ติดอันดับ

จีนจับตาการทูตด้านวัคซีนในประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การบริจาควัคซีนโควิด-19 ของอินเดียจำนวน 5.5 ล้านโดสให้กับประเทศในเอเชียใต้ได้รับการยกย่องจากกลุ่มประเทศที่ซาบซึ้งใจ อย่างไรก็ตาม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นได้กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองเชิงลบมากขึ้นจากคู่แข่งของอินเดีย ซึ่งคือสาธารณะรัฐประชาชนจีน สำหรับอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว โดยได้ยกย่องการทูตด้านวัคซีนของอินเดียในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในขณะที่ใส่ร้ายป้ายสีความพยายามดังกล่าวในสื่อของรัฐ

ซึ่งในอินเดียสังเกตเห็นความไม่สอดคล้องดังกล่าว โฆษกรัฐบาลจีนกล่าวว่า “ไม่มีพื้นที่ให้การแข่งขันที่มุ่งร้าย” ในเรื่องการจัดหาวัคซีน แต่หนังสือพิมพ์อินเดียฉบับหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสื่อของรัฐบาลจีนมีจุดยืนที่ก้าวร้าวมากขึ้น “อย่างไรก็ตาม สื่อภายใต้การควบคุมในประเทศจีนกลับบอกเล่าต่างออกไป ตั้งแต่การกล่าวหาอินเดียว่าได้แทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้วัคซีนของจีนในเอเชียใต้ ไปจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจากอินเดียและประเทศตะวันตก” หนังสือพิมพ์เดอะฮินดู ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันในอินเดีย รายงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ความพยายามของอินเดียในการวางสถานะตนเองให้เป็นผู้ตอบสนองแรกของภูมิภาคแห่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการทำงานเป็นเวลาหลายปีเพื่อให้ทันกับการลงทุนของจีนในประเทศต่าง ๆ ที่รวมถึงมัลดีฟส์ เนปาล และศรีลังกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่จีนกำลังสร้างท่าเรือ สถานีพลังงาน และถนน ตามรายงานของรอยเตอร์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอินเดียในภาคเภสัชกรรมทำให้อินเดียได้เปรียบในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา อินเดียมีแผนมอบวัคซีน 12 ล้านถึง 20 ล้านโดสให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในการช่วยเหลือระลอกแรกในช่วงหลายสัปดาห์ ตามรายงานของรอยเตอร์ (ภาพ: คนงานที่กรมสุขภาพและการบริการในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ขนถ่ายกล่องวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับบริจาคจากอินเดีย)

ทางการจีนพบว่าการวิพากษ์วิจารณ์ความเมตตาของอินเดียอย่างเปิดเผยทำได้ยาก “มีผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 หลายรายในตลาด และประเทศต่าง ๆ ควรเลือกวัคซีนได้อย่างอิสระ” นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 “ประเด็นนี้ไม่สามารถมีพื้นที่ให้การแข่งขันที่มุ่งร้ายได้ นับประสาอะไรกับสิ่งที่เรียกว่าการชิงดีกัน”

แม้ว่าจะมีการรับประกันดังกล่าว แต่การแข่งขันที่มุ่งร้ายก็เป็นหัวข้อของการรายงานเกี่ยวกับการบริจาควัคซีนของอินเดียในสื่อจีน เดอะโกลบอลไทมส์ซึ่งดำเนินการโดยพรรคคอมมิสนิสต์จีน อ้างถึงคำพูดจาก “คนวงใน” โดยกล่าวว่าความร่วมมือด้านวัคซีนระหว่างจีนกับบังกลาเทศ “ถูกรบกวนเนื่องด้วยการแทรกแซงจากอินเดีย” ตามรายงานของเดอะฮินดู รายงานของเดอะโกลบอลไทมส์อ้างว่า การทดลองทางคลินิกของวัคซีนจีนในบังกลาเทศล่าช้า “เนื่องจากมีการกล่าวหาว่า รัฐบาลอินเดียก้าวก่ายความร่วมมือของสองประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบังกลาเทศประกาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้วัคซีนจากจีน เนื่องจากได้รับการร้องขอให้ร่วมทุนสำหรับการทดลองในประเทศ ตามรายงานของรอยเตอร์

เดอะฮินดูยังระบุอีกว่า สำนักข่าวของรัฐในจีนได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่อินเดียกำลังพัฒนา และยังเน้นย้ำว่าเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่สถาบันเซรั่มแห่งอินเดียซึ่งมีผู้เสียชีวิต 5 คนนั้นเป็นเหตุให้เกิดความกังวล สถาบันดังกล่าวกำลังผลิตวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ซึ่งพัฒนาขึ้นในสหราชอาณาจักร และอินเดียจะบริจาคให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน “ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากแสดงความไม่สบายใจเดียวกันเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุเพลิงไหม้ต่อขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของสถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย” เดอะโกลบอลไทมส์ระบุ

ทั้งนี้ ผู้รับวัคซีนทางการทูตของอินเดียไม่ได้แสดงความสงสัยใด ๆ ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 อินเดียได้บริจาควัคซีนให้บังกลาเทศ 2 ล้านโดส, ภูฏาน 150,000 โดส, พม่า 1.5 ล้านโดส, มัลดีฟส์ 100,000 โดส, มอริเชียส 100,000 โดส, เนปาล 1 ล้านโดส, ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก 200,000 โดส, เซเชลล์ 50,000 โดส และศรีลังกา 500,000 โดส นอกจากนี้ อินเดียยังบริจาควัคซีนให้แก่บาห์เรน นิการากัว และโอมานด้วย

“รัฐบาลของอินเดียได้แสดงความปรารถนาดีโดยการจัดหาวัคซีนให้เป็นการช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ในระดับของประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้ที่กำลังเดือดร้อนจากโควิด-19 มากที่สุด” นายฮริทาเยศ ไตรพาธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประชากรของเนปาลกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button