ติดอันดับ

กองเรือประมงสากลของจีนเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของประเทศกำลังพัฒนา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองเรือประมงสากลของจีนยังคงทำอันตรายต่อประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการทำให้สูญเสียรายได้นับพันล้านดอลลาร์และการมีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในระดับที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้คุกคามวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของชาวประมงและชุมชนที่ทำประมงตามกฎหมาย ตามรายงานชุดหนึ่งที่เผยแพร่ในปีที่ผ่านมา

สถาบันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยอิสระระดับโลก ระบุว่า เนื่องจากจีนได้จับปลาในน่านน้ำภายในประเทศของตนไปจนเกือบหมดแล้ว จึงได้จัดตั้งกองเรือประมงสากลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเรือมากถึง 17,000 ลำ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ห้าถึงแปดเท่า

นอกจากนี้ ในจำนวนเรือต้องสงสัยหรือที่ยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมทั่วโลก เป็นเรือของจีนมากกว่าร้อยละ 58 ตามข้อมูลที่สถาบันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเปิดเผยในรายงานเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ชื่อ “กองเรือประมงสากลของจีน: ขนาด ผลกระทบ และการกำกับดูแล” ซึ่งใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ขั้นตอนวิธี และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เรือที่ฝ่าฝืนกฎหมายประกอบด้วยเรือของรัฐวิสาหกิจประมงสากลที่ใหญ่ที่สุดในจีนบางแห่ง และเรือที่ติดธงชาติจีนที่อยู่นอกเขตน่านน้ำจีนมากกว่า 100 ลำ

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า “การมีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของจีนมีความเป็นได้อย่างมากว่าอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้”

อีกหนึ่งผลการวิจัยใน พ.ศ. 2563 ซึ่งนำโดยนายแจยุน ปาร์ค จากโครงการความร่วมมือเพื่อจับตาการทำประมงทั่วโลก และอ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า มีเรือที่มาจากจีนมากกว่า 900 ลำใน พ.ศ. 2560 และมากกว่า 700 ลำใน พ.ศ. 2561 ทำการประมงที่ผิดกฎหมายในน่านน้ำเกาหลีเหนือ เรือจีนจับหมึกบินญี่ปุ่นในจำนวนโดยประมาณเท่ากับการจับของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้รวมกัน (มากกว่า 164,000 ตันซึ่งมีมูลค่ากว่า 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท)) ตามข้อมูลจากวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส นายปาร์คและผู้ร่วมวิจัยยังพบเรือประมงขนาดเล็กของเกาหลีเหนือจำนวน 3,000 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่ทำประมงที่ผิดกฎหมายในน่านน้ำรัสเซีย

การวิจัยที่สามมุ่งเน้นไปที่การค้นพบเรือประมงจีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นนอกหมู่เกาะกาลาปากอสของเอกวาดอร์ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 350 ลำใน พ.ศ. 2563 โดยเป็นจำนวนที่สูงที่สุด ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ นักวิจัยระบุว่า การประมงที่เพิ่มขึ้นเป็นผลผลิตจากยุทธศาสตร์การประมงทั่วโลกของจีนซึ่งให้เงินสนับสนุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ ตามที่นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกจากวินด์วอร์ด แพลตฟอร์มข่าวกรองทางทะเลเชิงคาดการณ์

นักวิจัยพบว่า ยังคงมีความท้าทายที่หลากหลายในภูมิภาคอเมริกาใต้ “แม้กองเรือดังกล่าวจะทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ แต่มีพฤติกรรมบางอย่างบ่งชี้ถึงกรณีที่ไม่เป็นเช่นนั้นในบางครั้ง นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทางเทคนิคดังที่มีอยู่ แต่การทำประมงของจีนบางกิจกรรมจัดอยู่ในหมวดหมู่กิจกรรมที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และสมควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในแง่ความยั่งยืนของการดำเนินการดังกล่าว” ดร. ทาบิทา เกรซ มัลลอรี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษาไชนา โอเชียน อินสทิจูต และ ดร. เอียน ราลบี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและความมั่นคงทางทะเล เขียนไว้ในบทความของศูนย์ความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวระบุว่า กองเรือจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนยังมีส่วนร่วมในการประมงเกินขนาดทั่วโลก โดยกล่าวว่า ประชาคมนานาชาติจำเป็นต้องตรวจสอบกองเรือประมงสากลและเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจำเป็นต้องปรับปรุงการตรวจสอบกองเรือประมงสากล นายปาร์คและคณะผู้ร่วมวิจัยระบุ พร้อมหวังว่า “ผลการวิจัยที่ได้จะทำให้ทราบถึงข้อมูลด้านการกำกับดูแลการประมงข้ามเขตแดนอย่างอิสระ และบ่งบอกล่วงหน้าถึงยุคสมัยใหม่ด้วยการตรวจสอบการประมงผ่านดาวเทียม”

แม้ว่าจีนจะ “ไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตการประมงระดับโลกครั้งนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่จีนก็เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่สุด” ตามรายงานของสถาบันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งสรุปจากขนาดและการปรากฏอยู่ทั่วโลกของกองเรือจีน

“สิ่งนี้ทำให้กองเรือจีน ซึ่งมีความโปร่งใสและการควบคุมการปฏิบัติงานอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว มีความน่ากังวลเป็นพิเศษ การปรับปรุงการกำกับดูแลของกองเรือนี้ถือเป็นศูนย์กลางของความพยายามในการต่อต้านการประมงเกินขนาด รวมทั้งการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และเพื่อป้องกันการลดลงของประชากรสัตว์น้ำทั่วโลก” ตามการรายงานของสถาบันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

“การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นมากกว่าอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกที่ต้องเผชิญกับการตอบสนองที่มีความร่วมมือ ดำเนินการแบบนานาชาติ และเป็นเชิงยุทธศาสตร์” ตามคำกล่าวของ น.ท. เบน โครเวลล์ จากกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ แห่งหน่วยเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานในภาคพื้นตะวันตก และนายเวด เทอร์วอลด์ แห่งศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง ในหนังสือชื่อ ข้อมูลหลังเหตุการณ์ ข้อมูลเชิงลึก และการคาดการณ์: ข้อขบคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก

“ในบางครั้ง กลุ่มธุรกิจ กองเรือ เจ้าของเรือ และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อสภาพทางนิเวศวิทยา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางทะเลโดยรวมของมหาสมุทรโลก” ทั้งคู่เขียนระบุ

“เราต้องทำให้กองเรือและประเทศที่มีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมไม่มีแรงจูงใจที่จะกระทำการดังกล่าว เพราะพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมเหล่านี้จะยังคงดำเนินอยู่ในทะเลต่อไป จนกว่าต้นทุนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ประเทศ เจ้าของ และผู้ประกอบการเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้รับ”

 

ภาพจาก: ภาพประกอบโดย ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button