตราบใดที่มันเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทั่วโลก แต่จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นเพราะจะไม่ส่งผลดีต่อการนำเข้าฉายในจีน ฉะนั้น ฉันจึงไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น” นางหลี่ เฉา ตัวแทนหลักของบริษัทโซนี่พิคเจอร์สในจีน เขียนในอีเมลประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ถึงผู้บริหารระดับสูงของโซนี่ ตามรายงานของรอยเตอร์ ผู้บริหารของโซนี่กังวลกับการนำภาพยนตร์ออกฉายในจีน รอยเตอร์รายงาน การระเบิดหลุมที่กำแพงเมืองจีนจึงเปลี่ยนเป็นให้มนุษย์ต่างดาวโจมตีทัชมาฮาลของอินเดีย อนุสาวรีย์วอชิงตัน และบางส่วนของนครนิวยอร์กแทน

เหตุใดจึงสำคัญ: อีเมลของนางหลี่เป็นหนึ่งในอีเมลและเอกสารลับของโซนี่หลายหมื่นฉบับที่ถูกเจาะข้อมูลและเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อปลาย พ.ศ. 2557 รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐของจีนและผู้บริหารในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้ เอกสารดังกล่าวเปิดเผยถึงการสนทนาจำนวนมากเกี่ยวกับแนวทางที่โซนี่สามารถเปลี่ยนแปลงการผลิตเป็นแบบอื่น เพื่อให้ภาพยนตร์เป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่จีนมากขึ้นและผ่านการอนุมัติจากกองเซ็นเซอร์ 

“อีเมลของโซนี่ทำให้เราเห็นภาพเบื้องหลังว่า สตูดิโอภาพยนตร์ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกมีการเซ็นเซอร์ตนเองมากเพียงใด จากการที่ผู้บริหารพยายามจะคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลจีนจะมีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไรต่อการผลิตของบริษัท” รอยเตอร์ระบุ “การแลกเปลี่ยนข้อความภายในยังแสดงให้เห็นอีกว่า ฮอลลีวูดต้องพึ่งพาผู้ชมในจีนอย่างมาก”

การตัดฉากกำแพงเมืองจีนออกจากภาพยนตร์เรื่องพิกเซล แสดงให้เห็นว่าผู้ชมทั่วโลกต้องรับมาตรฐานที่กำหนดโดยจีน “ซึ่งมีรัฐบาลที่ไม่ยอมรับเสรีภาพอันเป็นลักษณะที่ทำให้ฮอลลีวูดรุ่งเรือง” รอยเตอร์รายงาน


ภาพยนตร์: มหาวิบัติสงคราม Z (2556)

นายแม็กซ์ บรูคส์ นักเขียน ถือหนังสือของตนขณะเดินทางมาถึงงานฉายภาพยนตร์เรื่องมหาวิบัติสงคราม Z รอบปฐมทัศน์ที่นครนิวยอร์ก

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: นายแม็กซ์ บรูคส์ ผู้เขียน ตั้งใจเลือกจีนให้เป็นจุดเกิดเหตุในนวนิยายของตนเรื่องมหาวิบัติสงคราม Z ใน พ.ศ. 2549 

“ในนิยายซอมบี้ครองโลกของผม จะมีผู้ป่วยด้วยโรคชนิดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักปรากฏตัวขึ้นในที่แห่งหนึ่งของประเทศจีน รัฐบาลรับมือด้วยการปิดข่าวการติดเชื้อโดยข่มขู่แพทย์หลายคนที่พยายามจะออกมาเตือน การปกปิดเช่นนั้นทำให้ไวรัสแพร่ไปทั่วประเทศ จากนั้นก็ข้ามพรมแดนไปยังประเทศอื่น ๆ
ทั่วโลก” นายบรูคส์กล่าวในบทความแสดงความคิดเห็นที่มีชื่อว่า “จีนกีดกันนิยายแนวดิสโทเปียของผมเกี่ยวกับวิธีการที่ระบบของจีนทำให้เกิดการระบาด” ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 “ฟังดูคุ้น ๆ ไหม”

นายบรูคส์กล่าวต่อไปว่าตนเลือกจีนด้วยเหตุผลบางประการ “ตอนที่ผมคิดเรื่องราวต้นกำเนิดเกี่ยวกับการระบาดในนิยาย การเลือกประเทศที่มีประชากรมหาศาลหรือมีการปรับปรุงเครือข่ายการขนส่งให้ทันสมัยอย่างรวดเร็วนั้นไม่เพียงพอ ผมต้องการประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการซึ่งควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด การปิดหูปิดตาสาธารณชนจะทำให้โรคระบาดของผมมีเวลาแพร่กระจาย โดยเริ่มจากประชากรในประเทศก่อน จากนั้นจึงลามไปยังประเทศอื่น ๆ กว่าทั้งโลกจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็สายเกินแก้ หายนะร้ายแรงเกินหยุดยั้งจะบังเกิด และมนุษย์จะต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด”

อาจมองได้ว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องจริงราวกับนิยายเรื่องนี้อย่างน่าประหลาด 

จีนได้สั่งห้ามตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว และกลุ่มคนที่นายบรูคส์เอ่ยถึงโดยระบุเพียงว่าเป็น “ผู้ร่วมงานในต่างประเทศ” ขอให้เขาลบทุกบทที่เกี่ยวข้องกับจีนออก เพราะอาจมีเนื้อหาที่อ่อนไหวทางการเมือง แต่เขาปฏิเสธ 

นายแบรด พิตต์ รับบทเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่ฉายเมื่อ พ.ศ. 2556 ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องนี้ ผู้บริหารของพาราเมาท์ได้เลือกที่จะไม่ชี้ว่าจีนเป็นต้นกำเนิดของการระบาดที่ก่อให้เกิดเหตุซอมบี้คลั่งครองโลก ซึ่งต่างจากที่นายบรูคส์เลือก

เหตุใดจึงสำคัญ: นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า แค่การพูดว่าจีนเป็นต้นกำเนิดของการระบาดในภาพยนตร์ดังกล่าวก็อาจทำให้ปมของเรื่องได้คะแนนติดลบแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งรายละเอียดแง่ลบที่เล็กที่สุดยังทำให้กองเซ็นเซอร์ของจีนสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้ นักวิจารณ์อีกส่วนยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะคงอยู่ไปอีกนานจากการมีส่วนร่วมในโครงการที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากจีน เช่น การที่นายพิตต์แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง 7 ปี โลกไม่มีวันลืม ที่ฉายเมื่อ พ.ศ. 2540 และจีนสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ดังกล่าว บ้างก็ว่านายพิตต์ถูกสั่งห้ามเดินทางไปจีนเนื่องจากร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้


ภาพยนตร์: หน่วยรบพันธุ์สายฟ้า (2555)

วิกิพีเดีย

การเปลี่ยนโครงเรื่อง: บทต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง หน่วยรบพันธุ์สายฟ้า ใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ปัดฝุ่นจากเวอร์ชันเดิมใน พ.ศ. 2527 เดินเรื่องให้กองทัพจีนรุกรานสหรัฐอเมริกา ทันทีที่เกิดกระแสต่อต้านจากสื่อที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่เอ็มจีเอ็มจึงเปลี่ยนให้กองทัพเกาหลีเหนือ
เป็นตัวร้ายแทน 

โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยรัฐของจีน ตีพิมพ์บทบรรณาธิการสองฉบับที่กล่าวหาฮอลลีวูดว่า “ยัดเยียดบทปีศาจ” และ “ปลูกฝังเมล็ดพันธ์ุแห่งความเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน” ตามรายงานของ DailyMail.com ภาพยนตร์ใน พ.ศ. 2527 มีเนื้อเรื่องหลักอยู่ที่การรุกรานของกองทัพโซเวียต 

เอ็มจีเอ็มรายงานว่า ได้ทุ่มงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท) เพื่อปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ของจีนและแทนที่ด้วยตราสัญลักษณ์ของเกาหลีเหนือด้วยระบบดิจิทัลชนิดเฟรมต่อเฟรม 

“แม้ประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้จะขึ้นชื่อว่ามีความสามารถทางด้านนิวเคลียร์ แต่เห็นได้ชัดว่าคนใหญ่คนโตของฮอลลีวูดคิดว่า ให้คนเถื่อนในตะวันออกไกลเป็นฝ่ายโกรธแค้น ดีกว่าจะสร้างความขุ่นเคืองให้ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้” DailyMail.com รายงานในขณะที่ภาพยนตร์ออกฉาย

เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภาพยนตร์เรื่องหน่วยรบพันธุ์สายฟ้าจึงถูกดองไว้ถึงสองปีหลังจากสร้างเสร็จ และต่อมาบริษัทก็ประกาศล้มละลายก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเส้นเรื่องหลักในท้ายที่สุด   

“แม้ว่าการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของจีนเป็นเกาหลีเหนือจะทำได้ง่ายเพียงเคาะแป้นพิมพ์ไม่กี่ครั้ง แต่มีต้นทุนสูงมาก” DailyMail.com ระบุ “และตัวร้ายตัวใหม่ที่เลือกมาก็ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญ นั่นคือ ประเทศที่มีประชาชนอดอยาก 24 ล้านคนจะข้ามมหาสมุทรมาเพื่อรุกรานประเทศที่มีชาวอเมริกัน 313 ล้านคนซึ่งกินดีอยู่ดีมีอาวุธครบมือไปทำไมและทำได้อย่างไร”

นายซี. โทมัส โฮเวลล์ นักแสดงชายซึ่งแสดงนำในภาพยนตร์ฉบับ พ.ศ. 2527 เหน็บแนมการเปลี่ยนบทภาพยนตร์ฉบับปัดฝุ่นในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ 

“ว่ากันตรง ๆ นะครับ เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเกาหลีเหนือมารุกรานเราไม่ได้” นายโฮเวลล์กล่าว “เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมว่าแบบ นี้งี่เง่าสุด ๆ เลย”

เหตุใดจึงสำคัญ: ความร่วมมือระหว่างประเทศอาจมาพร้อมข้อผูกมัดและสัมปทานบางอย่าง ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่ผู้ผลิตภาพยนตร์นักรบพันธุ์สายฟ้าได้เรียนรู้เมื่อมีการเปิดเผยกระบวนการสร้างภาพยนตร์ “ตอนที่เราสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ สถานการณ์ต่างกันมาก” คนวงในของเอ็มจีเอ็มซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับเว็บไซต์ข่าวบันเทิง Vulture.com “เรามีกองทุนป้องกันความเสี่ยงเป็นเจ้าของทุน และเราทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ”

ทว่าสตูดิโอแห่งนี้ล้มละลายก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าฉาย เมื่อโซนี่พิคเจอร์สเข้ามารับช่วงต่อด้านการจัดจำหน่าย ความสัมพันธ์ของบริษัทแห่งนี้กับจีนจึงเข้ามามีบทบาท Vulture.com รายงาน “ความจริงก็คือ” คนวงในของเอ็มจีเอ็มอีกรายซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับ Vulture “ไม่มีบริษัทข้ามชาติแห่งใดจะกล้าทำให้จีนโกรธ”  

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button