ติดอันดับ

ดัชนีโลกระบุว่า พลเมืองจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าการทุจริตของรัฐบาลยังคงเป็นปัญหาใหญ่

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

นานเกือบทศวรรษหลังจากที่รัฐบาลระบอบคอมมิวนิสต์สัญญาว่าจะดำเนินการปราบปรามเพื่อต่อต้านการทุจริต แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน “ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ” เพื่อต่อสู้กับการติดสินบนและการรับอามิสสินจ้างอื่น ๆ ตามรายงานของดัชนีสากลใหม่

“จีนจำเป็นต้องเร่งจัดวางระบบในทันทีเพื่อลดการติดสินบนในหน่วยงานภาครัฐ” กลุ่มผู้สนับสนุนองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุไว้ในดัชนีการรับรู้การทุจริตที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564

จีนได้คะแนน 42 คะแนนในดัชนีรายปี ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของนิวซีแลนด์ที่ทำได้ 88 คะแนน ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในอินโดแปซิฟิกและเสมอกันกับเดนมาร์กในอันดับสูงสุดจากทั้งหมด 180 ประเทศและเขตแดน ดัชนีวัดระดับการรับรู้การทุจริตของภาครัฐที่วัดจากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ โดย 0 คือทุจริตสูง และ 100 คือสุจริตมาก

จีนไม่สามารถทำคะแนนเทียบเท่าคะแนนเฉลี่ยสากลที่ 43 คะแนน หรือคะแนนเฉลี่ยอินโดแปซิฟิกที่ 45 คะแนน โดยที่จีนอยู่อันดับ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมดในดัชนีดังกล่าว

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า พลเมืองจีนในจำนวนมหาศาลถึงร้อยละ 62 เชื่อว่าการทุจริตของรัฐบาลยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยมีร้อยละ 28 กล่าวว่าตนมอบสินบนเพื่อรับบริการจากภาครัฐ นอกจากนี้ พลเมืองจีนร้อยละ 32 กล่าวว่าตนใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเพื่อให้ได้รับบริการจากภาครัฐด้วยเช่นกัน ดัชนีดังกล่าวระบุว่า “นี่หมายความว่าประชาชนจีนหลายร้อยล้านคน และประเทศจีนยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการ” เพื่อยับยั้งการทุจริต

ผลสำรวจดังกล่าวเผยแพร่เพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ในภาพ) กล่าวกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของพรรคว่า การทุจริตคือความเสี่ยงสูงสุดต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ “การต่อสู้ระหว่างการทุจริตและความพยายามต่อต้านการทุจริตจะยังคงมีอยู่เป็นระยะเวลายาวนานในอนาคต” นายสีกล่าวกับคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย ตามรายงานของเครือข่ายโทรทัศน์ภาคบริการโลกแห่งประเทศจีนที่ดำเนินการโดยภาครัฐเมื่อวันที่ 23 มกราคม

ตั้งแต่เป็นผู้นำพรรคเมื่อ พ.ศ. 2555 นายสีเริ่มต้นใช้สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรณรงค์เพื่อกวาดล้างการทุจริตของภาครัฐ ซึ่งการปราบปรามในเวลานั้นมีความโหดร้าย หนึ่งวันหลังจากที่ดัชนีโลกเผยแพร่ออกมา รัฐบาลจีนได้สั่งประหารอดีตผู้บริหารของบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ นายล่าย เสี่ยวหมิน ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนเป็นมูลค่าเกือบ 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.28 พันล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปราบปรามเช่นนี้ถือเป็นอาวุธที่ใช้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์พรรคได้ เช่นเดียวกับที่ใช้เป็นเครื่องมือนำความโปร่งใสและความยุติธรรมมาให้พลเมืองจีน นางซาราห์ คุก และนายเนท เชกคัน ผู้อำนวยการวิจัยกับศูนย์วิจัยฟรีดอมเฮาส์ ระบุในนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมตช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มุ่งเป้าไปที่อดีตเจ้าหน้าที่พรรคที่ขณะนี้อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงชาวฮ่องกง พลเมืองไต้หวัน และกลุ่มชาติพันธ์ุมองโกเลียที่ออกมากล่าวต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรค

“รัฐบาลจีนกระทำการถึงขั้นมุ่งที่จะควบคุมชาวต่างชาติที่ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย” นางซาราห์ คุกและนายเนท เชกคัน ระบุ

แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตตามสัญญา แต่สถานะของจีนในดัชนีนี้แทบไม่มีการเคลื่อนไหว โดยมีคะแนนเฉลี่ย 39 คะแนนและอยู่ที่อันดับ 83 นับตั้งแต่นายสีเป็นผู้นำพรรค

ประเทศอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกที่มีผลคะแนนในดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ระดับสูง ประกอบไปด้วยประเทศประชาธิปไตยอย่างสิงคโปร์และออสเตรเลียที่ได้รับคะแนน 85 และ 77 ตามลำดับ ในทางตรงข้าม เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีการทุจริตมากที่สุดในภูมิภาคด้วยคะแนน 18 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ใน 10 อันดับท้ายสุดจากทั่วโลก

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลกไม่สามารถ “รับมือกับการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งทำให้สถานการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาแย่ลง เนื่องจากมีการยักยอกเงินและการโจรกรรมเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และทรัพยากรช่วยชีวิตอื่น ๆ จากความพยายามของฝ่ายสาธารณสุข

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button