ติดอันดับ

สหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัทจีนเนื่องจากการส่งออกลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงส่งออกเทคโนโลยีการเฝ้าระวังทางดิจิทัลไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แม้สหรัฐอเมริกาจะเตือนว่าแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวใช้เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัท ไชน่าเนชั่นแนล เทคนิคอล อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เนื่องจากบริษัทดังกล่าวสนับสนุนความพยายามของนายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา ในการทำลายประชาธิปไตยโดยการจำกัดการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่พลเมือง และสอดแนมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยระบบดิจิทัล ตามรายงานของรอยเตอร์

“สหรัฐอเมริกาจะไม่ลังเลในการชี้เป้าบุคคลใดก็ตามที่ให้ความช่วยเหลือต่อการยับยั้งเจตจำนงประชาธิปไตยของประชาชนชาวเวเนซุเอลาและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก” นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์

รอยเตอร์รายงานว่า เป็นเวลาหลายปีที่ชาวเวเนซุเอลาได้ร้องเรียนว่า คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของตนไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือสำนักข่าวท้องถิ่นที่วิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลของนายมาดูโร

บริษัท ไชน่าเนชั่นแนล เทคนิคอล อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ให้การสนับสนุนคณะรัฐบาลของนายมาดูโรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยเป็นผู้จัดหาซอฟต์แวร์ การฝึกอบรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค ตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การยอมรับว่านายฮวน กวายโด นักการเมืองเวเนซุเอลา เป็นผู้นำโดยชอบธรรมของประเทศในอเมริกาใต้แห่งนี้ และได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรและแรงกดดันทางการทูตหลังจากการเลือกตั้งใหม่ใน พ.ศ. 2561 ของนายมาดูโร ซึ่งถือว่ามีการทุจริตในวงกว้าง

การคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นการระงับทรัพย์สินและผลประโยชน์ของบริษัท ไชน่าเนชั่นแนล เทคนิคอล อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ในสหรัฐฯ และห้ามมิให้พลเมืองสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับบริษัทดังกล่าว

เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่ซื้อเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและการตรวจสอบทางดิจิทัลจากจีน รายงานของสถาบันบรูกกิงส์ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง “การรับมือกับอุปสงค์ในการส่งออกการเฝ้าระวังไปทั่วโลกของจีน” เปิดเผยว่า มีการใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยสาธารณะของจีนใน 80 ประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2551

โดยปกติแล้ว แพลตฟอร์มดังกล่าวจะใช้ชื่อว่าโครงการ “เมืองปลอดภัย” โดยบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดหารายใหญ่ที่สุดของจีน บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีจะเก็บ ผสานรวม และวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงประวัติอาชญากรรม ฐานข้อมูลของรัฐบาล กล้องวงจรปิด แอปพลิเคชันตรวจจับใบหน้าและอ่านป้ายทะเบียน ตลอดจนแหล่งข้อมูลอื่น ๆ สถาบันบรูกกิงส์รายงาน

การแพร่หลายทางดิจิทัลไปทั่วโลกนี้ได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจำนวนมหาศาลของภาครัฐ จีนได้เปลี่ยนจุดมุ่งเน้นจากภาคการผลิตเป็นภาคเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง ผ่านนโยบายเมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ซึ่งมุ่งเน้นไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และคอมพิวเตอร์ควอนตัม

รายงานประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ของโพลิติโคระบุว่า ขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนมีจำนวนมากกว่าบริษัทของทุกประเทศยกเว้นสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนเพิ่มการลงทุนในด้านสารกึ่งตัวนำและปัญญาประดิษฐ์มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) ในแผน 5 ปีฉบับล่าสุด (ภาพ: สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังส่งออกเทคโนโลยีการเฝ้าระวัง เช่น แพลตฟอร์มตรวจจับใบหน้านี้ ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการปักกิ่งเมื่อ พ.ศ. 2561)

ประเทศประชาธิปไตยตะวันตกหลายแห่งกลัวว่าจีนจะส่งออกการเซ็นเซอร์และการเฝ้าระวังซึ่งดำเนินการในประเทศ เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและการต่อต้านในต่างประเทศ สิ่งที่เรียกว่า เกรทไฟร์วอลล์ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปิดกั้นสื่อต่างประเทศ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ภายนอก ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จากอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button