เรื่องเด่น

ตัดขาดและแบ่งแยก

การมีบทบาทที่เติบโตขึ้นของรัสเซียในอินโดแปซิฟิก และทำไมจีนถึงยอมรับได้

ดร. อเล็กซ“นเดอร์ โคโรเลฟ/มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซิดนีย์

แรกเริ่ม อินโดแปซิฟิกไม่มีประโยชน์ต่อรัสเซียในทางยุทธศาสตร์

เมื่อ เพราะภูมิศาสตร์ทำให้รัสเซียเป็นผู้เล่นนอกภูมิภาคที่ห่างไกล รัสเซียไม่ใช่มหาอำนาจทางทะเลที่พัฒนาขึ้นอย่างเต็มที่ และจุดมุ่งเน้นแต่เดิมของรัสเซียอยู่ที่ภูมิรัฐศาสตร์ภาคพื้นทวีปมาโดยตลอด รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างกฎในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่มีการนำแนวคิดของอินโดแปซิฟิกเข้ามาใช้และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคแห่งนี้เริ่มปรับเปลี่ยน รัสเซียก็ยังคงไม่กระตือรือร้นและไม่นำเสนอหลักเกณฑ์หรือวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับอินโดแปซิฟิก นอกจากรัฐบาลรัสเซียจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับแนวคิดอินโดแปซิฟิกแบบสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบแล้ว รัสเซียยังไม่มีส่วนร่วมในการหารือเกี่ยวกับแนวคิดในหมู่ประเทศที่มีวิสัยทัศน์แตกต่างกัน หรือแม้แต่การเจรจาระหว่างรัฐในภูมิภาคที่เป็นมิตรกับรัสเซียอีกด้วย สุดท้าย การที่รัสเซียปรับทิศทางยุทธศาสตร์เอเชียใหม่ ซึ่งมุ่งหมายเพื่อกระจายความเชื่อมโยงของรัสเซียในระดับภูมิภาค โดยหันเหความสำคัญไปที่ยุทธศาสตร์จีนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น อาจสรุปได้ว่ารัสเซียและอินโดแปซิฟิกอยู่กันคนละโลก และบทบาทของรัสเซียในอินโดแปซิฟิกก็มีเพียงน้อยนิดและไม่สลักสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม การสรุปเช่นนี้อาจเป็นการชี้นำที่ผิด เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการแยกตัวคือการครอบครองอาวุธที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและข้อตกลงด้านพลังงาน ซึ่งทำให้รัสเซียเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์อินโดแปซิฟิก นอกจากนี้ กิจกรรมของกองทัพเรือรัสเซียในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกยังเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีการฝึกซ้อมในทะเลฟิลิปปินส์และทะเลคอรัล รวมทั้งการนำเรือเข้าเทียบท่าที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 กองเรือแปซิฟิกแห่งรัสเซียได้ดำเนินการฝึกซ้อมรบกับกลุ่มภารกิจของกองทัพเรือจำนวนมาก ทั้งการล่องผ่านทะเลจีนใต้หรือพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของรัสเซียและแสดงแสนยานุภาพทางทหารในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ช่วยเหลือเวียดนามในการสร้างฐานทัพเรือดำน้ำและซ่อมแซมท่าเรือที่อ่าวคัมรัน ซึ่งเป็นฐานทัพเก่าของสหภาพโซเวียตในเวียดนาม โดยใช้เป็นฐานทัพเรือและอากาศยานของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม แม้สถานที่อำนวยความสะดวกแห่งนี้จะไม่โอนย้ายไปเป็นฐานทัพของรัสเซีย แต่ผู้นำเวียดนามเน้นย้ำว่า ที่นั่นรัสเซียจะได้รับสิทธิพิเศษทางยุทธศาสตร์ ดร. กรีกอรี ล็อกชิน จากสถาบันตะวันออกไกลศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย กล่าว

รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มเมื่อ พ.ศ. 2562 ระบุว่า ค่อนข้างน่าประหลาดใจที่สิ่งที่มักจะเล็ดลอดจากความสนใจของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ข้อตกลงระดับสูงระหว่างรัสเซียและประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียนั้น คือการที่รัสเซียได้กลายเป็นผู้จำหน่ายอาวุธสำคัญรายใหญ่ที่สุดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งขณะนี้ได้ซื้ออาวุธจากรัสเซียมากกว่าซื้อจากจีนและอินเดียรวมกัน นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า รัสเซียยังขายอาวุธให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ได้มากกว่าสหรัฐฯ อีกด้วย 

แม้รัสเซียจะตามหลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธระดับโลก และดูเหมือนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่ได้เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซีย แต่จากการประเมินบางฉบับพบว่า การส่งออกอาวุธไปยังอินโดแปซิฟิกของรัสเซียพุ่งแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้มียอดขายอาวุธทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 60 ตามการรายงานเมื่อ พ.ศ. 2562 ของดิอินเทอพรีเทอร์ ฉบับตีพิมพ์ทางออนไลน์ของสถาบันโลวี่  

เมื่อมองในแง่ที่ว่าข้อตกลงด้านอาวุธไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงด้านอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฝึกอบรมบุคลากร การบำรุงรักษาอุปกรณ์ ความร่วมมือทางเทคนิคทางทหาร และบางครั้งก็รวมถึงการฝึกทางทหารร่วมแล้ว การขายอาวุธแก่รัฐในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่พุ่งสูงขึ้นของรัสเซียนั้นเป็นการเพิ่มความซับซ้อนหลายชั้นให้ภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค 

ปริศนาสำคัญข้อหนึ่งคือ วิธีที่รัสเซียสร้างอิทธิพลทางทหารในภูมิภาคนี้ ตั้งอยู่ภายใต้บริบทของแนวร่วมเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียรวมกัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ซื้ออาวุธจากรัสเซีย ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านกลาโหมของตนเพื่อต่อต้านจีนโดยเฉพาะ เช่น การซื้ออาวุธจากรัสเซียของเวียดนาม (ประกอบด้วยเรือดำน้ำชั้นกิโลที่มีการปรับปรุงขั้นสูง 6 ลำ, อากาศยานขับไล่หลายบทบาท ซูโคอิ ซู-30เอ็มเค2 ลำใหม่ 12 ลำ, เรือฟริเกต เกพาร์ด-3 สองลำ และขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือเพื่อการป้องกันชายฝั่ง เค-300พี บาสเตียน-พี หรือเรือเอสเอส-ซี-5 สตูจ 6 ลำ) “ส่วนใหญ่จะมีการนำไปใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเวียดนามในทะเลจีนใต้อย่างแน่นอน” นิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต รายงาน 

รัฐบาลรัสเซียพยายามที่จะคานอำนาจกับจีนโดยการมอบอาวุธให้คู่แข่งทางยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคทะเลจีนใต้ และบ่อนทำลายแนวร่วมระหว่างจีนกับรัสเซียอย่างนั้นหรือ หรือว่าแนวร่วมระหว่างรัสเซียกับจีนจะมาพร้อมการแลกกับการสูญเสียด้านความสัมพันธ์ของรัฐบาลรัสเซียกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันแน่ 

คำตอบของคำถามทั้งสองข้อคือ ไม่ใช่ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ล้อมรอบการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจที่ยังคงเป็นปริศนาระหว่างรัสเซีย จีน และประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก กลับกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ตรรกะแบบแพ้-ชนะธรรมดา ๆ ได้

รัสเซีย ซึ่งมีประสบการณ์มาจากยุคโซเวียตในพื้นที่นี้ในช่วงสงครามเย็น มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่หากไม่เป็นประเทศที่นำโดยคอมมิวนิสต์ ก็เป็นประเทศอดีตอาณานิคมตะวันตกที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของรัสเซียในอินโดแปซิฟิก ยังเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ การปิดกั้น หรือสร้างความปั่นป่วนให้เป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ ไม่ใช่จีน สหรัฐฯ ต่างหากที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามหลักในปัจจุบัน หาใช่จีนแต่อย่างใด รัฐบาลรัสเซียทำความเข้าใจโครงการอินโดแปซิฟิกผ่านมุมมองของการคานอำนาจเชิงระบบกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จัดประเภทรัสเซียให้เป็น “ตัวร้ายที่ฟื้นคืนชีพ” ในอินโดแปซิฟิก ตาม “รายงานยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก: การเตรียมความพร้อม ความร่วมมือ และการส่งเสริมภูมิภาคที่เป็นเครือข่าย” ประจำ พ.ศ. 2562 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สิ่งที่รัสเซียทำในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต่อทั้งจีนและประเทศที่เล็กกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกจีนคุกคามนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลกที่ใหญ่กว่าในการคานอำนาจกับสหรัฐฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจรจาภายในของรัฐสภารัสเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทัพขึ้นอีกครั้งในเวียดนาม เช่น การกลับมาใช้ฐานทัพอ่าวคัมรันเป็นเรื่องที่ชอบธรรม บนพื้นฐานที่ว่า พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียในรัฐบาลสหรัฐฯ “ไม่เข้าใจภาษาของการทูตและสำแดงแสนยานุภาพ” ตามการวิเคราะห์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ในหนังสือพิมพ์พาร์ลาเมนต์สกายา กาเซตา หรือเดอะพาเลียเมนต์ นิวส์เปเปอร์ “รัสเซียจำเป็นต้องมีฐานทัพในคิวบาและเวียดนามอย่างไม่ต้องสงสัย” นายฟรานซ์ คลินเซวิตช์ รองประธานคนแรกของคณะกรรมการกลาโหมและความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวในบทความดังกล่าว 

แท้จริงแล้ว รัสเซียมีเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ ไอแอล-78 ประจำการอยู่ที่อ่าวคัมรัน ซึ่งใช้เติมเชื้อเพลิงให้เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ ทู-95 เพื่อกลับมาลาดตระเวนใกล้กับญี่ปุ่นและดินแดนกวมของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนรัฐบาลเวียดนามที่ปล่อยให้รัสเซียใช้ฐานทัพดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าสร้างความตึงเครียดในภูมิภาค ดังที่นางนีนา เลอ นักวิจัยจากสถาบันการวิเคราะห์และแก้ไขความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน และนางโก สวี ลีน คอลลิน จากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ อธิบายไว้ในเดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558

ตรรกะของการคานอำนาจกับนโยบายของสหรัฐฯ ยังสอดแทรกปฏิกิริยาของรัสเซียต่อแนวคิดอินโดแปซิฟิกฉบับสหรัฐฯ อีกด้วย รัฐบาลรัสเซียเชื่อว่า คำว่าอินโดแปซิฟิกเป็นการประดิษฐ์คำที่มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดแบบสงครามเย็น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนในการบ่อนทำลายความเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของอาเซียนและสร้างวงล้อมกีดกันจีน ข้อความข้างต้นคือสิ่งที่นางนีเวดิตา คาปูร์ และนายนันดัน อันนิกริชนันท์ นักวิชาการจากมูลนิธิผู้สังเกตการณ์วิจัย อธิบายจุดยืนของรัสเซียในโพสต์จากเว็บไซต์เดอะวัลได ดิสคัสชัน คลับ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลรัสเซียจึงนิยมใช้คำว่า พันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกหรือยูเรเซีย ซึ่งทำให้จีนกลับมามีตัวตนดังเดิม

 ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วนได้เสนอความเห็นว่า เนื่องจากจีน อินเดีย และประเทศสมาชิกอาเซียน ล้วนเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีคุณค่าสูงของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียจึงต้องพิจารณาว่าจะสลาย “แนวโน้มที่ไม่น่ายินดี” ได้อย่างไร อีกทั้งยังไม่ควรประเมินความสัมพันธ์พิเศษของรัฐบาลรัสเซียกับรัฐเหล่านี้ต่ำเกินไปในเรื่องนี้ ดังที่ ดร. วิคเตอร์ ซัมสกี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการของรัสเซีย ได้อธิบายไว้ นอกจากนี้ รัสเซียยังควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างแนวร่วมระหว่างจีนกับเวียดนามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตามรายงานของ ดร. ดิมิทรี มอสยาคอฟ จากสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย ดังนั้น ความทะเยอทะยานทางภูมิยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลรัสเซียในภูมิภาคนี้ คือการไม่ใช้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการขยายอำนาจของจีน แทนที่จะทำเช่นนั้น รัสเซียกลับคิดหาวิธีการสร้างสมดุลต่อสหรัฐฯ ให้เป็นผู้ถ่วงดุลในการรับมือกับจีนรวมถึงคู่แข่งที่แท้จริงและที่เป็นไปได้ของตน

ตรรกะของการสร้างสมดุลอย่างเป็นระบบในส่วนของรัสเซียนี้ อธิบายถึงสาเหตุที่จีนกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถทางทหารของคู่แข่งในทะเลจีนใต้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการถ่ายโอนอาวุธของรัสเซียสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่ายในสถานการณ์นี้ ประการแรก บทบาทของรัสเซียมีส่วนช่วยในการชะลอหรือยับยั้งไม่ให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันเข้าขอความช่วยเหลือทางยุทธศาสตร์จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจกลายเป็นวงแหวนกักกันประเทศจีน แม้ว่าแนวโน้มปัจจุบันอาจไม่ดีเท่าใดนัก แต่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้วสำหรับรัฐบาลจีน ประการที่สอง เนื่องด้วยความทะเยอทะยานของรัฐบาลรัสเซียที่จะขจัดปัญหาแนวโน้มที่ไม่น่ายินดีระหว่างจีน อินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของรัสเซียในภูมิภาคนี้ช่วยสร้างช่องทางพิเศษสำหรับรัฐบาลจีนในการมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้ามในอีกนัยหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนให้ความสำคัญอย่างมาก ประการที่สาม ผู้ตัดสินใจในรัฐบาลจีนเข้าใจว่ารัสเซียตกลงกับจีนในประเด็นสำคัญของปัญหาการเมืองระดับโลก ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญสำหรับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง เพื่อเป็นการยืนยันสถานะพิเศษของรัสเซียในแคลคูลัสภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคของจีน เราสามารถดูได้จากความจริงที่ว่า รัฐบาลจีนยังคงปิดปากเงียบเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในโครงการพลังงานนอกชายฝั่งของเวียดนาม ในขณะที่ตนเองกดดันบริษัทพลังงานอินเดีย มาเลเซีย และสหรัฐฯ ไม่ให้ร่วมมือกับเวียดนามในทะเลจีนใต้ การถ่ายโอนอาวุธของรัสเซียไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือการมีส่วนร่วมทางทหารอื่น ๆ กับภูมิภาคนี้มีภูมิคุ้มกันจากการวิพากษ์วิจารณ์ของรัฐบาลจีนเท่ากัน 

ผลกระทบของการกำหนดค่าทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนเหล่านี้สำหรับสหรัฐฯ ถือว่ามีนัยสำคัญ รัสเซียเข้าถึงเครื่องมือสำหรับการส่งเสริมหลายขั้วในแบบฉบับของตนได้มากขึ้น จีนจะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากรัสเซียและการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานและเทคโนโลยีทางทหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อจีนท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิก ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในภูมิภาคนี้ยังนำไปสู่ข้อจำกัดในความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ นอกจากนี้ หากประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกไม่ได้มีวิสัยทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับภูมิภาคแบบสหรัฐฯ ร่วมกันอย่างเต็มที่ ความเชื่อมโยงทางเทคนิคด้านการทหารกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นของรัสเซีย และการยอมรับของจีนที่มีต่อความเชื่อมโยงดังกล่าว ก็สามารถขยายแนวความผิดพลาดที่มีอยู่ในการตีความที่แตกต่างกันของอินโดแปซิฟิก

เนื่องจากวิธีการที่รัสเซียเข้าหาอินโดแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากตรรกะของการปรับสมดุลในระดับระบบกับสหรัฐฯ การตอบสนองที่มีประสิทธิภาพที่เป็นไปได้สำหรับสหรัฐฯ จึงต้องอยู่ในระดับเดียวกันเท่านั้น การทำสงครามหลายพรมแดนกับจีนและรัสเซียในเวลาเดียวกันนั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่กลยุทธ์ชั้นเยี่ยมอย่างที่นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ บางคนชี้ให้เห็น แต่สหรัฐฯ ควรใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีมากพอ จากการที่อินโดแปซิฟิกมีท่าทีชะลอหรือพลิกแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ในความร่วมมือทางทหารของจีนกับรัสเซียแทน  

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button