ติดอันดับ

ประชาธิปไตยและความมั่นคงในภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยง ภายหลังการรัฐประหารในพม่า

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

อนาคตของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่ายังคงเป็นปัญหาเช่นเดียวกับความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่กองทัพพม่ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การรัฐประหารโดยกองทัพได้กระตุ้นให้ประชาชนชาวพม่าหลายหมื่นคนออกมาประท้วงเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งการประท้วงยังคงดำเนินต่อไปแม้ตำรวจจะยิงกระสุนขึ้นฟ้าเพื่อสลายการชุมนุม รวมถึงยิงกระสุนยางและฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนทำให้มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ ตามรายงานของสำนักข่าวต่าง ๆ องค์การสหประชาชาติได้ประณามการใช้กำลัง “ในระดับที่ไม่เหมาะสม” ในทันที และสหรัฐอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (ภาพ: ผู้ประท้วงชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ตำรวจยืนรักษาการอยู่ใกล้ยานพาหนะของตนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า)

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถกำหนดมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อผู้นำกองทัพพม่า เพื่อกดดันให้เกิดการ “กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยทันที” ตามรายงานของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล

นายไบเดนกล่าวว่า “กองทัพพม่าจะต้องสละอำนาจที่ตนยึดมาและแสดงความเคารพต่อเจตจำนงของประชาชนพม่าตามที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน” และปล่อยตัวนักกิจกรรมและผู้นำรัฐบาลพลเรือน รวมถึงนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยในวันดังกล่าวพร้อมกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย บีบีซีรายงานว่า มีการเผยแพร่คำเตือนหนึ่งวันก่อนที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจจะดำเนินการต่อผู้ประท้วงว่า จะมีการดำเนินการต่อ “ความผิดฐานก่อกวน ขัดขวาง และทำลายเสถียรภาพของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ และหลักนิติธรรม”

นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สำหรับคณะรัฐบาลทหารที่ได้เหยียบย่ำระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมแล้ว ก็เป็นเรื่องไร้สาระที่มาอ้างว่าพวกตนมีสิทธิที่จะ ‘ดำเนินการตามกฎหมาย’ ต่อผู้ที่ประท้วงอย่างสันติ” ตามรายงานของบีบีซี

เพื่อให้ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ขึ้นสู่อำนาจ กองทัพพม่ายังได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินนานหนึ่งปี และเริ่มใช้ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การปิดกั้นเฟซบุ๊ก เข้าควบคุมสื่อของรัฐ ปิดอินเทอร์เน็ตชั่วคราว จำกัดการชุมนุมในที่สาธารณะ และบังคับใช้เคอร์ฟิว ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น

หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ต่างออกมาเรียกร้องให้กองทัพยกเลิกการกระทำของตน และแสดง “ความกังวลและหวั่นเกรง” ต่อการที่กองทัพพม่าควบคุมตัวผู้นำรัฐบาลพลเรือน

“สหรัฐอเมริกายืนหยัดเคียงข้างประชาชนพม่าในปณิธานของพวกเขาที่มีต่อประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ และการพัฒนา” นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในวันที่เกิดรัฐประหาร

นอกจากนี้ ผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซียยังได้แสดงความกังวลต่อพม่าและขอให้สมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เข้าประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาค รวมถึงชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีจากพม่าไปยังบังกลาเทศ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“อินโดนีเซียและมาเลเซียให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในพม่าอย่างจริงจัง” นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หลังจากประชุมกับนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ณ กรุงจาร์ตา ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “นี่เป็นการก้าวถอยหลังในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า เราเกรงว่าความไม่สงบทางการเมืองในพม่าจะก่อกวนความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้”

“ประเด็นเรื่องชาวโรฮีนจาก็ยังคงเป็นข้อกังวลของเรา” นายวิโดโดกล่าว ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “เพื่อให้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนเป็นจริง เราทุกคนจึงต้องเคารพกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ”

สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรใน พ.ศ. 2562 ต่อผู้นำระดับสูงของกองทัพพม่าหลายคนจากการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รอยเตอร์รายงานว่า ญี่ปุ่นได้ออกมาเตือนว่า ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการผลักพม่าให้ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น “หากเราหาทางออกได้ไม่ดี พม่าอาจหลุดออกจากการเป็นประเทศที่มีการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย และอาจเข้าร่วมกลุ่มกับประเทศจีนได้” นายยาสึฮิเดะ นากายามะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกล่าว

ในการปฏิบัติตาม “นโยบายการไม่แทรกแซง” ของตน จีนได้ตอบสนองอย่างเป็นทางการหลังจากการรัฐประหารเพียงหนึ่งวันว่า จีนและพม่า “เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เราหวังว่าทุกฝ่ายจะรับมือกับความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม” นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวของรัฐบาลจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

แม้ว่ากองทัพพม่าจะใช้ข้อกล่าวหาว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งในช่วงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร แต่นักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งชี้ให้เห็นถึงการประชุมสันถวไมตรีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกับ พล.อ. มิน

“มีบางอย่างเกี่ยวกับการประชุมครั้งนั้นที่ดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้นำทหารพม่าเชื่อว่าจีนจะยินดีก้าวขึ้นมาอยู่เคียงข้างเพื่อนบ้านของตน” นายอซีม อิบราฮิม ผู้อำนวยการที่ศูนย์เพื่อนโยบายสากล เขียนไว้ในนิตยสารฟอร์เรนพอลิซี

“จากนโยบายต่างประเทศซึ่งเป็นการเข้าข้างตนเองเช่นนี้ ดูเหมือนว่าอย่างน้อยจีนก็กำลังส่งสัญญาณบ่งบอกการสนับสนุนโดยนัย หากไม่ใช่การสนับสนุนอย่างเด่นชัดต่อการกระทำของกลุ่มนายพล” นายเอลเลียท พราสฟรีแมน จากมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์กล่าวกับบีบีซี “ดูเหมือนว่าจีนจะทำราวกับสิ่งที่เราสังเกตการณ์อยู่นี้คือ ‘การปรับคุณะรัฐมนตรี’ และเป็น ‘ปัญหาภายในของพม่า’ ที่ตามที่สื่อของรัฐจีนรายงาน”

แม้ว่าจีนจะไม่ได้ยอมรับหรือส่งเสริมการรัฐประหารอย่างชัดแจ้ง แต่กองทัพพม่าคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า พล.อ. มิน อาจขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนได้

“การคาดการณ์ในที่นี้คือ จีนไม่น่าจะพลาดโอกาสในการขยายอิทธิพลในเอเชียด้วยการทำลายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรเข้ามากำหนดบทลงโทษต่อพม่า เจ้าหน้าที่จีนจะยังคงเห็นประโยชน์ที่จะเข้ามาแทรกแซงในนามของผู้นำภูมิภาคดังกล่าว” นายอิบราฮิมเขียน

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ด้วยอำนาจยับยั้งของจีน จีนได้ขัดขวางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ให้ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจของกองทัพพม่า ซึ่งเป็นการรั้งให้นานาชาติมีการตอบสนองที่ชัดเจนล่าช้าลง

นักวิเคราะห์อธิบายว่า จีนไม่ต้องการให้นานาชาติตอบสนองต่อการรัฐประหารมากนัก เช่น การคว่ำบาตร

“ยิ่งมีการตอบสนองทางการเมืองหนักมากเท่าใด จีนก็ยิ่งต้องแบกรับความรับผิดชอบทางการเมืองแทนกองทัพพม่ามากขึ้นเท่านั้น” นางยุน ซุน ผู้อำนวยการร่วมโครงการเอเชียตะวันออกและผู้อำนวยการโครงการจีนที่ศูนย์สติมสันในวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวกับนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมท “จีนจะต้องแบกรับความรับผิดชอบนั้นไว้ แต่ฉันไม่คิดว่าจีนจะพอใจหรือยินดีที่จะทำเช่นนั้น”

“จีนจะต้องเสียชื่อเสียงในต่างประเทศหากให้การสนับสนุนใด ๆ แก่กองทัพพม่าที่รับรู้ได้ว่าเป็นของตน ซึ่งรวมถึงการปกป้องพม่าในองค์การสหประชาชาติ” นางแชนนอน ทีซซี บรรณาธิการที่เดอะดิโพลแมทเขียน

แต่ก็อาจจะคุ้มค่าต่อราคาทางการเมือง นักวิเคราะห์อีกคนกล่าว “จีนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการดึงพม่าเข้าสู่วงโคจรของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองต่อไป” ดร. จอห์น จี. เดล ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ประเทศอื่น ๆ ที่ลงทุนอย่างมากในพม่าอาจสนับสนุนมาตรการต่อต้านระบอบทหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นายเกร็กกอรี่ บี. โพลิง และนายไซมอน ทรานส์ ฮูดส์ จากสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ เขียนไว้ในรายงาน

“และจีน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจของพม่า จะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับการมีส่วนร่วมของตนใหม่เพื่อยอมรับข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะบรรเทาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่ง พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ได้คาดการณ์ไว้แล้วและเลือกที่จะเพิกเฉยอย่างไม่ต้องสงสัย” นายเกร็กกอรี่ บี. โพลิง และนายไซมอน ทรานส์ ฮูดส์ เขียน

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button