ติดอันดับ

จีนแก้ไขกฎหมายกลาโหมแห่งชาติเพื่อรวมการควบคุมกองทัพเข้าด้วยกัน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้นำกองทัพจีนได้รับอำนาจที่กว้างขวางขึ้นภายใต้กฎหมายกลาโหมแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่รัฐบาลเผด็จการจะก่อสงครามและรวมอำนาจการควบคุมเข้ามาไว้ในกำมือของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การแก้ไขกฎหมาย ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ทำให้คณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการระดมทรัพยากรทางทหารและพลเรือน เพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์ทางการพัฒนา” และต่อสู้กับ “การแบ่งแยกดินแดน” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ก่อนหน้านี้ อำนาจการตัดสินใจบางส่วนเป็นของสภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ นายสีเป็นผู้นำคณะกรรมาธิการการทหาร

“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสัญญาณที่แสดงถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกองทัพปลดปล่อยประชาชนภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และเน้นย้ำถึงการนำการทหารมาใช้กับความสัมพันธ์ภายนอกของประเทศ” นายกอร์ดอน จี. ชาง ผู้เขียนหนังสือการล่มสลายที่กำลังจะมาถึงของจีน เขียนในบทความเมื่อวันที่ 14 มกราคมของนิตยสารนิวส์วีค “กฎหมายฉบับใหม่มุ่งหมายให้มีการเคลื่อนย้ายของมวลชนในสังคมเป็นสำคัญ โดยสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อสงคราม”

นายหลิน เฉิงจุง นักวิจัยอาคันตุกะของสถาบันวิจัยด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติไต้หวันกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเน้น “กลาโหมล่วงหน้า” และกำหนดกรอบการทำงานให้รัฐบาลจีนมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการเริ่มทำสงคราม ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงหลายข้อ มีบทบัญญัติที่อนุญาตให้จีน “ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ทางการพัฒนาของตน และแก้ปัญหาความแตกต่างด้วยการใช้กำลัง” นายหลินเขียนในการวิเคราะห์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มกราคมในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน ตามรายงานของสำนักข่าวกลางของไต้หวัน

โดยรายงานเพิ่มว่า ตามที่นายหลินระบุ ผลประโยชน์ทางการพัฒนาอาจหมายถึงประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน ไปจนถึงกิจกรรมในต่างประเทศและทางอวกาศของจีน “นี่อาจหมายความว่า จีนดำเนินการเชิงรุกในสนามรบโดยเริ่มทำการโจมตีเพื่อจำกัดต่อผู้รุกรานหรือกองกำลังแบ่งแยก” นายหลินกล่าว

นอกจากนี้ การแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับการใช้กองกำลังทหารเพื่อปราบปรามการทำลายชาติยังอาจเปิดทางให้กองทัพจีนมุ่งเป้าไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของไต้หวัน นายฉี เล่อหยี่ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมประจำไทเปกล่าวกับเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนถือว่าเกาะไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ความตึงเครียดข้ามช่องแคบนี้เพิ่มขึ้นสูงตลอด พ.ศ. 2563 โดยเครื่องบินรบของทัพปลดปล่อยประชาชนได้บุกรุกเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน เพื่อเป็นการตอบโต้ รัฐบาลไต้หวันจึงมีโครงการปรับปรุงความทันสมัยทางทหาร ซึ่งรวมถึงการซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ที่สนับสนุน ตลอดจนการผลิตเครื่องบินและเรือดำน้ำในประเทศ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ (ภาพ: แนวรั้วหนามป้องกันการลงจอดบนชายหาดที่เกาะจินเหมินของไต้หวัน เพื่อยับยั้งการบุกรุกที่อาจเกิดขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน)

นายวิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน เขียนในโพสต์ทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 3 มกราคมว่า “ไต้หวันตกเป็นเป้าหมายอย่างชัดเจน” ของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ “เราจะยังคงแสวงหาหนทางแห่งสันติ ไปพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งด้านกลาโหม”

การแก้ไขยังระบุอีกว่า “เพราะพวกเขาส่งสัญญาณถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในระบอบการปกครองที่มีปัญหา” นายชางเขียนในนิวส์วีค นายชางและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ สังเกตเห็นว่า ตอนนี้สภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนมีบทบาทลดน้อยลงในการกำหนดนโยบายกลาโหมและระดมกำลังทหาร เมื่อเทียบกับคณะกรรมาธิการการทหารที่นำโดยนายสี

“นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกชัดเจนถึงความไม่มีเสถียรภาพในจีน และการพยายามรวมอำนาจไว้กับตนเองของนายสี” นายชาร์ล เบอร์ตัน นักวิชาการอาวุโสที่สถาบันแมคโดนัลด์ลอเรียร์ในออตตาวา รัฐออนแทรีโอ และอดีตนักการทูตแคนาดาในปักกิ่ง กล่าวในระหว่างพ็อดคาสท์เมื่อวันที่ 6 มกราคม “ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นการอนุญาตให้นายสีส่งทหารออกมาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างเมื่อใดก็ตามที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องปกป้องอำนาจของตน”

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button