ติดอันดับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ระบุว่า สหรัฐฯ คือ “กองกำลังรักษาเสถียรภาพ” ในทะเลจีนใต้

เบนาร์นิวส์

เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวว่า สหรัฐฯ คือ “กองกำลังรักษาเสถียรภาพ” ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้และภูมิภาคอินโดแปซิฟิก พร้อมเสริมว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์มีความคิดในแง่ดีเกี่ยวกับ “ยุคใหม่” แห่งความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ

รัฐบาลฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะดำเนินการตามนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระต่อไป แต่ยังคาดว่าจะยืดความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีมานานหลายสิบปีกับสหรัฐฯ ผ่านการเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว

“ในด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับจีนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพื่อความร่วมมือของเราที่มีอยู่ในด้านต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ที่มีการแข่งกันในทะเลจีนใต้อย่างสันติด้วย” นายลอเรนซานากล่าวในเวทีการประชุมที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของฟิลิปปินส์ “ส่วนอีกด้านหนึ่ง เราตระหนักถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะกองกำลังรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และผู้ถ่วงดุลอำนาจกับจีน” (ภาพ: เรือต่อต้านทุ่นระเบิดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยูเอสเอส ชีฟ (ด้านหน้า) และเรือของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ บีอาร์พี เรมอน อัลคาเรซ แล่นผ่านทะเลจีนใต้หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมความร่วมมือทางทะเลกิจกรรมหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562)

จีนได้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ส่วนใหญ่โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า เส้นประเก้าเส้น ซึ่งเป็นการแบ่งเขตโดยพลการและไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างเนื่องจากผิดกฎหมาย

ประเทศในอินโดแปซิฟิกอีกหกประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม ต่างอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตหรือเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ แม้ว่าอินโดนีเซียไม่นับตนเองเป็นฝ่ายหนึ่งที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่รัฐบาลจีนก็อ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ต่อทางน้ำส่วนหนึ่งที่ทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย

นายลอเรนซานากล่าวว่า ตนหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางทหารที่แข็งแกร่งขึ้นกับสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

“ใน พ.ศ. 2564 เป็นสัญญาณเริ่มต้นยุคใหม่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่ต้องการทวงคืนสถานะของอเมริกาในฐานะผู้นำโลกอีกครั้ง” นายลอเรนซานากล่าว “การเป็นหนึ่งในพันธมิตรของอเมริกาในภูมิภาคอินโด-เอเชียแปซิฟิกอาจทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ ‘ปักหมุดเอเชีย’ ที่รัฐบาลของนายไบเดนคาดการณ์ไว้”

เมื่อเข้ารับตำแหน่งใน พ.ศ. 2559 นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศที่ผละจากการเป็นพันธมิตรดั้งเดิมกับสหรัฐฯ ไปสู่จีน นายดูแตร์เตยังคงเลือกข้างรัฐบาลจีน แม้กระทั่งหลังจากที่ศาลระหว่างประเทศตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์เกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ในปีนั้นก็ตาม

ในปลาย พ.ศ. 2563 นายดูแตร์เตได้เปลี่ยนทิศทางในเวทีการประชุมนานาชาติครั้งหนึ่ง โดยเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามข้อผูกพันทางกฎหมายที่มีต่อฟิลิปปินส์เกี่ยวกับน่านน้ำดังกล่าว

นายลอเรนซานากล่าวว่า ตนคาดการณ์ว่าการแต่งตั้งนายซ็อง คิม ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แผนกกิจการในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มี “ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น” เกี่ยวกับฟิลิปปินส์ โดยก่อนหน้านี้ นายคิมดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมะนิลา นายคิมตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ มีรากฐานมาจากพันธสัญญาประชาธิปไตยร่วมกัน

คำพูดของนายคิมเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากรัฐบาลจีนอนุมัติกฎหมายที่อนุญาตให้กองกำลังรักษาชายฝั่งใช้กำลังและอาวุธกับเรือในน่านน้ำที่รัฐบาลจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของตน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การประท้วงทางการทูตโดยกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์

หนึ่งวันหลังจากจีนอนุมัติกฎหมายดังกล่าว กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของสหรัฐฯ ได้เคลื่อนพลไปยังทะเลจีนใต้

ในระหว่างการประชุมของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผู้แทนฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รับคำมั่นสัญญาจากนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ โดยนายโฮเซ มานูเอล โรมูอัลเดซ เอกอัครราชทูต กล่าวว่านายบลินเคนระบุว่า “สหรัฐฯ จะยืนหยัดร่วมกับประเทศผู้อ้างสิทธิ์ และย้ำจุดยืนของรัฐบาลก่อนหน้านี้ตราบใดที่การอ้างสิทธิ์ทางทะเลของจีนยังเป็นที่กังวล”

นายบลิงเคนและนายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ยังยืนยันความมุ่งมั่นของตนต่อพันธมิตรอีกครั้งในระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ในวันแรกที่กับนายบลิงเคนดำรงตำแหน่งเป็นนักการทูตระดับสูงของอเมริกา

นอกจากนี้ นายบลิงเคนยังเน้นย้ำว่า สนธิสัญญาการป้องกันร่วมของทั้งสองประเทศ “จะมีผลบังคับใช้กับการโจมตีด้วยอาวุธต่อฟิลิปปินส์” ด้วย นายโรมูอัลเดซกล่าว “เรายินดีกับความต่อเนื่องของนโยบายที่เข้มแข็งขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้นี้”

นายบลิงเคนและนายล็อกซินเห็นพ้องกันว่า “ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ที่เข้มแข็งมีความสำคัญสำหรับแนวคิดภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” และนายบลินเคนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของสนธิสัญญาการป้องกันดังกล่าว “เพื่อความมั่นคงของทั้งสองชาติและการปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการใช้อาวุธโจมตีกองทัพฟิลิปปินส์ เรือสาธารณะ หรืออากาศยานในแปซิฟิกซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้”

ในแถลงการณ์ นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า นายบลิงเคนกล่าวย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลจีนได้อ้างสิทธิ์ในขอบเขตทางทะเลมากเกินกว่าที่จีนได้รับอนุญาตตามที่ปรากฏในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525

“นายบลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดร่วมกับประเทศผู้อ้างสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันของจีน” นายไพรซ์กล่าว “รัฐมนตรีทั้งสองมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นบนผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์ ค่านิยมประชาธิปไตย และความผูกพันเหนี่ยวแน่นระหว่างประชาชน”

 

ภาพจาก: จ่าเอก จอร์แดน ครูช/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button