ติดอันดับ

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ

เรดิโอฟรีเอเชีย

แผนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสร้างเขื่อนและโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำยาร์ลุงซางโป (ในภาพ) ซึ่งไหลรวมกลายเป็นแม่น้ำพรหมบุตรในอินเดียและบังกลาเทศ ได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม และการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ปลายน้ำอย่างมหาศาล

โครงการนี้อาจมีขนาดใหญ่มากกว่าเขื่อนสามผาที่เป็นที่ถกเถียงของสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงสามเท่า กลุ่มสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนทิเบตกล่าวว่า โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ

“นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่า การสร้างเขื่อนพลังน้ำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดแผ่นดินไหว ดินถล่ม และยังทำให้ดินและป่าจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า” นายแซมลฮา เทนปา กีอัลต์เซน นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมของสถาบันนโยบายทิเบตดาห์ลัมซาลาที่ตั้งอยู่ในอินเดีย กล่าว “การสร้างเขื่อนพลังน้ำจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมในอินเดีย ซึ่งเป็นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน

นายไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์วิจัยสติมสัน ระบุว่า รายละเอียดข้อมูลจำเพาะและสถานที่ของเขื่อนดังกล่าวยังไม่ชัดเจน แต่โครงการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากอินเดียและประเทศอื่น ๆ แล้ว

“เขื่อนต้นน้ำบนแม่น้ำพรหมบุตรมีผลกระทบต่อวงจรอุทกศาสตร์ตามฤดูกาลในพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศ” นายไอเลอร์กล่าว “การประกาศเกี่ยวกับเขื่อนใหม่นี้มีการปรึกษาหารือกับประเทศปลายน้ำล่วงหน้าน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการปฏิบัติต่อประเทศเพื่อนบ้านทางปลายน้ำของจีน”

นายไอเลอร์กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำหวงเหอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนกล่าวว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยพัฒนาทิเบตที่ควบคุมโดยจีน ในขณะที่การก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าและถนนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ความร่วมมือข้ามพรมแดนกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้

แต่ฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าวว่า แม่น้ำของจีนอยู่ในจุดอิ่มตัวแล้วหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงเขื่อนสามผาและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์อีกหลายแห่งบนแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาขา

“ผมเชื่อว่าเบื้องหลังโครงการถนนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเหล่านี้ ความตั้งใจหลักของรัฐบาลจีนคือการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวจีนในพื้นที่ทิเบต” นายกีอัลต์เซนกล่าว

การศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2563 พบว่าเขื่อนจำนวนหนึ่งที่จีนสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงได้ทำให้ภัยแล้งในประเทศปลายน้ำเลวร้ายขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจีนจะโต้แย้งผลการวิจัยดังกล่าวก็ตาม

นายจากานนาธ พันดา นักวิจัยที่มาโนฮาร์ แพร์ริการ์ สถาบันการศึกษาและวิเคราะห์ด้านกลาโหมในนิวเดลี กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายของอินเดียมีความกังวลว่าจีนจะไม่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต้นน้ำอย่างเพียงพอ

“อินเดียคงจะคาดหวังตามหลักการว่าก่อนที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนใด ๆ จีนจะปรึกษาและควรปรึกษากับอินเดียก่อน” นายกีอัลเซนกล่าว “ข้อมูลและข่าวสารนี้มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของการเกษตรและความก้าวหน้าในการดำรงชีพของประชาชน”

ความไว้วางใจระหว่างประเทศในเอเชียใต้และรัฐบาลจีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความกังวลว่าจีนอาจใช้แม่น้ำยาร์ลุงซางโปเป็น “อาวุธ” ตามรายงานของนางฟาร์วา อาเมอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียใต้ของสถาบันอีสต์เวสต์

แม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างสำคัญในกรณีนี้ นายไอเลอร์กล่าว “การจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงยังเป็นข้อมูลเพียงหยิบมือเมื่อเทียบกับสิ่งที่จำเป็นต่อการปรับปรุงผลลัพธ์ในพื้นที่ปลายน้ำให้ดีขึ้น” นายไอเลอร์กล่าว “จีนมักจะไม่แจ้งเตือนประเทศอื่น ๆ ว่าจะสร้างเขื่อนใหม่บนแม่น้ำโขง”

นายไอเลอร์กล่าวว่า เขื่อนแม่น้ำโขงทั้ง 11 แห่งของจีนจำกัดน้ำที่ไหลไปยังพื้นที่ปลายน้ำในช่วงฤดูแล้ง

“จีนอภิปรายการกระทำเหล่านี้อย่างเป็นทางการว่า การจำกัดการไหลของน้ำในเขื่อนต้นน้ำมีเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำและลดความแห้งแล้งโดยการปล่อยน้ำเมื่อจำเป็น” นายไอเลอร์กล่าว แต่ “ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าการบังคับทางต้นน้ำของจีนจะช่วยลดอุทกภัยและบรรเทาสภาพภัยแล้งแต่อย่างใด”

ตามแนวแม่น้ำพรหมบุตร ยังมีเหตุให้กังวลเพิ่มเติมอีก การศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ตีพิมพ์โดยวารสารวิทยาศาสตร์เนเชอร์ คอมมิวนิเคชันพบว่า เหตุน้ำท่วมรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการคำนวณระดับเส้นฐานที่ผิดพลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตัวเลขของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าประชาชนในบังกลาเทศประมาณ 30 ล้านคนได้รับความเสี่ยงหรืออาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button