ติดอันดับ

อินโดนีเซียสั่งห้ามกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามหัวรุนแรง

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงประกาศว่า อินโดนีเซียสั่งห้ามกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลาม ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ชอบก่อปัญหาและมีอำนาจชักจูงสูง

นายมาห์ฟัด เอ็มดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง กล่าวว่า การสั่งห้ามกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลาม หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อย่อว่า เอฟพีไอ จะมีผลทันที

“รัฐบาลสั่งห้ามกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามและจะยับยั้งการดำเนินการทุกกิจกรรมของกลุ่มนี้” นายมาห์ฟัดกล่าว “กลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามไม่ถือว่าเป็นองค์กรที่มีสิทธิตามกฎหมายอีกต่อไป”

การสั่งห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายริซีก ชิฮาบ ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มนี้ (ในภาพ) ได้กลับมาจากการเนรเทศตนเองไปยังซาอุดีอาระเบียเป็นเวลา 3 ปีและมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายพันคนเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การที่นายริซีกกลับมายังประเทศซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกแห่งนี้ สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลว่านายริซีกอาจแอบกุมอำนาจควบคุมกองกำลังฝ่ายตรงข้าม

นายริซีกซึ่งมีอายุ 55 ปี ถูกจับกุมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ในข้อหาละเมิดมาตรการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ องค์การด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังสอบสวนการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้สนับสนุนของนายริซีก ซึ่งทำให้ผู้คุ้มกันของนายริซีกถูกยิงเสียชีวิต 6 ราย

นายมาห์ฟัดกล่าวว่า มีการสั่งยกเลิกกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แล้ว แต่กลุ่มนี้ยังคงดำเนินกิจกรรมอย่างผิดกฎหมายต่อไป

เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาล 6 คน ซึ่งรวมถึงอัยการสูงสุด อธิบดีกรมตำรวจ และหัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสั่งห้ามกลุ่มดังกล่าว นายมาห์ฟัดกล่าว

นายเอ็ดเวิร์ด โอมาร์ ชารีฟ ฮิอารีจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มีการสั่งห้ามกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามเนื่องจากหัวหน้า สมาชิก และอดีตสมาชิกของกลุ่มเกือบ 30 คนถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหาก่อการร้าย และเนื่องจากกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์และหลักปัญจศีลของประเทศซึ่งเน้นความสามัคคีและความหลากหลาย

กลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2541 หลังจากนายซูฮาร์โต อดีตผู้นำที่แข็งแกร่งของอินโดนีเซียลงจากตำแหน่งไม่นาน โดยกลุ่มนี้มีชื่อกระฉ่อนในเรื่องการบุกทลายบาร์และซ่อง รวมทั้งการข่มขู่ประชาชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักจากการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย

อิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากมีบทบาทในการประท้วงเมื่อ พ.ศ. 2559 เพื่อต่อต้านอดีตผู้ว่าราชการชาวคริสต์ของจาการ์ตาซึ่งถูกจำคุกในข้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

รัฐบาลมองว่า การประท้วงดังกล่าวเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการปกครองของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดี

ดร. เอียน วิลสัน ผู้บรรยายอาวุโสด้านการเมืองและความมั่นคงศึกษา และนักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก กล่าวว่า การสั่งห้ามอาจไม่ส่งผลในทางที่สร้างสรรค์

“การสั่งห้ามกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามจะช่วยลดปัจจัยที่ส่งเสริมให้กลุ่มนี้ได้รับความนิยมในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมเพียงเล็กน้อย และมีแนวโน้มว่าจะทำให้สมาชิกและผู้ฝักใฝ่บางส่วน ‘เปลี่ยนเป็นพวกหัวรุนแรง'” ดร. วิลสันกล่าว

การสั่งห้ามก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและผลกระทบที่มีต่อการแสดงออกทางประชาธิปไตยในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกแห่งนี้ ดร. วิลสันกล่าว

ดร. วิลสันกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวต้องพิจารณาจากบริบทด้านพัฒนาการทางการเมืองล่าสุด รวมถึงการกำจัดสมาชิกและผู้ฝักใฝ่ในกลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามออกจากสภาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย

“รัฐบาลลงมือจัดการสิ่งที่ตนมองว่าอาจเป็นจุดรวมการต่อต้านที่แพร่หลายของชาวมุสลิม ซึ่งรุนแรงขึ้นจากการกลับมาของนายริซีกเมื่อเร็ว ๆ นี้” ดร. วิลสันกล่าว

“แม้ว่าการสั่งห้ามดังกล่าวจะเป็นไปตามพื้นฐานด้านกฎหมายที่ถูกต้อง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าได้รับแรงผลักดันทางการเมืองเช่นกัน”

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงกล่าวว่า การสั่งห้ามอาจทำให้เกิดกระแสตีกลับหรือบีบให้กลุ่มแนวร่วมพิทักษ์อิสลามดำเนินกิจกรรมใต้ดินแทน

 

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button