ติดอันดับ

ออสเตรเลียและอินโดนีเซียร่วมมือกันปกป้องอธิปไตยทางทะเล

ทอม แอบกี

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ออสเตรเลียและอินโดนีเซียดำเนินการฝึกซ้อมการป้องกันทางทะเล โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ปกป้องอำนาจอธิปไตยในดินแดน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรด้านกลาโหม

การฝึกลาดตระเวนและการฝึกทางทะเลแบบประสานกันของกองทัพเรือออสเตรเลียและอินโดนีเซียซึ่งมีเรือรบของทั้งสองประเทศเข้าร่วมนั้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการมีส่วนร่วมแบบทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นหลังจากเรือจีนได้ละเมิดแขตแดนเข้ามาใกล้กับแนวหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซีย

นางลินดา เรย์โนลด์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวในแถลงการณ์ว่า การฝึกลาดตระเวนและการฝึกทางทะเลแบบประสานกันของกองทัพเรือออสเตรเลียและอินโดนีเซียครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 2 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563 บริเวณน่านน้ำระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซียเพื่อปรับปรุงความมั่นคงตามแนวเขตแดนทางทะเล

การลาดตระเวนประกอบด้วยเรือสามลำ ได้แก่ เรือเอชเอ็มเอเอส วูลลองกอง ของกองทัพเรือออสเตรเลีย, เรือเคอาร์ไอ เลอมาตัง และเรือเคอาร์ไอ ปันดรง ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย “การลาดตระเวนมุ่งเป้าไปที่ภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลทั้งหมด รวมถึงการประมงที่ผิดกฎหมาย แต่มุ่งเน้นที่การปรับปรุงการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลระหว่างสองประเทศ” นางเรย์โนลด์สกล่าว

กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียรายงานว่า เรือของอินโดนีเซียลาดตระเวนน่านน้ำอาณาเขตในทะเลติมอร์และทะเลอาราฟูรา ขณะที่เรือของออสเตรเลียลาดตระเวนน่านน้ำแห่งชาติตามแนวทะเลติมอร์

เรือเอชเอ็มเอเอส บอลลารัท ซึ่งเป็นเรือรบขนาดกลางของออสเตรเลีย และเรือรบเคอาร์ไอ บุง โตโม ของอินโดนีเซียเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบที่ผ่านมา (ในภาพ) ในน่านน้ำทางตะวันตกของหมู่เกาะอานัมบัส ซึ่งอยู่ห่างจากสิงคโปร์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 280 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรือทั้งสองลำติดอุปกรณ์สำหรับป้องกันภัยทางอากาศ สงครามปราบปรามบริเวณผิวน้ำ และสงครามปราบปรามเรือดำน้ำ

การฝึกร่วมเริ่มต้นด้วยการฝึกซ้อมจุดนัดพบ ต่อด้วยการฝึกการสื่อสารโดยใช้สัญญาณธง จากนั้นเป็นขั้นตอนการเดินเรือสำหรับถ่ายโอนการขนส่งระหว่างเรือในทะเล

“กิจกรรมการฝึกครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรืออินโดนีเซียในด้านการทูตทางการทหาร โดยหนึ่งในนั้นเกิดขึ้นจากการจัดการฝึกร่วมกับประเทศพันธมิตร” พล.ร.ต. อับดูล รัสยิด กาคง แห่งกองทัพอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ “การดำเนินการฝึกซ้อมรบประเภทนี้คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รักษาและยกระดับความสัมพันธ์ที่เป็นพันธมิตรระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โดยเฉพาะกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ”

นางเกรต้า แนบส์-เคลเลอร์ นักวิจัยของศูนย์เพื่ออนาคตเชิงนโยบายแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุในบทความที่เขียนให้สถาบันโลวี่ของออสเตรเลียเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ว่า การฝึกร่วมและ “การถ่ายโอนเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการแบ่งปันข่าวกรอง” ที่มากขึ้นระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซียน่าจะเป็นผลมาจากการปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมและแผนโครงสร้างกองทัพของรัฐบาลออสเตรเลีย พ.ศ. 2563

“การรุกรานเชิงยุทธศาสตร์เข้ามาในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ของรัฐบาลจีน” ช่วยอธิบายว่าเหตุใดการปรับปรุงด้านกลาโหมของออสเตรเลียจึงตระหนักถึงภัยคุกคามของ “ยุทธวิธีกึ่งทหารเชิงบีบบังคับในทะเลจีนใต้” นางเคลเลอร์ระบุ ยุทธวิธีเหล่านี้รวมถึงการบุกรุกเข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตรอบหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซียโดยเรือประมงจีนซึ่งนำโดยกองกำลังรักษาชายฝั่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

นางเคลเลอร์สรุปว่า ความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นกับออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาจะช่วยสนับสนุนความพยายามของอินโดนีเซียในการปกป้องอาณาเขตทางทะเลของประเทศซึ่ง “อาจทดแทนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่จำกัดของรัฐบาลอินโดนีเซีย”

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กองทัพเรืออินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button