ติดอันดับ

ในการฝึกคีนซอร์ด ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกเน้นย้ำว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ คือรากฐานสู่สันติภาพและความมั่นคงระดับภูมิภาค

กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกและหน่วยทหารจากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเริ่มการฝึกคีนซอร์ดครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 การฝึกซ้อมครั้งนี้จะดำเนินการจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยจัดขึ้นที่กองบัญชาการทางทหารทั่วแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นและในน่านน้ำโดยรอบ

“ขณะที่เราพัฒนาวิธีการดำเนินการและการบูรณาการให้ดีขึ้น การฝึกซ้อมในลักษณะนี้จะแสดงถึงความแน่นแฟ้นที่เพิ่มขึ้นของความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นอย่างชัดเจน” พล.ท. เควิน ชไนเดอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น กล่าวในระหว่างพิธีเปิด ตามข้อมูลจากกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก “แม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมหาศาล แต่ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นนั้นไม่ลดน้อยลง และเรายังคงพร้อมที่จะต่อสู้และเอาชนะ”

คีนซอร์ดเป็นการฝึกที่จัดขึ้นทุกสองปี ซึ่งออกแบบมาเพื่อยกระดับความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความพร้อมในการรบและการทำงานร่วมกัน พร้อมกับเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้ การจัดการฝึกซ้อมในปีนี้มีบุคลากรที่เข้าร่วมประมาณ 9,000 นายจากกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพบก และนาวิกโยธินสหรัฐฯ รวมทั้งกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น พร้อมด้วยกองทัพเรือแคนาดา โดยดำเนินการฝึกในด้านขีดความสามารถสำคัญที่จำเป็นสำหรับการสนับสนุนการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นและตอบสนองต่อวิกฤตในภูมิภาค (ภาพ: กองทัพเรือสหรัฐฯ มอบหมายให้เรือของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี โรนัลด์ เรแกน เข้าร่วมกับหน่วยคุ้มกันที่ 1 และ 4 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น รวมถึงกองทัพเรือแคนาดา ขณะที่เครื่องบินจากกองทัพเรือ นาวิกโยธิน และกองทัพอากาศสหรัฐฯ รวมทั้งกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศและทางทะเลญี่ปุ่นขึ้นบินเป็นขบวนระหว่างการฝึกคีนซอร์ด ครั้งที่ 21)

“สถานการณ์ความมั่นคงรอบเกาะญี่ปุ่นเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ” พล.อ. โคจิ ยามาซากิ ผู้บัญชาการฝ่ายเสนาธิการร่วมของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เอเชียไทมส์ “แต่ก็ถือเป็นโอกาสให้เราได้แสดงถึงความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ”

ก่อนหน้าการฝึกคีนซอร์ด พล.ร.อ. ฟิลิป เอส. เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ คือรากฐานสู่สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ระหว่างกล่าวเปิดงานการประชุมภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของผู้นำจากทั้งสองประเทศ

“ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นหัวใจสำคัญยิ่งต่อวิสัยทัศน์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของเรา รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ” พล.ร.อ. เดวิดสันกล่าว ตามข้อมูลจากคำกล่าวปราศรัยที่เตรียมไว้

อีกทั้งยังกล่าวว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ต่างได้แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกันต่อภูมิภาคแห่งนี้

“แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับส่งเสริมระบบค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างมากในแง่ของการปกครอง การค้า สิทธิมนุษยชน อำนาจอธิปไตย และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับวิสัยทัศน์ที่เสรีและเปิดกว้างนี้โดยสิ้นเชิง” พล.ร.อ. เดวิดสันกล่าว “จีนกำลังเพิ่มความเข้มข้นในการกดขี่ภายในประเทศและการรุกรานภายนอก ซึ่งเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ซินเจียง ทิเบต ทะเลจีนใต้ และเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริงบริเวณพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน”

อินโดแปซิฟิกอยู่ในการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์ระหว่างวิสัยทัศน์ที่ปิดกั้นแบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ต่างแสวงหา พล.ร.อ. เดวิดสันกล่าว

“แต่ผมอยากบอกให้ชัดเจนว่าการแข่งขันนั้นไม่ได้หมายถึงความขัดแย้ง เราต้องทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อยับยั้งความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมต่อสู้และเอาชนะหากการแข่งขันเปลี่ยนเป็นความขัดแย้ง” พล.ร.อ. เดวิดสันกล่าว “เมื่อมองไปยังอนาคต พันธมิตรของเราจะต้องดำเนินการเพื่อสร้างภูมิภาคแห่งสันติและความเจริญรุ่งเรือง”

การดำเนินการดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วผ่านกลุ่มควอด ซึ่งเป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากพื้นที่ทางทหารแล้ว กลุ่มควอดยังมุ่งเน้นที่การพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูล

“ท้ายที่สุดแล้ว ผมต้องยอมรับว่าจุดมุ่งเน้นทั้งสี่ด้านนี้เป็นจุดที่ประเทศพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศที่เห็นพ้องต้องกันจะต้องทุ่มความพยายามของเราลงไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เพื่อให้วิสัยทัศน์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างก้าวต่อไปอีกขั้น” พล.ร.อ. เดวิดสันกล่าว “ในฐานะพันธมิตร เราจำเป็นต้องคิดให้เหนือไปกว่าบทบาทดั้งเดิมของเราเพื่อเสริมสร้างค่านิยม ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสถาปัตยกรรมความมั่นคงของอินโดแปซิฟิก มีหลายประเทศที่เต็มใจจะยืนหยัดร่วมกับเรา แต่ประเทศเหล่านั้นยังต้องการความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ และความยืดหยุ่นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button