เอาชีวิตรอดจาก น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยพบว่า หมู่เกาะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำและผู้อยู่อาศัยของประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กหลายประเทศ เช่น คิริบาตีและตูวาลู ได้เตือนว่าสภาพอากาศที่รุนแรงเป็นภัยคุกคามต่อบ้านเกิดของตน พวกเขาต่างกลัวว่าประเทศของตนจะจมหายไปภายใต้ทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 สรุปได้ว่าเกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่ต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อสภาพอากาศที่รุนแรง สามารถปรับตัวและเพิ่มความสูงเหนือคลื่นที่รุกรานได้อย่างเป็นธรรมชาติ
งานวิจัยระยะเวลาสามปีที่นำโดยมหาวิทยาลัยพลีมัธ ของอังกฤษ ซึ่งศึกษาหมู่เกาะแนวปะการัง เช่น หมู่เกาะมัลดีฟส์และหมู่เกาะมาร์แชลล์ พบว่ากระแสน้ำพัดนำตะกอนมาทำให้เกิดการยกขึ้นสูง ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจคงให้หมู่เกาะอยู่อาศัยต่อไปได้ “การอภิปรายที่โดดเด่นคือเกาะจมน้ำ และผลที่ตามมาคือการป้องกันชายฝั่งและการย้ายถิ่นฐาน … แต่เราคิดว่าเกาะมีหนทางพัฒนามากกว่านั้น” นายเกิร์ด แมสซิลลิงก์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีสัณฐานชายฝั่งมหาวิทยาลัยพลีมัธกล่าว
ภูมิปัญญาดั้งเดิมได้ถือว่าประเทศหมู่เกาะที่มีพื้นที่ต่ำมีความเสี่ยงสูงสุดจากพายุที่มีกำลังแรงและมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางประเทศเหล่านี้กำลังเตรียมตัวที่จะตั้งถิ่นฐานคนของพวกเขาใหม่ภายในเวลาหลายสิบปี หลายประเทศกำลังสร้างกำแพงทะเล ย้ายหมู่บ้านชายฝั่งไปยังพื้นที่สูงขึ้น ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือจัดตั้งโครงการเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่หมู่เกาะแนวปะการังนับหมื่นแห่งของโลกเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณ 1 ล้านคน โดยยังชีพด้วยการประมงหรือการท่องเที่ยวเป็นหลัก นายแมสซิลลิงก์กล่าว
สภาพอากาศและรูปแบบคลื่นที่แตกต่างกันจะสร้างเกาะที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มที่จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก พื้นดินต่ำ และเป็นทรายหรือกรวดอยู่เหนือแนวปะการังที่มีชีวิต เขาตั้งข้อสังเกตว่าเกาะเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อหลายแสนปีก่อนโดยคลื่นที่พัดนำเศษปะการังหรือตะกอนขึ้นมาทับถมกัน ซึ่งเป็นกลไกป้องกันทางธรรมชาติที่ยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแนวปะการังและเกาะจำลองในถังทดลองที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และใช้การจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองการตอบสนองของเกาะดังกล่าวต่อน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าด้วยการเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่ทนทานต่อน้ำท่วมเป็นครั้งคราว เช่น อาคารบนเสายกสูงและบ้านเคลื่อนที่ได้ ชาวเกาะที่มีพื้นที่เพียงพอสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ นายแมสซิลลิงก์กล่าว นายแมสซิลลิงก์กล่าวว่าการขุดลอกทรายปะการังและตะกอนที่พบในทะเลสาบของเกาะและย้ายไปยังชายหาดยังเป็นการช่วยกระบวนการทางธรรมชาติในการยกเกาะให้สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม กำแพงทะเลกำลังส่งผลกระทบต่อความสามารถทางธรรมชาติของหมู่เกาะในการปรับตัวให้เข้ากับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น “หากคุณหยุดไม่ให้เกาะถูกน้ำท่วม คุณก็หยุดการเคลื่อนย้ายของตะกอนบนเกาะด้วย” นายแมสซิลลิงก์กล่าว เกาะปะการังส่วนใหญ่ไม่อาศัยการเกษตรและการนำเข้าอาหารและน้ำจืด ทำให้การปนเปื้อนของน้ำเค็มในช่วงน้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาหลัก
นายฮิเดกิ คานามารุ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในอินโดแปซิฟิก กล่าวว่างานวิจัยให้มุมมองใหม่ถึงวิธีการที่ประเทศหมู่เกาะจะรับมือกับความท้าทายของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รอยเตอร์