ติดอันดับ

ไต้หวันระบุว่า การซื้ออาวุธใหม่เป็นไปเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือทางกลาโหม

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ไต้หวันระบุว่า การซื้อขีปนาวุธจากสหรัฐฯ และระบบอาวุธอื่น ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยยกระดับความสามารถในการป้องกันตนเองของชาติท่ามกลางความตึงเครียดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปะทุขึ้น

นายสื่อ ซุ่นเหวิน โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความคิดเห็นเมื่อหนึ่งวันหลังจากที่จีนระบุว่าจะดำเนินการตอบโต้บริษัทต่าง ๆ ที่ทำระบบอาวุธดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุรายละเอียด บริษัทเหล่านั้นประกอบด้วย บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ปอเรชัน, บริษัทเรเธียน เทคโนโลยีส์ คอปอร์เรชัน และแผนกกลาโหมของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักที่ขายระบบขีปนาวุธฮาร์พูนมูลค่า 2.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ไต้หวัน

เนื่องด้วยไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีศักยภาพในด้านขีปนาวุธ ทหาร เรือ และเครื่องบินที่มากกว่า ไต้หวันจึงต้องแสวงหาสิ่งที่ช่วยรับรองให้ประชาชนและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของตนมั่นใจได้ว่าไต้หวันมีความสามารถที่จะปกป้องตนเอง ไต้หวันแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อ พ.ศ. 2492 และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนข่มขู่ว่าจะนำเกาะซึ่งปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยแห่งนี้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของตนโดยใช้กำลังหากจำเป็น

“การซื้ออาวุธเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้ที่น่าเชื่อถือและขีดความสามารถในการต่อสู้แบบอสมมาตรของไต้หวัน” นายสื่อกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยอ้างถึงการตอบโต้ศัตรูที่แข็งแกร่งกว่าด้วยอาวุธที่แม่นยำและยุทธวิธีขั้นสูง “ซึ่งจะช่วยเสริมขีดความสามารถในการต่อสู้โดยรวมของเราเพื่อการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งช่องแคบไต้หวันอีกด้วย”

ในปักกิ่ง นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควร “ยกเลิกแผนการขายอาวุธให้ไต้หวันเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน”

บริษัทโบอิ้งระบุว่า ระบบขีปนาวุธฮาร์พูนสามารถเล็งเป้าค่ายป้องกันแถบชายฝั่ง สถานที่ปล่อยขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ อากาศยาน เรือที่จอดเทียบท่า รวมทั้งท่าเรือและสถานประกอบการทางอุตสาหกรรมได้ (ภาพ: เรือรบขนาดกลางของกองทัพเรือไต้หวันปล่อยขีปนาวุธฮาร์พูนระหว่างการฝึกซ้อมทางทหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550)

การประกาศข้อตกลงซื้อขายอาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการขายยุทโธปกรณ์รวมถึงระบบขีปนาวุธและจรวด และอุปกรณ์ที่ได้รับการยกระดับสำหรับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของไต้หวันมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท) ตามแผนที่วางไว้อีกแผนหนึ่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม

สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การรับรองว่าเกาะไต้หวันสามารถปกป้องตนเองได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการขายอาวุธให้ไต้หวันเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพ เนื่องจากจีนยังคงสั่งสมกำลังทางทหารเพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการผนวกดินแดนของตน

การที่เครื่องบินรบของกองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนลาดตระเวนบ่อยขึ้นในปีนี้สร้างความตึงเครียดให้กองทัพไต้หวันมากขึ้น ซึ่งทำให้การพัฒนาระบบอาวุธใหม่หรือการจัดซื้อจากต่างประเทศมีความสำคัญเพิ่มยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button