เรื่องเด่น

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกกระแสตีกลับ

ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะควบคุมการเล่าเรื่องราวทั่วโลกกำลังย้อนเข้าตัวเป็นทวีคูณ จนทำให้ผู้รับสารกลุ่มเป้าหมายกล้าท้าทายอำนาจของพรรค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

รรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังต่อสู้ในสงครามสารสนเทศกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอย่างไม่ยั้งมือ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการรณรงค์ของพรรคกำลังเสื่อมถอย และกระตุ้นให้เกิดกระแสตีกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งลดทอนอิทธิพลของพรรค

แม้ว่าทุก ๆ ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับความพยายามโฆษณาชวนเชื่อทั่วทั้งเครือข่ายแพลตฟอร์มมัลติมีเดียและเครื่องมือทรงอานุภาพอื่น ๆ แต่จำนวนประชากรที่ปฏิเสธสารดังกล่าวของพรรคกลับมีเพิ่มขึ้น ความล้มเหลวในการครอบงำของรัฐบาลจีนแผ่ขยายเป็นวงกว้างในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา และยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายเหตุการณ์ เช่น การเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ในไต้หวัน และการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องในฮ่องกง

โดยส่วนใหญ่แล้ว การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับให้ผลตรงข้าม เพราะขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สารและคำมั่น
ต่าง ๆ ล้วนขัดแย้งกับสิ่งที่ประชาชนพบเจอในทุกวัน นักวิเคราะห์กล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ค่านิยมหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังทำให้พรรคหน้ามืดตามัวจนไม่เห็นความกระหายสงครามและความจองหองที่อยู่ในสารที่ตนสื่อ ซึ่งเผยเจตนาในการตั้งตนเป็นใหญ่ของพรรคออกมา ต่อให้ความจองหองและความกระหายสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปลี่ยนเป็นความพยายามอย่างรอบคอบที่จะแสดงถึงปณิธานและความพร้อมพรักที่เหนือชั้นในการใช้กองกำลังแล้ว ผลก็ยังเป็นแง่ลบอยู่ดี การใช้ยุทธวิธีบีบบังคับและกดขี่เช่นนั้น มีแต่จะลดทอนอำนาจการส่งสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในต่างประเทศและภายในประเทศเอง

การเผชิญหน้าไวรัสโคโรนา

วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาปลุกให้ผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตาสว่าง และมองเห็นผลสืบเนื่องเชิงลบจากรัฐบาลเผด็จการของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนปิดปากผู้ออกมาพูดความจริงอย่าง ดร. หลี่ เหวินเหลียง จักษุแพทย์ของเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเสียชีวิตจากโควิด-19 ในเวลาต่อมา โลกจึงได้เห็นอันตรายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการพูด การรณรงค์ทางสื่ออย่างชาญฉลาดและข้อความที่หลั่งไหลไม่ขาดสายจากฝูงชนในโลกออนไลน์ที่จ้างมาและบอทอัตโนมัติ ไม่ว่าจะซับซ้อนหรือใหญ่โตเพียงใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงหรือการรับรู้ที่ว่า รัฐบาลจีนปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาด ทั้งด้านแหล่งกำเนิด ความรุนแรง และวิธีการแพร่ระบาด ไม่เพียงจากทั่วโลกแต่ยังปกปิดข้อมูลเหล่านั้นจากประชาชนตลอดจนพยายามปกปิดการกระทำที่มิชอบของพรรคด้วย

“ในประเทศจีน เมื่อแพทย์และนักข่าวออกมาเตือนถึงอันตรายของโรคใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะปิดปากและทำให้คนเหล่านั้นหายตัวไป แล้วกุเรื่องมาหลอกเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมและขอบเขตการระบาด” นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เรื่อง “การโฆษณาชวนเชื่ออันน่ารังเกียจ” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563

หญิงสาวสวมหน้ากากอนามัยในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เดินผ่านโปสเตอร์นายแพทย์หลี่ เหวินเหลียง จักษุแพทย์ชาวจีนที่เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาที่โรงพยาบาลในอู่ฮั่น รอยเตอร์

ไวรัสโคโรนา “ได้ลบล้างเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับฉันทามติของรัฐบาลจีน” นายวีเจย์ โกคาเล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ซึ่งเกษียณอายุใน พ.ศ. 2563 เขียนไว้ในเว็บไซต์สตราทนิวส์โกลบอล เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ความคิดเห็นของนายโกคาเลอ้างถึงการปกครองรูปแบบเผด็จการของจีน ซึ่งรับปากเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่ไม่มีความโปร่งใส ความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน และสถาบันประชาธิปไตย 

“แม้ทางการจีนจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบของตนรับมือกับเหตุฉุกเฉินระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กระทั่งประเทศที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลกยังรับรู้ถึงความล้มเหลวของจีน” นายโกคาเลเขียน “ครั้งนี้จะย้อมแมวขายไม่ง่ายนัก ในท้ายที่สุดก็ส่งผลร้ายต่อแม้แต่คนที่คุณไม่คาดคิด”

ความพยายามของจีนที่จะกล่าวโทษสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ
เกี่ยวกับภาวะการระบาดใหญ่ในเมืองอู่ฮั่น ก่อให้เกิดความรังเกียจที่จะคงอยู่ไปอีกนาน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดต่อการพูดเป็นนัยของนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ว่านายทหารของสหรัฐฯ เป็นผู้นำไวรัสมาสู่จีน หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ได้รายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ว่า จีนพยายามโหมข่าวลือในทำนองเดียวกันว่าไวรัสอาจมีต้นกำเนิดในยุโรป โดยน่าจะเกิดที่อิตาลี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานเฝ้าระวังการบิดเบือนข้อมูลของสหภาพยุโรปได้ออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ความพยายามของจีนที่จะยกตนเป็นวีรบุรุษในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนายังส่งผลตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพบว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันที่ส่งมอบให้แก่หลายประเทศมีข้อบกพร่อง แม้กระทั่งอุปกรณ์ที่ประเทศเหล่านั้นจ่ายเงินซื้อมาก็ตาม
สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน รวมถึงประเทศอื่น ๆ
ต้องเรียกคืนหน้ากากและชุดตรวจที่มีข้อบกพร่องจากจีน ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์เพิ่มเติมยังเผยว่า ในระหว่างภาวะการระบาดใหญ่ จีนพยายามควบคุมการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้แก่นานาประเทศ โดยเก็บอุปกรณ์ที่ดีที่สุดไว้ใช้เอง

อย่างไรก็ตาม การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้หยุดอยู่แค่การยกยอตนเอง แต่ยังมีการป้ายสีประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลาง ไปจนถึงอเมริกาใต้ “ในฝรั่งเศส สถานทูตจีนได้เผยแพร่ข้อความประณามอย่างรุนแรงในเว็บไซต์ของตนว่า บ้านพักคนชราของฝรั่งเศสปล่อยให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต” นายอันเดรส คลูธ นักเขียนคอลัมน์ของบลูมเบิร์กอธิบาย “ในอิตาลี หุ่นเชิดของจีนหรือผู้ใช้ปลอมในโลกออนไลน์ได้กระจายข่าวลือว่าความจริงแล้วไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดในยุโรป หรือทำคลิปวิดีโอเท็จเพื่อแสดงว่าชาวโรมเล่นเพลงชาติจีนอย่างซาบซึ้ง ในเยอรมนี นักการทูตจีนเร่งเร้าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประโคมคำชมเชยจีนต่อสาธารณชน (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ)” 

นางลูเครเซีย ป็อกเก็ตตี นักวิจัยที่สถาบันเมอร์คาทอร์ ภาควิชาประเทศจีนศึกษา ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กล่าวกับเดอะวอชิงตันโพสต์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ว่า แนวปฏิบัติของจีนกระตุ้นให้หลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต้องกลับมาประเมินการพึ่งพาสิ่งของอุปกรณ์ด้านสุขภาพและความมั่นคงที่สำคัญจากจีนอีกครั้งในทันที “จะมีการคิดบัญชีหลังภาวะการระบาดใหญ่สิ้นสุดลง” นางป็อกเก็ตตีกล่าว ประเทศอื่น ๆ เช่น สาธารณรัฐเช็กและอินเดียที่พลาดท่าเสียทีในวิกฤตไวรัสโคโรนาของจีน เริ่มหาหนทางสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งขึ้นกับไต้หวัน

ป้ายเขียนว่า “ความผิดของจีน” เพื่อกล่าวโทษว่า จีนเป็นแหล่งต้นตอการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ป้ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงหน้าสถานกงสุลจีนในกรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 รอยเตอร์REUTERS

ความรู้สึกเชิงลบโดยรวมต่อจีนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการภาวะการระบาดใหญ่ได้ไม่ดี “ความรู้สึกต่อต้านจีนลุกลามอยู่แล้วในประเทศกำลังพัฒนาก่อนหน้าที่จะเกิดไวรัสโคโรนา เนื่องจากปัญหาที่มีมากตามหนี้สินที่เพิ่มขึ้น สื่อจีนที่เป็นศัตรูตัวฉกาจ และการต่อสู้ในโลกออนไลน์ รวมถึงการที่จีนกักขังชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวนมาก การรับมือกับการระบาดใหญ่ในช่วงแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ย่ำแย่อย่างเห็นได้ชัดนั้นยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟ” นายชาร์ลส์ ดันสต์ ผู้ร่วมงานที่แอลเอสอี ไอเดียส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านนโยบายระหว่างประเทศประจำวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน กล่าว 

จีนได้ขยายวงเงินกู้ให้หลายประเทศเพื่อทำโครงการที่ไม่มีทางใช้หนี้ได้ทันเวลา เช่น โครงการที่บีบให้ศรีลังกาจำต้องยอมยกท่าเรือฮัมบันโตตาให้จีนใช้เป็นเวลา 99 ปี ในช่วงปลาย พ.ศ. 2560 

“จิบูตี คีร์กีซสถาน ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย ปากีสถาน และทาจิกิสถาน ต่างเป็นหนี้จีนมากกว่าร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และมีความเสี่ยงที่จะต้องยกการควบคุมพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลจีนในทำนองเดียวกัน สำหรับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งอีก 24 ประเทศที่เป็นหนี้จีนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแล้ว ภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาถือเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยอย่างชัดแจ้ง” นายดันสต์เขียน 

ประเทศในทวีปแอฟริกาครึ่งหนึ่งจาก 50 ประเทศแรกที่ติดหนี้จีนมากที่สุดพบว่า ตนกำลังเผชิญกับความตึงเครียดที่คล้ายกันจากจีน เนื่องด้วยนับตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จีนเลื่อนการผ่อนผันหนี้ให้แก่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากการที่จีนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส 

จุดบอดของการใช้อำนาจครอบงำ

นักวิเคราะห์อธิบายว่า บ่อยครั้งที่ความกระหายสงครามทางการทูตของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเรียกร้องความจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไขก่อให้เกิดผลย้อนกลับ เพราะการรณรงค์ดังกล่าวสร้างความขุ่นเคืองให้แก่พลเมืองจากประเทศอื่น ๆ เช่น มิวสิควิดีโอชิ้นหนึ่งที่ออกมาในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เพื่อเน้นให้เห็นความพยายามของจีนในการช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่กลับกลายเป็นการกระตุ้นความโกรธแค้นให้แผ่ขยายไปทั่ว เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากตีความว่าเป็น “ความพยายามโดยนัยของรัฐบาลจีนที่จะยืนยันการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหมด” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ วิดีโอดังกล่าวปรากฏขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจากที่ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องประท้วงทางการทูตต่อจีน ในประเด็นการสร้างเขตใหม่สองเขตที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสากล เพื่อบริหารจัดการเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์  

ในคำวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 นายโจ คิม ผู้สื่อข่าวได้อธิบายไว้ว่า “แม้ว่าการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านในการทำสงครามเรื่องเล่าที่พัฒนาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบอาจเสริมสร้างความเป็นชาตินิยมในประเทศจีนได้ แต่ท่าทีที่กระหายสงครามเช่นนั้นขัดแย้งต่อภาพลักษณ์ ‘มหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ’ ที่จีนพยายามจะสร้างขึ้นและบ่อนทำลายวิสัยทัศน์ของนายสี เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่จะ ‘สร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันให้แก่มนุษยชาติ'”

“การบีบบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการ ‘หาศัตรูและรวมแนวหน้า’ ก่อให้เกิดสถานการณ์ ‘จีนปะทะทุกประเทศ’ และทำให้ความเป็นพันธมิตรหดหาย เหนือสิ่งอื่นใด วัตถุประสงค์ของการโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่การทำให้ผู้รับสารตีตัวออกห่าง” นายคิมเขียน อย่างไรก็ตาม ในการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อระหว่างภาวะการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ของบราซิล อิรัก และไนจีเรีย ตลอดจนศรีลังกาอย่างเปิดเผย

“ในกรณีที่มีการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สงครามสารสนเทศของรัฐบาลจีนในเวทีสากลอาจไม่ได้ผลดีอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามสารสนเทศของจีนจะย่ำแย่จนมองข้ามได้” นายคุนิ มิยาเกะ ประธานสถาบันนโยบายต่างประเทศ และผู้อำนวยการวิจัยของสถาบันแคนนอนเพื่อการศึกษาทั่วโลก เขียนในบทวิจารณ์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ในหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ 

“น่ายินดีที่รัฐบาลจีนไม่ประสบความสำเร็จในการเบี่ยงเบนการวิพากษ์วิจารณ์ในประชาคมนานาชาติว่าจีนทำให้เกิดภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการควบคุมข้อมูลข่าวสารภายในประเทศของจีนจะแย่ตามไปด้วย เราไม่ควรประมาททักษะของรัฐบาลจีนในการควบคุมกระแส ปริมาณ และคุณภาพของข้อมูลภายในจักรวรรดิจีนสมัยใหม่” นายมิยาเกะกล่าว “ผู้คนบางส่วนในโตเกียวอาจคาดหวังว่า การระบาดครั้งนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่สุด แต่ก็เป็นเพียงความคาดหวังเท่านั้น ตราบใดที่รัฐบาลจีนสามารถควบคุมสารสนเทศภายในได้อย่างเหนียวแน่น ประเทศเผด็จการแห่งนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้ อำนาจเผด็จการก็เป็นเช่นนี้เอง”

พันธมิตรชานม เครือข่ายการต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนในสื่อสังคมออนไลน์ ได้สร้างรูปภาพเช่นนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พันธมิตรกลุ่มนี้ตั้งชื่อจากความหลงใหลร่วมกันของสมาชิกในเครื่องดื่มชา ซึ่งเป็นที่นิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ นอกเหนือจากจีน ทวิตเตอร์

ความล้มเหลวในมาตุภูมิ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณต่าง ๆ บ่งชี้ว่า โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ผลตรงข้ามมากขึ้นเรื่อย ๆ กับคนในประเทศเช่นกัน ซึ่งทำให้พลเมืองจีนบางส่วนแคลงใจต่อผู้มีอำนาจ ในปีที่ผ่านมา การบอกเล่าเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายในประเทศต้องสะดุดลงเพราะภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างหนัก และการส่งสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขัดแย้งกับความเป็นจริงที่พลเมืองจีนประสบ นายฟู่ คิงหัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเซ็นเซอร์ของจีนที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่แย่กว่านั้นคือ จีนปฏิเสธว่าไม่ได้ตกลงโดยนัยกับประชาชนที่ยอมแลกสิทธิส่วนบุคคลกับความมั่นคงปลอดภัย จึงทำให้ประชาชนเหล่านั้นแคลงใจถึงความสามารถในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นักวิเคราะห์กล่าว

จีนไม่สามารถยับยั้งความจริงเรื่องจำนวนพลเมืองที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส เมื่อพิจารณาจากปริมาณการพูดคุยทางออนไลน์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกการรักษาผู้ป่วยที่น่าตกใจ เรื่องศพที่กองพะเนิน และซากศพที่เผาไปแล้วแต่ยังจัดการไม่เรียบร้อย “การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาโดยใช้วิธีที่หลักแหลมอย่างที่นักวิจารณ์ใช้เพื่อเลี่ยงการตรวจพิจารณา เช่น การเปรียบเทียบการระบาดกับมหันตภัยเชอร์โนบิล ทำให้รัฐบาลจีนควบคุมข่าวสารได้ยาก” นายเรย์มอนด์ จง นักหนังสือพิมพ์ เขียนในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

“สื่อสังคมออนไลน์ของจีนเต็มไปด้วยความเดือดดาล ไม่ใช่เพราะไม่มีการเซ็นเซอร์ในหัวข้อนี้ แต่เป็นเพราะมีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดต่างหาก” นายเซียว เฉียง นักวิทยาศาสตร์การวิจัยที่คณะสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กลีย์ กล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทมส์ “ยังคงเป็นไปได้ว่าจะมีการเพิ่มการเซ็นเซอร์อย่างกะทันหันอีกครั้ง เนื่องจากทางการพยายามควบคุมการบอกเล่าข่าวสาร” นายเซียว ผู้ก่อตั้ง ไชน่าดิจิทัลไทมส์ เว็บไซต์ที่ติดตามการควบคุมอินเทอร์เน็ตของจีน กล่าว

ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อเซ็นเซอร์และชักใยการบอกเล่าเรื่องราวยังประสบความล้มเหลวในประเทศของตนด้วย เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความล้มเหลวในการให้สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์เปิดตัวสองพี่น้อง “ไอดอลเสมือนจริง” เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ “การเปิดตัวดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในทันทีจากผู้ใช้งานเว่ยป๋อ ที่ตำหนิองค์กรดังกล่าวว่าเล่นกลปาหี่ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของจีนตกต่ำ” เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงาน “ในขณะที่ผู้คนอดทนอดกลั้นอย่างทุกข์ทรมานในการประจัญหน้ากับโรคระบาด ทำไมคุณยังมัวเสียเวลาอยู่กับไอดอลสองมิตินี่” ผู้ใช้งานเว่ยป๋อเขียน ตามรายงานของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ผู้ใช้อีกรายในเว่ยป๋อโพสต์ต่อว่าสันนิบาตดังกล่าวว่า “สิ้นเปลืองทรัพยากรและเพิกเฉยต่อความหายนะของชาติ” 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงรีบลบข้อความดังกล่าวทิ้ง

แทนที่จะเป็นวีรบุรุษเสมือนจริงที่นำกระแส การรณรงค์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการกดขี่สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในช่วงไวรัสโคโรนา กลับสร้างวีรบุรุษตัวจริงที่สนับสนุนนักสู้รุ่นใหม่ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน “หากเราเป็นผู้ตีแผ่ความจริงอย่างนายแพทย์หลี่ เหวินเหลียงไม่ได้ ก็ขอเป็นคนที่สามารถรับฟังการตีแผ่ความจริงนั้น” นายเหยียน เหลียนเคอ นักเขียนนวนิยายที่อยู่ในปักกิ่ง กล่าวในระหว่างการบรรยายที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ หนังสือและเรื่องสั้นของนายเหยียนเป็นแนวเสียดสี ซึ่งส่งผลให้ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาบางส่วนถูกสั่งห้ามเผยแพร่ในจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายเหลียนยอมเซ็นเซอร์ตนเองในขณะที่เขียนเรื่องราวต่าง ๆ “ถ้าเราอ้าปากพูดดัง ๆ ไม่ได้ อย่างนั้นเรามากระซิบคุยกัน” นายเหยียนกล่าว “ถ้าเรากระซิบคุยกันไม่ได้ อย่างนั้นเรามาเป็นคนไม่มีปากไม่มีเสียงที่จดจำและเก็บความทรงจำไว้ มาเป็นคนที่จำฝังใจกัน”

ตำรวจกึ่งทหารของจีนยืนประจำการใกล้จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การปฏิเสธการเลือกตั้งของไต้หวัน

การเลือกตั้งของไต้หวันเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผู้ลงคะแนนเสียงต่อต้านความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะชักจูงและแทรกแซงการลงคะแนนเสียงอย่างหนักนั้น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดซึ่งแสดงถึงอิทธิพลที่ลดลงของเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แม้จะมีการแทรกแซงอย่างมากจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนและใช้มาตรการบีบบังคับเพื่อให้ไต้หวันมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตน 

แฮกเกอร์ บอตบิดเบือนความจริง และบริการไมโครบล็อกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใช้ไม่ได้ผลกับประชาชนและผู้นำทางการเมืองที่คุ้นชินกับยุทธวิธีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคุ้นเคยกับการตอกกลับการโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลเท็จ นายโจชัว เคอร์ลานซิค นักวิชาการอาวุโสของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขียนลงในเว็บไซต์ของสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่า “จีนมีประวัติศาสตร์เข้าไปแทรกแซงในไต้หวันมาอย่างยาวนาน”

อัยการของไต้หวันกล่าวว่า การขยายยุทธการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เผยออกมาในเดือนเดียวกัน เมื่อมีการควบคุมตัวผู้บริหารสองคนจากบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งต้องสงสัยว่าละเมิดพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน รอยเตอร์รายงานว่า ผู้แปรพักตร์จากจีนรายหนึ่งอ้างว่าผู้ต้องสงสัยสองคนเคยทำงานเพื่อควบคุมสื่อไต้หวันให้ชักจูงผลการเลือกตั้งต่าง ๆ นายหวัง “วิลเลียม” หลี่เฉียง ผู้ขอลี้ภัยและอ้างตนว่าเคยเป็นสายลับของจีน กล่าวผ่านล่ามในรายการโทรทัศน์ 60 มินิทส์ ของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่า “ไต้หวันเป็นงานที่สำคัญที่สุดของเรา ซึ่งก็คือการแทรกซึมเข้าไปในสื่อ วัด และองค์กรระดับรากหญ้า” ซีเอ็นบีซีรายงาน รอยเตอร์รายงานว่า นายหวังให้ข้อมูลยืนยันแก่องค์กรข่าวกรองเพื่อความมั่นคงของออสเตรเลีย เกี่ยวกับกิจกรรมสร้างอิทธิพลทางการเมืองของจีนในออสเตรเลีย ฮ่องกง และไต้หวัน

นายริชาร์ด บุช นักวิชาการจากสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า ในไต้หวัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปลี่ยนจากวิธีการโน้มน้าวเป็นวิธีการบีบบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรงมาเป็นเวลานานแล้ว ในบางครั้งก่อนการเลือกตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ “กลุ่มป่วนความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต” เพื่อสร้างบัญชีในเว่ยป๋อ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ เพื่อทำ “สงครามแย่งชิงพื้นที่ทางการรับรู้” ตามรายงานของไต้หวันนิวส์ หนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เช่น กองทัพ 50-เซนต์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งประกอบด้วยพลเมืองเครือข่ายที่ได้รับการว่าจ้างเพียงในนามให้แสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ได้โจมตีเว็บไซต์ในไต้หวันอย่างน้อย 2,500 ครั้งต่อวันเป็นประจำ ตามรายงานในเอเชียรีพอร์ต ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ของไต้หวัน จีนยังใช้ยุทธวิธีรุกรานอื่น ๆ เช่น การชิงพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันไป การจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่เดินทางไปยังไต้หวัน และการเพิ่มการฝึกซ้อมทางทหารของกองทัพอากาศและกองทัพเรือในพื้นที่เพื่อก่อกวนไต้หวัน ตามที่นางบอนนี เกลเซอร์ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการอาวุโสของโครงการอำนาจจีนแห่งสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าว

นักเคลื่อนไหววัยเรียนชาวไทยแจกคุกกี้ชานมในเยาวราช กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปราม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ พ.ศ. 2522 ทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปลดนางไช่นั้นเป็นการก้าวสู่ระดับใหม่ของการชักใยทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วยส่งเสริมนายหาน กั๋วหยู ผู้สมัครฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีนซึ่งท้าชิงตำแหน่งกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันใน พ.ศ. 2563 นักวิเคราะห์กล่าวหาว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนบงการสื่อไต้หวันในระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2561 เพื่อช่วยให้นายหาน ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีในเกาสง เพื่อให้สามารถช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในภายหลัง พรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าจ้างกลุ่มไซเบอร์มืออาชีพที่อยู่ในจีน เพื่อช่วยให้นายหานได้รับชัยชนะในการชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นิตยสารฟอเรนโพลิซีรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 

ในการชิงตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นอกจากนางไช่จะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายแล้ว ผู้ลงคะแนนเสียงในเมืองเกาสงยังได้ทำให้นายหานพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีหกเดือนให้หลังในเดือนมิถุนายนอีกด้วย จำนวนการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนนายหานพุ่งทะลุเกณฑ์ที่กำหนดไปมาก ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส นักวิเคราะห์ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการถอดถอนซึ่งเป็นการลงคะแนนเสียงในลักษณะดังกล่าวครั้งแรกของไต้หวัน ว่าเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของความแข็งแกร่งและความรับผิดชอบของประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส รายงาน

ทั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบันและสำนักข่าวกรองแนวหน้าของไต้หวันต่างออกคำเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวของจีน และริเริ่มกฎหมายใหม่เพื่อต่อกรกับการแทรกซึมจากต่างประเทศและการแทรกแซงทางการเมืองในกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อเป็นการต่อต้านสงครามสารสนเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไต้หวัน “รัฐบาลจีนตั้งใจโจมตีไต้หวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาก้าวก่ายการลงคะแนนเสียง รัฐบาลขอประณามเรื่องดังกล่าวและเรียกร้องให้ประชาชนยึดมั่นในอำนาจอธิปไตย รวมทั้งคุณค่าของอิสรภาพและประชาธิปไตย” นายโจเซฟ วู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ตามรายงานของรอยเตอร์

แพลตฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ ตื่นตัวอย่างมากในการตรวจสอบข่าวเท็จเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เฟซ
บุ๊กระบุว่าได้ลบบัญชี เพจ และกลุ่มต่าง ๆ ที่การละเมิดมาตรฐานของเฟซบุ๊กไป 200 รายการ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับข่าวเท็จของการเลือกตั้งในไต้หวัน นอกจากนี้ กลุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงในไต้หวันยังได้จัดสัมมนา รวมถึงสร้างเว็บไซต์และห้องสนทนาเพื่อช่วยให้ผู้ลงคะแนนเสียงรู้ว่าข่าวใดเป็นข่าวเท็จ ตามรายงานของรอยเตอร์

พันธมิตรชานม

อีกตัวอย่างหนึ่งในการส่งสารที่ย่ำแย่ลงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ การอุบัติขึ้นของเครือข่ายการต่อต้านในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่รู้จักในชื่อ พันธมิตรชานม ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากความหลงใหลร่วมกันในเครื่องดื่มชายอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ นอกเหนือจากจีน 

ดาราไทยสองคนที่แสดงละครโทรทัศน์ไทยซึ่งเป็นที่นิยมและออกอากาศในจีนด้วย ถูกกองทัพออนไลน์ของจีนเพ่งเล็งเนื่องจากสนับสนุนเอกราชของฮ่องกงและไต้หวันในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ของตน ชาวไทยจึงโต้กลับโดยการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรออนไลน์ข้ามพรมแดนที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงได้โพสต์ภาพคนชนแก้วชานมสามแก้ว และเรียกร้องให้ชาวเอเชียทั้งผองร่วมใจกัน “เพื่อขจัดลัทธิอำนาจนิยมทุกรูปแบบจากจีน” แฮชแท็ก #พันธมิตรชานม และ #ชานมข้นกว่าเลือด ปรากฏในทวิตเตอร์กว่าล้านครั้ง 

เครือข่ายรวมกลุ่มเอเชียสะท้อนความแตกต่างระหว่างความคิดเห็นของทางการกับความคิดเห็นของประชาชนในประเทศเหล่านี้เมื่อพูดถึงจีน นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกา “รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประชาชนในประเทศตนเองมีท่าทีที่แตกต่างกัน” นายฐิตินันท์กล่าว “ตามจริงแล้ว รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นสนับสนุนจีน เช่น ฟิลิปปินส์และไทย”

สิ่งที่เริ่มต้นจากการโจมตีเล็ก ๆ ทางออนไลน์โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้ #พันธมิตรชานม และภาพล้อของเรื่องดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมใจระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ฮ่องกง ไต้หวัน และที่อื่น ๆ เพื่อต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่บีบบังคับของจีน ในหลายสัปดาห์และหลายเดือนต่อมา ผู้ใช้ในฟิลิปปินส์ได้เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือในโลกออนไลน์นี้ เพื่อแสดงการคัดค้านต่อการจัดกำลังทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ชาวออสเตรเลียและชาวอินเดียยังเข้าร่วมการต่อสู้ในโลกออนไลน์นี้ด้วยเพื่อคัดค้านการรุกรานของจีน

นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า พันธมิตรออนไลน์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการหารือที่มีประสิทธิภาพในบรรดากลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยข้ามภูมิภาค “เมื่อศัตรูร่วมของคุณยิ่งใหญ่เทียบเท่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน อำนาจซึ่งมาจากการรวมตัวกันจึงได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ” นายแดน แม็คเดวิทท์ นักวิจัยด้านเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเว็บไซต์แอ็กซิออส ความเป็นพันธมิตรดังกล่าวนำไปสู่ “การตระหนักรู้ ความสนใจ และความเห็นใจที่เพิ่มขึ้น” ทั่วทั้งภูมิภาค นายแม็คเดวิทท์กล่าว “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพันธมิตรต้องเผชิญการฟันฝ่าเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในมาตุภูมิ”

มีหลักฐานปรากฏแล้วว่าพันธมิตรดังกล่าวอาจสร้างผลสืบเนื่องในชีวิตจริง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 นักเคลื่อนไหววัยเรียนชาวไทยได้อบคุกกี้รูปประตูเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง และรูป “ชายผู้ยืนขวางรถถัง” อันโด่งดัง และยืนแจกคุกกี้เหล่านี้หน้าสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงเทพมหานครเนื่องในวันครบรอบการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เว็บไซต์สำนักข่าวข่าวสดอิงลิชรายงาน โดยคุกกี้ดังกล่าวมีรสชานมที่สื่อถึงพันธมิตรชานมด้วย ขณะเดียวกัน นางไช่ ประธานาธิบดีไต้หวันก็ได้ถ่ายทอดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฮ่องกงในโพสต์บนเฟซบุ๊ก อีกทั้งไต้หวันยังได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือชาวฮ่องกงที่ต้องการย้ายไปไต้หวัน อันเป็นผลมาจากการที่จีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่มีข้อจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพของประชาชน

นายแดนนี มาร์ค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกาว่า การหารือทางออนไลน์ได้พัฒนาไปสู่การประท้วงทางการเมืองในวงกว้างขึ้น เนื่องจากผู้อยู่อาศัยในประเทศเหล่านี้เริ่มไม่พอใจกับการกระทำฝ่ายเดียวของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ “นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันจำกัดจำเขี่ยของจีนในการทำสงครามทางอินเทอร์เน็ต” นายมาร์คกล่าว “ก่อนหน้านี้ พวกเขาได้รับคำยกยอจากอินเทอร์เน็ตของจีนฝ่ายเดียว”

ความล้มเหลวของสารที่ส่ง

แม้ว่าสงครามโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าการรณรงค์ต่าง ๆ จะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคมีแต่จะแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธวิธีในระหว่างภาวะการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในต่างประเทศและต่อหน่วยงานในจีนเอง

“การที่จีนเริ่มควบคุมไวรัสได้และเริ่มการทูตด้านสุขภาพนี้ อาจเป็นโอกาสให้จีนสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจ รวมถึงสร้างความไว้วางใจและกู้ชื่อเสียงของตนกลับคืนมาในฐานะผู้มีอำนาจระดับโลกที่มีความรับผิดชอบ” นางซูซาน เชอร์ก นักวิชาการด้านประเทศจีนและผู้อำนวยการศูนย์จีนแห่งศตวรรษที่ 21 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานดิเอโก กล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทมส์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 “แต่ความพยายามทางการทูตถูกช่วงชิงไปโดยกรมประชาสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีความพยายามแน่วแน่มากกว่าในการใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของตน เพื่อให้จีนได้รับการยกย่องในฐานะประเทศ ระบอบ และผลงานของประเทศในการหยุดการแพร่กระจายของไวรัส”

ยิ่งกว่านั้น กระแสตีกลับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นยังมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามกระตุ้นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อด้วยข่าวเท็จและการบิดเบือนข้อมูล อีกทั้งยังใช้การทำลายเสถียรภาพของประเทศต่าง ๆ ด้วยนโยบายอันไร้ความปราณี ซึ่งมีแต่จะทำให้ประเทศเหล่านั้นย่ำแย่ลงในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา ในช่วงเวลาที่โลกต้องการภาวะผู้นำและความเห็นอกเห็นใจ ผู้นำของจีนกลับไม่แสดงสิ่งดังกล่าวให้เห็น นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับเผยเป้าหมายในการมีอำนาจครอบครองโลกของตนออกมาแทน แม้ว่าจะต้องทำให้พลเมืองของประเทศอื่นหรือแม้แต่พลเมืองของตนเองเดือดร้อนก็ตาม สารเหล่านั้นส่งถึงมือผู้รับแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button