หมู่เกาะแปซิฟิกพยายามชดเชยภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงการระบาดครั้งใหญ่

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
พื้นที่ห่างไกลหลายแห่งของหมู่เกาะแปซิฟิกแทบไม่ได้สัมผัสกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ผลกระทบหนักของการระบาดครั้งใหญ่นี้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่นำเข้าอาหารที่สำคัญต้องหยุดชะงัก และส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นขณะที่การท่องเที่ยวลดลง
เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหาร รัฐบาลหลายประเทศได้เริ่มโครงการริเริ่มระดับชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลน อาทิ การขยายฤดูจับปลา การขยายบทเรียนการหาอาหารพื้นเมือง และการส่งเสริมโครงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
“เราเริ่มจากแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ 5,000 เมล็ดและคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกเก้าเดือนข้างหน้า แต่เนื่องจากมีการตอบรับที่ดีมากจึงทำให้เราแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ได้แล้วเสร็จในหนึ่งสัปดาห์” นายวีเนช คูมาร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ กระทรวงการเกษตรของฟิจิ กล่าว
โครงการดังกล่าวแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ต้นกล้า และอุปกรณ์การเกษตรเบื้องต้นให้แก่ผู้อยู่อาศัยเพื่อช่วยในการเพาะปลูกผักสวนครัวที่บ้าน (ภาพ: เจ้าหน้าที่ดูแลสวนผักที่โรงเรียนซูวา คริสเตียน ในฟิจิเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563)
ด้วยพื้นที่ตามหลักภูมิศาสตร์ซึ่งแยกตัว ที่ดินเพาะปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัด และการสร้างเมืองที่เพิ่มขึ้น ประเทศและดินแดนหมู่เกาะแปซิฟิกได้เห็นว่าประชากรของตนเปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปเป็นการท่องเที่ยว แนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดการพึ่งพาอาหารนำเข้า อาทิ อาหารเนื้อกระป๋อง บะหมี่ และอาหารแปรรูปอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นแทนที่จะเป็นผลผลิตที่ปลูกในท้องถิ่น เช่น มันเทศและเผือกที่อุดมไปด้วยสารอาหาร
นางเอริโกะ ฮิบิ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในญี่ปุ่น เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “ภาระ 3 เท่า” ของปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ภาวะพร่องโภชนาการ ภาวะขาดจุลโภชนะ และโรคอ้วน
เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ เกือบทุกประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกปิดพรมแดนของตน ห่วงโซ่อุปทานสำหรับการขนส่ง รวมถึงปุ๋ยสำหรับฟาร์มและอาหารต้องหยุดชะงักลงซึ่งเป็นเหตุให้ราคาสูงขึ้น ราคาผักและผลไม้สดในซูวา ประเทศฟิจิ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 ในช่วงสัปดาห์แรกของการปิดพรมแดน
ในขณะเดียวกัน นางฮิบิกล่าวว่าการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของบางประเทศได้หยุดชะงักลง และส่งผลให้คนว่างงานหลายพันคนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้
ในตูวาลู การอบรมเชิงปฏิบัติการของรัฐบาลได้สอนวิธีการผลิตอาหารพื้นเมืองให้แก่คนหนุ่มสาว เช่น การปลูกเผือกและการเก็บน้ำหวานจากต้นมะพร้าว ในฟิจิ รัฐบาลได้ขยายฤดูจับปลากุดสลาดและปลาเก๋าที่สามารถขายเพื่อเป็นรายได้ หรือนำมาเป็นอาหาร รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางกลับไปยังพื้นที่ชนบทที่มีทรัพยากรอาหารอิสระมากกว่า
นายเตวิตา ราตูคาเดร และภรรยาย้ายกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านชนบทในฟิจิเพื่อประหยัดค่าเช่าและค่าอาหาร หลังจากถูกปลดจากงานในโรงแรมเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
นายราตูคาเดรกล่าวว่า จากการเฝ้าดูพ่อแม่ของเขาทำฟาร์มเมื่อยังเป็นเด็ก เขาจดจำวิธีการปลูกและขยายพันธุ์มันสำปะหลังได้ ในขณะนี้ เขาทำการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารได้เพียงพอสำหรับครอบครัวแล้ว
นายเมอร์วิน พิส ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยฟิวเจอร์ ไดเร็กชันส์ อินเตอร์เนชันแนล ในออสเตรเลีย กล่าวว่า อาหารในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกอาจเปลี่ยนจากการนำเข้าเป็นอาหารสดมากขึ้นแม้ว่าจะพ้นช่วงที่มีการระบาดใหญ่ไปแล้วก็ตาม
“ผมคิดว่ามีการขับเคลื่อนในบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ผู้คนเริ่มคิดว่า ‘หากเราสามารถปลูกอาหารด้วยตนเองในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้ ทำไมเราจะทำสิ่งเดียวกันในช่วงเวลาปกติไม่ได้ล่ะ?'” นายพิสกล่าว