ติดอันดับ

ภาพลักษณ์ของจีนดูดีขึ้นเมื่อภารกิจในการคิดค้นวัคซีนเข้มข้นขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรการแจกจ่ายวัคซีนในช่วงโค้งสุดท้าย สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของประเทศ หลังจากล้มเหลวในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

จีนรีรอจนกระทั่งถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563 กว่าจะเข้าร่วมโครงการศูนย์การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ขององค์การอนามัยโลกที่พยายามส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเลยวันครบกำหนดการเข้าร่วมโครงการศูนย์การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกไปแล้วสามสัปดาห์ และหลังจากมีข่าวโจมตีเชิงลบเกี่ยวกับการรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนาของจีน

นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจีนเป็น “ความพยายามของจีนในการปรับภาพลักษณ์ของตนในสายตาของทั้งในประเทศและทั่วโลก” ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมต นายโยชิคาสึ คาโตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียโกลบอลที่มหาลัยฮ่องกง เห็นด้วยกับนักวิเคราะห์กลุ่มดังกล่าว “จีนต้องการมิตรเพิ่มขึ้น” นายคาโตะกล่าวกับบลูมเบิร์ก “จึงเป็นเหตุผลให้จีนคิดว่าจำเป็นต้องสื่อสารข้อความที่ชัดเจนขึ้นเพื่อมีส่วนร่วมในระดับนานาประเทศ”

การเคลื่อนไหวของจีนเกิดขึ้นหลังจากศูนย์วิจัยพิวทำการสำรวจประชากรมากกว่า 14,000 คนใน 14 ประเทศ ซึ่งเปิดเผยว่า “มุมมองเชิงลบของผู้คนในหลายประเทศที่มีต่อจีนนั้นมีมากขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่”

ผู้นำโครงการศูนย์การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกยินดีกับการตัดสินใจของจีน โดยกล่าวว่า แนวโน้มของการจัดหาวัคซีนให้ประชากรจีนแม้เพียงเสี้ยวเดียวจากจำนวน 1.4 พันล้านคน ก็ช่วยเพิ่มอำนาจของพันธมิตรในการต่อรองกับผู้ผลิตยา ทั้งนี้ พันธมิตรมีวัคซีนเก้ารายการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งรวมถึงวัคซีนจากจีนและฮ่องกงแห่งละหนึ่งรายการ โดยมีวัคซีนชนิดอื่น ๆ อีกเก้ารายการอยู่ระหว่างการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม วัคซีนเหล่านั้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความพยายามทั่วโลก เนื่องจากนักวิจัยกำลังทดสอบวัคซีนอีก 50 รายการในการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ และกำลังทดสอบวัคซีนก่อนการทดลองทางคลินิกอย่างน้อย 87 รายการกับสัตว์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์

สหรัฐอเมริกาเลือกออกจากการเป็นพันธมิตรกับองค์การอนามัยโลก เนื่องจากกังวลว่าจีนจะมีอิทธิพลต่อองค์การดังกล่าวมากเกินควร และเนื่องจากองค์การอนามัยโลกมีส่วนรู้เห็นต่อการขาดความโปร่งใสของจีนในระหว่างการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ด้านโรคติดเชื้อกล่าวว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะไม่ใช้วัคซีนจากจีนเนื่องจากขาดการกำกับดูแลด้านความโปร่งใส

ความไม่เชื่อมั่นนี้มีสาเหตุมาจากเรื่องราวในอดีต แม้ว่าจีนจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของจีนผลิตขึ้นเพื่อใช้ภายในประเทศ เนื่องด้วยผู้ผลิตรายย่อยที่ควบคุมภาคเภสัชกรรมของประเทศประสบปัญหาในการปฏิบัติตามข้อบังคับระหว่างประเทศ ตามการวิเคราะห์ของแรนด์ คอร์ปอเรชัน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 จากผู้ผลิตยา 5,300 ถึง 7,000 รายในจีน มีเพียง 40 รายที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการผลิตยาขององค์การอนามัยโลกเพื่อการจัดจำหน่ายให้แก่หน่วยงานระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การขาดการกำกับดูแลยังก่อให้เกิดข้อถกเถียงอีกด้วย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ผู้ผลิตจีนรายหนึ่งถูกปรับเงินจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) และถูกเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากจัดจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีข้อบกพร่อง สื่อของรัฐบาลจีนกล่าวว่า บริษัทฉางชุนฉางเซิง ไบโอเทคโนโลยี ได้ผลิตวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพโดยการผสมวัคซีนจากรอบที่แตกต่างกันและบางครั้งจากรอบที่หมดอายุ จากนั้นจึงปลอมวันที่ผลิต ตามรายงานของนิตยสารไทม์ หน่วยงานกำกับดูแลอีกแห่งพบว่าบริษัทเดียวกันนี้ได้จัดจำหน่ายวัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยักที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับมนุษย์ไปแล้วกว่า 500,000 หน่วย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการกล่าวอ้างเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของจีน เช่น บริษัทไชน่า เนชันแนล ไบโอเทค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้ให้วัคซีนแก่ผู้คนหลายแสนคนโดยไม่แสดงผลข้างเคียงใด ๆ

“แถลงการณ์ใดก็ตามที่ระบุว่า เมื่อคุณให้วัคซีนแก่ประชากรมากกว่า 100,000 คนแล้วไม่มีผลกระทบที่ร้ายแรงหรือสาหัสนั้นเป็นไปไม่ได้” นายวิลเลียม ฮาเซลไทน์ อดีตนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ด กล่าวกับบลูมเบิร์ก “หากจีนต้องการให้วัคซีนของตนได้รับความเชื่อถือในระดับสากล จีนจะต้องเต็มใจให้ข้อมูล”

จากการแข่งกันผลิตวัคซีนที่ทวีความดุเดือดขึ้น ผู้นำอินโดแปซิฟิกจึงต่างเตรียมสำรองเวชภัณฑ์ บีบีซีรายงานว่า อินเดียกำลังจัดให้มีการทดลองวัคซีนของรัสเซียไปพร้อม ๆ กับที่กำลังดำเนินการคัดเลือกวัคซีนสามรายการของตน

ญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับแอสตราเซเนก้า บริษัทยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ และบริษัทไฟเซอร์ในสหรัฐฯ เพื่อจัดหายา 120 ล้านโดส นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังกำลังเจรจากับบริษัทโมเดอร์น่า ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐฯ เพื่อรับยาเพิ่มเติมอีก 40 ล้านโดส รอยเตอร์รายงานว่า ออสเตรเลียก็มีข้อตกลงกับบริษัทแอสตราเซเนก้าเช่นกัน และเกาหลีใต้กำลังตรวจสอบวัคซีนชนิดเดียวกันเพื่อการอนุมัติอย่างเร่งด่วน

นักวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ดยุค-เอ็นยูเอสของสิงคโปร์กำลังพัฒนาวัคซีนร่วมกับบริษัทอาร์คทัวรัส เธอราพิวทิคส์ ผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียได้กลายเป็นสถานที่ทดสอบวัคซีนของจีน บริษัทซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด ของจีนกำลังร่วมมือกับบริษัทไบโอ ฟาร์มา ของอินโดนีเซียในการผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนไวรัสโคโรนา (ภาพ: เจ้าหน้าที่รายหนึ่งตรวจสอบเข็มฉีดยาของวัคซีนไว้รัสโคโรนาที่สายการผลิตซิโนวัคในกรุงปักกิ่ง)
ในฟิลิปปินส์ นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดี กล่าวว่าจะให้ความสำคัญกับวัคซีนของจีนและรัสเซียเป็นอันดับแรก ซึ่งส่งสัญญาณถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

บลูมเบิร์กรายงานว่า จีนมีการเชื่อมโยงด้านวัคซีนกับ 100 ประเทศโดยสัญญาว่าจะมอบเวชภัณฑ์ให้เป็นอันดับต้น ๆ จัดหาอุปกรณ์สำหรับการทดสอบหรือการผลิต หรือให้เงินกู้เพื่อซื้อวัคซีน ซึ่งการเจรจาเหล่านั้นครอบคลุมประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาที่รัสเซียเองก็กำลังรุกคืบอยู่

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ได้ยื่นคัดค้านข้อตกลงเกี่ยวกับวัคซีนของซิโนวัคจำนวน 46 ล้านโดส โดยระบุว่าตนไม่ไว้ใจบริษัทดังกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button