ติดอันดับ

คณะผู้สืบสวนขององค์การอนามัยโลกปัดตกความเป็นไปได้ที่ว่า ไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น ปล่อยให้หลายคำถามไร้ซึ่งคำตอบ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

คณะผู้สืบสวนขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การที่เชื้อโควิด-19 หลุดมาจากห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนนั้น “ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง” และรายงานล่าสุดของคณะผู้สืบสวนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสยังเป็นการสนับสนุนแถลงการณ์ที่ดูมีพิรุธของเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งสร้างความตกตะลึงต่อนักวิทยาศาสตร์อิสระจำนวนมากทั่วโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติขององค์การอนามัยโลกจำนวน 14 คนเข้าเยี่ยมชมตลาดจำหน่ายสัตว์ที่ยังมีชีวิต ห้องปฏิบัติการ และศูนย์ควบคุมโรคเป็นเวลานานกว่า 12 วันในช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะยอมรับทฤษฎีของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนว่า ไวรัสอาจแพร่ระบาดสู่มนุษย์ผ่านการขนส่งอาหารแช่แข็ง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ภายนอกประเทศจีน นักวิทยาศาสตร์ยังคงสงสัยถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว

เอ็นบีซีนิวส์รายงานว่า ดร. ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเร็ก หัวหน้าคณะผู้สืบสวนขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “ผลการสืบค้นเบื้องต้นของเราชี้ให้เห็นว่า การแพร่เชื้อผ่านสายพันธุ์พาหะที่เป็นตัวกลางดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและการวิจัยที่มุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงมากขึ้น”

ดร. เอ็มบาเร็กกล่าวว่า ทฤษฎีที่ว่าไวรัสหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการอู่ฮั่น “ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งในการอธิบายถึงการแพร่ระบาดสู่ประชากรมนุษย์ ดังนั้น ทฤษฎีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในสมมติฐานที่เราจะแนะนำสำหรับการศึกษาวิจัยในอนาคต”

นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาตั้งใจที่จะตรวจสอบผลการสืบค้นขององค์การอนามัยโลกอย่างอิสระเมื่อรายงานเสร็จสิ้นแล้ว

“ชัดเจนแล้วว่าอย่างน้อยในช่วงก่อนหน้านี้ จีนไม่ได้แสดงความโปร่งใสที่จำเป็นตามที่เราต้องการหรือตามที่ประชาคมโลกต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อที่เราจะสามารถป้องกันไม่ให้การระบาดใหญ่ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง” นายไพรซ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “เราจะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเรา อีกทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ชุมชนข่าวกรองของเราเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ แทนที่จะด่วนสรุปโดยอาจมีแรงจูงใจจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากวิทยาศาสตร์”

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ระบุชนิดสัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัส ดร. เอ็มบาเร็ก ผู้เรียกการสืบสวนนี้ว่า “อยู่ในระหว่างดำเนินการ” กล่าว นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าได้ลบทฤษฎีห้องปฏิบัติการตาม “การอภิปรายอย่างจริงจังและการวิจัยที่อุตสาหะอย่างมาก” นายเหลียง วั่นเหนียน หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขจีนกล่าว ตามรายงานของซีเอ็นบีซี แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบข้อมูลใหม่ แต่ ดร. เอ็มบาเร็กกล่าวว่ายังไม่มีข้อมูลที่เปลี่ยนภาพของการระบาดไปอย่างสิ้นเชิง (ภาพ: ดร. ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเร็ก นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลก (ขวา) และนายเหลียง วั่นเหนียน หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขจีน หารือกันในระหว่างการแถลงข่าวที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)

“ในด้านความเข้าใจที่ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เราได้เปลี่ยนแปลงภาพที่เรามีมาก่อนหน้านี้ไปเลยหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น” ดร. เอ็มบาเร็กกล่าว ตามรายงานของซีเอ็นบีซี “เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า “เรามีรายละเอียดของเรื่องนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ มีอย่างแน่นอน”

นักวิทยาศาสตร์ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสหมุนเวียนอยู่ในเมืองอู่ฮั่นก่อนที่จะมีการระบุผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการที่เมืองดังกล่าวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562

“เราทำงานหนักในจีน และเมื่อคุณนึกย้อนกลับไป นั่นก็เริ่มจะชี้ชัดไปยังชายแดน และเราทราบว่ามีการเฝ้าระวังน้อยมากที่อีกด้านหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค” ดร. ปีเตอร์ ดาสซัค สมาชิกทีมขององค์การอนามัยโลกกล่าว ตามรายงานของบีบีซี ดร. ดาสซัคชี้ให้เห็นว่า จุดสนใจในการสืบหาต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาอาจเปลี่ยนไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

“จีนมีพื้นที่ใหญ่มาก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน” ดร. ดาสซัคกล่าว “ตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนานในอู่ฮั่นมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ซึ่งมาจากต่างประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน ดังนั้น การติดตามย้อนกลับไปจริง ๆ ต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในระดับหนึ่ง

สหรัฐฯ ได้โต้แย้งคำยืนยันของจีนว่าไวรัสนี้มีต้นกำเนิดจากที่อื่น และยังคงกังวลว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจครอบงำผลการสืบค้นขององค์การอนามัยโลก

“โดยรวมแล้ว สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าโดยทั่วไปเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม เราสามารถช่วยกำหนดทิศทางของเหตุการณ์ได้ แต่เมื่อเราไม่ได้อยู่ในองค์การอนามัยโลก เราไม่มีอิทธิพลใด ๆ ที่จะให้องค์การอนามัยโลกทำงานในแบบที่ควรจะเป็น” นายไพรซ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการตัดสินใจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติอีกครั้ง “ซึ่งในกรณีนี้เรากำลังพูดถึงต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา ผมไม่คิดว่าจะมีบุคคลผู้มีเหตุผลคนใดออกมาโต้แย้งว่าไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดจากที่อื่น”

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button