ติดอันดับ

บังกลาเทศร่วมมือกับญี่ปุ่นสร้างท่าเรือน้ำลึก และยกเลิกข้อเสนอเงินทุนสนับสนุนจากจีน

บังกลาเทศวางแผนที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแห่งแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนกับญี่ปุ่น โดยปฏิเสธข้อเสนอที่มีมานานแต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับท่าเรือใกล้เคียงที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศได้ประกาศในพิธีลงนามสัญญากับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในกรุงธากาเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ว่า ท่าเรือแห่งใหม่ที่มาตาบารีในอ่าวเบงกอลจะเปิดให้บริการภายใน พ.ศ. 2568

“มีการดำเนินการเพื่อรับรองว่า โครงการพัฒนาท่าเรือมาตาบารีนี้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในการสร้างโลจิสติกส์ทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของบังกลาเทศ และเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อในภูมิภาค” นายคาลิด มาห์มุด เชาดูรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งสินค้าของบังกลาเทศ กล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ธากาทริบูน

บังกลาเทศได้รับเงินกู้ถึง 2.65 พันล้านเยน (ประมาณ 793 ล้านบาท) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศกำลังพัฒนา ตามรายงานข่าวจากสื่อหลายแห่ง นายเชาดูรีกล่าวว่า จะมีการสร้างท่าเรือนี้ตามทางน้ำที่พัฒนาไว้สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า โครงการท่าเรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่ออาคารกับทางหลวงแห่งชาติ เป็นส่วนขยายของแนวคิดสายพานการเติบโตทางอุตสาหกรรมในอ่าวเบงกอล หรือ “บิ๊ก-บี” ที่ผู้นำบังกลาเทศและญี่ปุ่นประกาศเมื่อ พ.ศ. 2557

ท่าเรือทะเลน้ำลึกอยู่ระหว่างการพิจารณามาอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543-2552) เพื่อบรรเทาความแออัดที่ท่าเรือในจิตตะกอง (ในภาพ) และมงลา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิคไทมส์ของอินเดีย อาคารเหล่านั้นมีทางน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้ต้องขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ไปยังเรือขนาดเล็กที่ศูนย์กลางในสิงคโปร์และศรีลังกา เพื่อที่จะขนส่งสินค้าไปยังบังกลาเทศได้ ทั้งนี้ คาดว่าอาคารมาตาบารีจะช่วยเพิ่มความเร็วในการจัดส่งและลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่ให้บริการในภูฏาน เนปาล และรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียไปพร้อมกันด้วย

ในการประกาศข้อตกลงกับญี่ปุ่น บังกลาเทศได้ยกเลิกแผนการก่อสร้างท่าเรือทะเลน้ำลึกที่เกาะโซนาเดียอย่างเป็นทางการ ซึ่งเกาะแห่งนี้อยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้างท่าเรือมาตาบารีไปทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศประมาณ 25 กิโลเมตร โครงการดังกล่าวได้รับการเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณทศวรรษที่ผ่านมา โดยจีนจะเป็นผู้สร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการดังกล่าว ดิอีโคโนมิคไทมส์รายงาน อย่างไรก็ตาม บังกลาเทศและจีนไม่เคยทำให้ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง และการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุดพบว่าโครงการนี้จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

ข้อเสนอโครงการโซนาเดียทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแรงจูงใจและอิทธิพลของจีนที่คืบคลานไปทั่วทั้งภูมิภาค เช่น เจ้าหน้าที่อินเดียกังวลว่ารัฐบาลบังกลาเทศอาจต้องโอนท่าเรือหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ไปให้จีน หากบังกลาเทศผิดนัดชำระหนี้เงินกู้จากจีน ตามบทความในนิตยสารข่าวสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปลาย พ.ศ. 2560 เมื่อศรีลังกาจำต้องมอบสิทธิการเช่าท่าเรือฮัมบันโตตาเป็นเวลา 99 ปีให้แก่บริษัทจีนที่ดำเนินการโดยภาครัฐ หลังจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ของจีนที่ลงนามไว้เมื่อ 18 เดือนก่อนหน้าเท่านั้น

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอินเดียกับจีนทำให้เกิดการปะทะทางทหารตามบริเวณแนวชายแดนพื้นที่พิพาทแถบหิมาลัย และทำให้อินเดียมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของจีนที่ดำเนินการในบังกลาเทศ เนื่องจากอ่าวเบงกอลมีความสำคัญต่อความมั่นคงของอินเดียเช่นกัน

“อินเดียยังคงกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของจีนในการสร้างทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ เช่น ท่าเรือและสนามบิน ในเขตประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับอินเดีย” ดิอีโคโนมิคไทมส์ระบุ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button