เรื่องเด่น

การตัดแต่ง เรื่องราว

รัฐบาลจีนส่งเสริมวาระของพรรคโดยการครอบงำหน่วยงานระดับโลก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ทั่วโลกกำลังจับตามององค์การอนามัยโลกที่ยอมจำนนกับแรงกดดันทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการที่เจ้าหน้าที่จีนพยายามปกปิดต้นกำเนิดของไวรัสที่ระบาดไปทั่วโลก พร้อมกับคอยสอดส่องฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตน เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกแสดงความชื่นชมสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่สาธารณะจนเกินจำเป็นเรื่องความโปร่งใสด้านการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา แม้ว่าจะไม่พอใจเป็นการส่วนตัวจากการที่จีนไม่ยอมให้ข้อมูลหลังจากที่มีการตรวจพบโรคระบาดดังกล่าวในอู่ฮั่น ประเทศจีน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกถึงกับกล่าวโจมตีประเทศต่าง ๆ อย่างรุนแรงที่สั่งห้ามไม่ให้พลเมืองจีนเดินทางเข้าประเทศ

รูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนด้านการปกครองและอุตสาหกรรมทั่วโลก นั่นคือ การที่เจ้าหน้าที่จีนหรือตัวแทนเข้ารับตำแหน่งผู้นำในองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่องค์กรการบินพลเรือนและโทรคมนาคมไปจนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน แล้วชี้นำให้หน่วยงานเหล่านั้นสนับสนุนวาระทุจริตของจีนอยู่บ่อยครั้ง 

“รัฐบาลจีนไม่เคยละอายในการใช้เครื่องมือทุกชนิดที่ตนมีเพื่อทำให้วาระของตนสำเร็จผล และองค์กรระดับโลกมีบทบาทสำคัญในวัตถุประสงค์นั้น” นายแดเนียล วากเนอร์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทคันทรี ริสก์ โซลูชั่น กล่าวกับ ฟอรัม นายวากเนอร์ ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในประเด็นเกี่ยวกับกิจการสาธารณะและทำงานด้านการจัดการความเสี่ยงในอินโดแปซิฟิก ได้สรุปเป้าหมายของจีนไว้ว่า “รัฐบาลจีนอยู่ระหว่างกระบวนการสร้างระเบียบโลกอีกแบบตามโลกทัศน์ที่ไม่เหมือนใครของตน ซึ่งยึดผลประโยชน์ของจีนเป็นที่ตั้ง ความน่ากลัวคือสถาบันเหล่านี้ถูกจีนบีบให้ทำตามโดยที่ไม่แม้แต่จะเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังทำ โดยอาศัยช่องโหว่และความไม่สอดคล้องในกฎระเบียบด้านการดำเนินงาน”

วิดีโอที่เป็นกระแสส่งสัญญาณเตือน

แม้หลายคนจะมองว่าไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างมากในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกเนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่องค์กรแห่งนี้มีกับจีน อิทธิพลของจีนที่ครอบงำองค์การอนามัยโลกกลายเป็นกระแสในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกไม่เพียงเลี่ยงการตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับไต้หวัน แต่ยังวางหูใส่เมื่อนักข่าวคนดังกล่าวถามคำถามนี้ซ้ำ วิดีโอบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงหน่วยงานนี้ทั่วโลก

ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ไต้หวันมีสถิติผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 455 รายและเสียชีวิต 7 รายจากจำนวนประชากรเกือบ 24 ล้านคน เจ้าหน้าที่ไต้หวันโต้ว่า ไต้หวันควรได้เข้าร่วมการหารือเรื่องการระบาดใหญ่เนื่องจากมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะบอกเล่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวันได้ส่งอีเมลถึงองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “คนไข้โรคปอดอักเสบที่อาการไม่ตรงรูปแบบ” เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ไต้หวันจึงดำเนินการคัดกรองสุขภาพผู้โดยสารทุกเที่ยวบินที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นในวันดังกล่าวและเข้าควบคุมโดยไม่รีรอเพื่อปกป้องพลเมืองของตน เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563 ไต้หวันกลายเป็นเมืองแรกที่สั่งห้ามเที่ยวบินขาเข้าจากอู่ฮั่น นอกจากการกักตัวผู้เดินทางตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว มาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ของไต้หวันยังครอบคลุมถึงการเฝ้าดูอาการผู้ที่อยู่ระหว่างกักตัวอย่างใกล้ชิด 

“เราหวังว่าบททดสอบจากโรคระบาดครั้งนี้ จะทำให้องค์การอนามัยโลกเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าโรคระบาดไม่มีเส้นแบ่งประเทศ ไม่ควรมีประเทศใดถูกทอดทิ้งเพราะประเทศที่ถูกทอดทิ้งจะกลายเป็นจุดเสี่ยงได้ … อีกทั้งยังไม่ควรละเลยจุดแข็งของประเทศใด ๆ เพราะจุดแข็งนั้นอาจสร้างคุณูปการต่อทั้งโลกได้” นายเฉิน สือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน กล่าวในการแถลงข่าว บีบีซีรายงาน

ไต้หวันประสบความสำเร็จในการควบคุมไม่ให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาภายในประเทศเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ไปจนถึงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง จากรายงานของนิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต ผู้ติดเชื้อทุกรายที่พบหลังจากวันที่ 12 เมษายน หากไม่ใช่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งได้รับการตรวจพบเชื้อในช่วงกักตัวตามข้อบังคับเป็นเวลา 14 วัน ก็จะเป็นกลุ่มที่อยู่บนเรือของกองทัพเรือไต้หวันซึ่งเดินทางกลับจากภารกิจกระชับไมตรีที่ปาเลา เดอะดิโพลแมตรายงาน

อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาเกี่ยวกับการรับมือการระบาดใหญ่ขององค์การอนามัยโลกมีมากกว่าแค่การกีดกันไต้หวัน การสอบสวนของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส เปิดเผยว่า แม้เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกจะให้การยกย่องจีนตลอดเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ในเรื่องการรับมือด้านสาธารณสุขที่รวดเร็ว และการแบ่งปันแผนที่พันธุกรรมไวรัส “ในทันที” แต่เจ้าหน้าที่ภายในองค์การแห่งนี้กลับร้องเรียนเป็นการส่วนตัวว่าไม่ได้รับข้อมูลทางการแพทย์อย่างทันท่วงที โดยเจ้าหน้าที่จีนปฏิเสธที่จะเปิดเผยแผนที่พันธุกรรมของไวรัสมรณะชนิดนี้นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่ห้องปฏิบัติการของรัฐบาลหลายแห่งได้ถอดรหัสของไวรัสอย่างสมบูรณ์ และไม่แบ่งปันรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการออกแบบการทดสอบและวัคซีน จากบันทึกของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกไม่พอใจที่จีนไม่ให้ความร่วมมือในช่วงเวลาที่น่าจะชะลอการระบาดให้ช้าลงได้ 

“ขณะนี้ เราอยู่ในขั้นที่จีนส่งข้อมูลให้เราเพียง 15 นาทีก่อนที่ข้อมูลนั้นจะปรากฏในช่องซีซีทีวี” ดร. เกาเดน กาเลีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกในจีน กล่าวในการประชุมครั้งหนึ่งโดยอ้างอิงถึงสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

องค์การอนามัยโลกไม่ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นวาระฉุกเฉินระดับโลกจนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 ในระหว่างการประชุมที่นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกจากเอธิโอเปียได้กล่าวขอบคุณจีนอย่างยิ่งที่ให้ความร่วมมือ “จริง ๆ แล้วเราควรแสดงความเคารพและขอบคุณต่อสิ่งที่จีนกำลังทำ” นายกีบรีเยซุสกล่าว ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “จีนได้ทำสิ่งที่เหลือเชื่อในการจำกัดการแพร่เชื้อไวรัสไปยังประเทศอื่น”

นายกีบรีเยซุสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำในองค์การอนามัยโลกเมื่อ พ.ศ. 2560 โดยเอาชนะคู่แข่งจากสหราชอาณาจักรด้วยการวิ่งเต้นอย่างหนักจากรัฐบาลจีนและรัฐในแอฟริกาประมาณ 50 รัฐ นายกีบรีเยซุสเคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีนในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอธิโอเปีย ในช่วงเวลาที่ประเทศกู้ยืมเงินหลายพันล้านจากจีน นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า นายกีบรีเยซุสทำหน้าที่เป็นตัวแทนของจีนหลังจากกลายเป็นผู้นำขององค์การอนามัยโลก เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง นายกีบรีเยซุสก็ได้แต่งตั้งให้นายโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตผู้นำเผด็จการของซิมบับเวซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนชื่อกระฉ่อน เป็นทูตสันตวไมตรี แต่นายกีบรีเย
ซุสก็ยอมถอยหลังจากที่เกิดเสียงคัดค้านจากนานาชาติอย่างหนัก 

“นักการทูตกล่าวว่า การแต่งตั้งนายมูกาเบเป็นการตอบแทนทางการเมืองที่นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกชาวแอฟริกันคนแรก มอบให้แก่จีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับนาย มูกาเบมาอย่างยาวนาน และให้แก่รัฐแถบแอฟริกาอีกประมาณ 50 รัฐที่ช่วยสนับสนุนตนในช่วงเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้” นางรีเบกกา ไมเยอร์ส
นักเขียนคอลัมน์ เขียนในหนังสือพิมพ์เดอะซันเดย์ไทมส์ของสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560

การที่องค์การอนามัยโลกมีท่าทีคล้อยตามรัฐบาลจีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ย่อมก่อให้เกิดผลตามมา สหรัฐอเมริการะงับการสมทบเงินช่วยเหลือให้แก่องค์กรด้านสุขภาพแห่งนี้เป็นเวลา 60 วันในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ในระหว่างการสืบสวนซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกว่า การปกปิดข้อมูลและการจัดการวิกฤติที่ผิดพลาด โดยสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากองค์กรด้านสุขภาพแห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้อนุมัติการตรวจสอบอิสระเกี่ยวกับการรับมือกับไวรัสที่มีการประสานงานกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมถึงแหล่งที่มาของไวรัส และการติดต่อไปสู่มนุษย์ 

ผลกระทบทั่วโลก

นายวากเนอร์กล่าวว่า การที่จีนสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในองค์กรระดับโลกนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการบอกเล่าเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์ ในหลายกรณี จีนใช้การสร้างอิทธิพลที่เกินตัวเมื่อเทียบกับการลงทุนทางการเงิน “แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่ได้ถือหุ้นในองค์กรพหุภาคีส่วนใหญ่เท่ากับระดับของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และบางประเทศในยุโรป แต่รัฐบาลจีนก็ใช้ความเป็นสมาชิกในองค์กรเหล่านั้นทดแทนช่องว่างดังกล่าวผ่านการใช้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้น” นายวากเนอร์
กล่าว “เช่น จีนเป็นผู้นำหน่วยงานย่อยขององค์การสหประชาชาติ 4 แห่งซึ่งมากกว่าประเทศสมาชิกอื่น ๆ และใช้อิทธิพลอย่างมากในกระบวนการตัดสินใจของธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี ซึ่งมากเกินกว่าการถือหุ้นที่มีอยู่จะทำได้

จีนดำรงตำแหน่งผู้นำในองค์กรปกครองระหว่างประเทศหลายสิบแห่งและมีตำแหน่งระดับสูงในสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงองค์การอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ

นายวากเนอร์อธิบายว่า การที่องค์การอนามัยโลกออกมาโต้แย้งก็เป็นตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐบาลจีนที่มีมากกว่าการลงทุนหลายเท่า ข้อมูลสาธารณะแสดงให้เห็นว่า เมื่อปลาย พ.ศ. 2562 จีนได้บริจาคเงินมูลค่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) ให้แก่องค์การอนามัยโลก ในขณะที่สหรัฐฯ บริจาคเงินให้มากกว่านั้น 10 เท่า นั่นคือ 893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท) แต่กระนั้น อิทธิพลของรัฐบาลจีนกลับครอบงำทั่วทั้งหน่วยงานแห่งนี้ “ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างยอมรับว่ารัฐบาลจีนมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทูต ซึ่งสิ่งนั้นช่วยรัฐบาลจีนได้มากในการชกข้ามรุ่น” นายวากเนอร์กล่าว

การบอกเล่าเรื่องราวอีกแบบ

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จีนก็สามารถสร้างเส้นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ที่ถูกขังอยู่ในที่ที่เรียกว่าค่ายปรับทัศนคติขึ้นมาใหม่ได้ อิทธิพลของจีนเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เมื่อรัฐบาลจีนใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจสร้างผลกระทบต่อความเป็นกลางของหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ ทูต 37 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง เขียนจดหมายถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยให้ความเห็นไปในเชิงบวกเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของจีน โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าหลายประเทศจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนเกี่ยวกับการคุมขังคนจำนวนมาก กล่าวคือ มีชาวอุย กูร์ถึง 1 ล้านคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ รวมทั้งการที่รัฐบาลจีนพยายามทำลายวัฒนธรรมพื้นเมืองและความเชื่อทางศาสนาของผู้ที่ถูกคุมขังเหล่านั้น

จดหมายดังกล่าวจ่าหน้าถึงประธานคณะมนตรีในเจนีวาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่า ความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายและการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงของจีนนั้นประสบความสำเร็จ แต่มีอีก 22 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศตะวันตก ร่วมลงนามในจดหมายฉบับหนึ่งก่อนหน้านั้นหลายวัน เพื่อเรียกร้องให้องค์กรระดับโลกแห่งนี้สืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนในเขตซินเจียง “หากยังคงฝืนทนและเพิกเฉยต่อการที่จีนเข้าแทรกซึมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไป ผู้คนก็จะกังขาว่าคณะมนตรีนี้ยังมีความเป็นกลางอย่างแท้จริงอยู่หรือไม่” นายดิลซัต ราซิต โฆษกของสภาอุยกูร์โลกของชาวอุยกูร์พลัดถิ่นกล่าว ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา

อิทธิพลในอุตสาหกรรม

ผู้สังเกตการณ์ประเทศจีนให้ความเห็นว่า การตัดแต่งเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขยายขอบเขตไปไกลกว่าประเด็นด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชน “จีนได้ใช้อำนาจครอบงำที่ตนมีในองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงบทบาทของชาวจีนในตำแหน่งผู้นำที่สำคัญ เพื่อลดความสำคัญของไต้หวันโดยปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ” นายฮัล แบรนด์ส ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ เฮนรี่ เอ. คิสซิงเจอร์ ด้านกิจการทั่วโลกจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษาขั้นสูง จอห์นส์ ฮอปกินส์ เขียน ในบทความแสดงความคิดเห็นชิ้นหนึ่งที่เขียนให้บลูมเบิร์ก นายแบรนด์ยังชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่อดีตเจ้าหน้าที่ชาวจีนคนหนึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติใน พ.ศ. 2557 องค์กรแห่งนี้ก็กลับเป็นมิตรกับโครงการเส้นทางสายไหมทางดิจิทัลของรัฐบาลจีนอย่างมาก ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งที่จะครอบครองเครือข่ายโทรคมนาคมขั้นสูงของโลกและทำให้อินเทอร์เน็ตเอื้อต่อการควบคุมแบบอำนาจเบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น

ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายแบบรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งของจีน ประกอบด้วย บริษัทไชน่าโมบายล์ ไชน่ายูนิคอร์น และไชน่าเทเลคอม เปิดตัวแพ็กเกจการสมัครสมาชิก 5 จีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายดังกล่าวโฆษณาว่า จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าตามความเร็วแทนตามจำนวนอินเทอร์เน็ตที่ใช้ โดยสัญญาว่าจะนำการปฏิวัติทางเทคโนโลยีมาสู่ผู้ใช้ ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตจะได้จ่ายเงินเพียง 45 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,354 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น

นักวิชาการจำนวนมากที่ศึกษาความพยายามที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน มองเห็นบางสิ่งที่น่ากลัวกำลังเกิดขึ้นมากกว่าอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและราคาถูก เป้าหมายด้านโทรคมนาคมและไซเบอร์ของจีน “มีความเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เปิดกว้าง” ดร. จอห์น เฮมมิงส์ รองศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง เขียน ในบทความประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่เขียนให้นิตยสารเดอะเนชั่นแนลอินเทอเรสต์ ดร. เฮมมิงส์กล่าวว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของรัฐบาลจีนที่ขยายขอบเขตออกไปทั่วยุโรปและอินโดแปซิฟิก จะมี “ผลต่อชีวิตจริงของผู้คนที่อาศัยในระบบดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการปกครองและอำนาจรัฐจากข้อมูล”

ดร. เฮมมิงส์กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่สิ่งเดียวที่น่ากังวล แต่ยังรวมถึงการฝึกอบรมที่จีนส่งออกผ่านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นด้วย รัฐบาลจีนกำลังขายสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ ให้เมืองต่าง ๆ
ทั่วโลก เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างขึ้นจากเครือข่าย 5 จี โดยรวบรวมข้อมูลที่แตกต่างกันจากแหล่งต่าง ๆ มา “สร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่สำคัญต่อปฏิบัติการในแต่ละวัน” ของทุกสิ่ง ตั้งแต่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมและบริษัทพลังงานไปจนถึงระบบการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล ดร. เฮมมิงส์เขียน “จุดมุ่งหมายคือ การผสานรวมที่ดีขึ้นและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพของเมืองจะช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นความหวังของนครหลายแห่งในเอเชียใต้ ที่ซึ่งการเติบโตของจำนวนประชากรทำให้เกิดเมืองใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว” ดร. เฮมมิงส์กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนยังส่งออกค่านิยมด้วย โดยการฝึกอบรมผู้ที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเกี่ยวกับวิธีจัดการข้อมูลอภิพันธุ์ในด้าน “การจัดการความคิดเห็นสาธารณะ” ตามรายงานของฟรีดอมเฮาส์ใน พ.ศ. 2561 เช่น บริษัทโทรคมนาคมจีน แซททีอี ได้ช่วยเวเนซุเอลาดำเนินการตรวจตราพลเมืองและควบคุมประชากรผ่านระบบบัตรประจำตัวประชาชนอัจฉริยะ โดยบัตรดังกล่าวจะเชื่อมข้อมูลกับดาวเทียมจีนและจัดเก็บข้อมูลสถานที่ ข้อมูลทางการเงิน ธุรกรรมธนาคาร และแม้แต่บันทึกการเลือกตั้ง “รัฐบาลใช้บัตรดังกล่าวเพื่อควบคุมการเข้าถึงผลประโยชน์สาธารณะ” ดร. เฮมมิงส์เขียน

คำเตือน

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้นำในสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ พยายามโน้มน้าวรัฐบาลจีนที่สงวนท่าทีให้เข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีแนวคิดว่า การให้จีนได้สมาคมกับรูปแบบของการปกครองที่มีความรับผิดชอบ จะทำให้เจ้าหน้าที่จีนตระหนักว่าสามารถประสบความสำเร็จในระบบดังกล่าวได้ นายแบรนด์สเขียน ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็ให้ผลดีในช่วงเริ่มต้น จากประเทศที่เคยหลบเลี่ยงองค์กรระหว่างประเทศ ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ใหญ่ที่สุดในภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลจีนถูกโจมตีในองค์การสหประชาชาติหลังจากการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลจีนก็เริ่มเห็นว่า บทบาทของตนในองค์กรดังกล่าวคือการปกป้องอำนาจครอบงำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศและการเพิ่มอิทธิพลของพรรคในต่างประเทศ นายแบรนด์สเขียน

นายแบรนด์สกล่าวกับ ฟอรัม ว่า รัฐบาลจีนใช้บทบาทของตนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและหน่วยงานสำคัญอื่น ๆในการทำสองสิ่ง ได้แก่ “หนึ่ง เพื่อปกป้องรัฐบาลจีนจากการตรวจสอบการละเมิดในประเทศของตน และสอง สนับสนุนให้มีการส่งเสริมแนวคิดที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งเน้นย้ำ “ความราบรื่นกลมกลืนทางสังคม” และอธิปไตยของรัฐเผด็จการ สิ่งที่กล่าวมาเป็นทั้งปฏิบัติการเชิงรับ เพื่อป้องกันการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของจีน และปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อเปลี่ยนโลกให้เอื้อต่อการเผยแพร่แนวคิดที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้น” นายแบรนด์สกล่าว

การยอมให้รัฐบาลจีนทำตามเป้าหมายเหล่านี้ได้สำเร็จอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่สูง “สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรประชาธิปไตยได้ดำเนินการมานาน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมทั่วโลกให้ระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายมากที่สุดและเป็นรูปแบบการปกครองที่เข้มแข็งที่สุด รวมทั้งมีการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง” นายแบรนด์สกล่าว “หากรัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเผยแพร่บรรทัดฐานของจีนที่ไม่เป็นธรรม ก็จะเกิดโลกที่แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในแบบอเมริกาอ่อนแอ ระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายน้อยลง และลัทธิอำนาจนิยมเพิ่มสูงขึ้น”


อิทธิพลในระดับ นานาชาติ

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับบทบาทผู้นำในองค์กรปกครองระดับโลกหลายสิบแห่ง โดยต่อไปนี้คือตำแหน่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดบางส่วนซึ่งทำหน้าที่โดยผู้นำชาวจีน

นายจ้าว ฮู่หลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

นายจ้าว ฮู่หลิน ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 นายจ้าวได้รับเลือกอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองเป็นเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 นายจ้าวเป็นบุคคลสัญชาติจีนคนแรกที่ได้เป็นผู้นำสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ก่อนที่จะเข้าร่วมหน่วยงานนี้ นายจ้าวเคยดำรงตำแหน่งวิศวกรในสถาบันการออกแบบของกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของจีน


นางหลิ่ว ฟาง เลขาธิการ องค์การ การบินพลเรือน ระหว่างประเทศ

นางหลิ่ว ฟาง เริ่มดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 และได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งในวาระที่สองเป็นเวลา 3 ปีซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง นางหลิ่วเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารและบริการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเป็นเวลา 8 ปี โดยก่อนหน้านั้น นางหลิ่วเคยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานการบินพลเรือนของรัฐบาลในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 20 ปี


นายหลี่ หยง ผู้อำนวยการ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ

นายหลี่ หยง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ก่อนหน้านี้ นายหลี่เคยดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2546-2556 ในขณะนั้น นายหลี่ได้มีส่วนร่วมในการประสานงานนโยบายการคลัง การเงิน และอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ


นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการ องค์การอาหารและการเกษตร

นายฉู ตงหยู ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีองค์การอาหารและการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 เมื่อไม่นานมานี้ นายฉูได้ดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายฉูเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2554


นาย เมิ่ง หงเหว่ย อดีตประธานตำรวจสากล

นายเมิ่ง หงเหว่ย เป็นชาวจีนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าองค์การตำรวจสากลที่ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2559 นายเมิ่งหายตัวไปจากองค์การตำรวจสากลในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 หลังจากออกเดินทางไปยังจีน จากนั้นไม่นาน สาเหตุที่นายเมิ่งหายตัวไปก็ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ทางการจีนได้ควบคุมตัวนายเมิ่งในข้อหาทุจริต ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นายเมิ่งต้องโทษจำคุก 13 ปีครึ่งในข้อหารับสินบนมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60 ล้านบาท) ระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2560 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานตำรวจสากล นายเมิ่งเคยดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน


นายจิน ลี่ฉวิน ผู้ว่าการและประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย

นายจิน ลี่ฉวิน เป็นผู้ว่าการและประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียคนแรก โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการคณะทำงานระหว่างประเทศของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานบริษัทไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารการลงทุนแบบร่วมทุนแห่งแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button