ติดอันดับ

อินเดียและสิงคโปร์กำลังดำเนินการยับยั้งผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทอม แอบกี

อินเดียและสิงคโปร์ตกลงที่จะร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเมื่อเกิดขึ้นกับประเทศของตน

พ.อ. เจมส์ ลิว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติประจำภูมิภาคชางงีของสิงคโปร์และ พ.อ. ไนทิน เซห์กัล จากคณะเสนาธิการกลาโหมร่วมของอินเดีย ร่วมลงนามในพันธสัญญาในการเจรจานโยบายกลาโหมครั้งที่ 14 ของทั้งสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นภายในการประชุมทางวิดีโอเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“ข้อตกลงเช่นนี้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการรับมือภัยพิบัติแบบพหุภาคีโดยการประสานงานด้านการสื่อสาร บทบาท และกิจกรรมล่วงหน้า” นายเบลก เฮอร์ซิงเกอร์ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม

แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม พายุเขตร้อน และคลื่นพายุซัดฝั่งสร้างความเสียหายต่อประเทศในภูมิภาคประมาณ 6.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20 ล้านล้านบาท) ต่อปี ตามรายงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ

ภายใต้ข้อตกลงนี้ ศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติและคณะเสนาธิการกลาโหมร่วมจะ “สำรวจความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการรับมือกับภัยพิบัติ ตลอดจนกิจกรรมการสร้างศักยภาพเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน” ตามแถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ (ภาพ: พ.อ. เจมส์ ลิว (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติประจำภูมิภาคชางงีของสิงคโปร์ และนายชาน เฮงกี เลขานุการปลัดกระทรวงกลาโหม จัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติกับอินเดีย)

เจ้าหน้าที่ประสานงานอินเดียทำงานเต็มเวลากับเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเพื่อตรวจสอบภัยพิบัติทางธรรมชาติและแบ่งปันข้อมูลกับทางการอินเดีย “เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ประเทศที่รับมือจะต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและเริ่มเคลื่อนย้ายผู้คน อุปกรณ์ และเสบียงอย่างรวดเร็ว” นายเฮอร์ซิงเกอร์กล่าว

ความพยายามด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติโดยอินเดียและสิงคโปร์มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวรุนแรงที่เนปาลใน พ.ศ. 2558 อินเดียได้เริ่มต้นปฏิบัติการไมตรี โดยส่งกำลังกองทัพบก กองทัพอากาศ และทีมเฉพาะทางอื่น ๆ ไปยังเนปาล ในขณะเดียวกัน ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติให้ข้อมูลที่สำคัญ เช่น จำนวนและขอบเขตความช่วยเหลือจากทหารต่างชาติ แก่ทีมความพยายามด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติภาคสนาม รวมถึงกองทัพบกเนปาล ตามรายงานของศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

อินเดียและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ทางกลาโหมที่ยาวนาน ทั้งสองประเทศเข้าร่วมการฝึกทางทะเลไตรภาคีกับประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางหลักในการสัญจรทางทะเลอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่อินเดียเชื่อว่าการปรับปรุงความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านและการใช้ประโยชน์จากสถาบันระดับภูมิภาคในการจัดการภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญ นายสานีต จักราเดโอ นักวิจัยของศูนย์เพื่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจในนิวเดลี กล่าว

ความพยายามด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นหัวข้อหลักของการฝึกซ้อมไทเกอร์ไทรอัมพ์ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ดำเนินโดยอินเดียและสหรัฐอเมริกา “เครือข่ายข้อตกลงความร่วมมือด้านความพยายามด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติที่ทับซ้อนกันเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญว่าการมีส่วนร่วมของอินเดียที่เพิ่มขึ้นนั้นกว้างกว่าการแข่งขันกับจีน” นายเฮอร์ซิงเกอร์กล่าว

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button