ติดอันดับ

ไทยสนับสนุนการใช้ทางเลี่ยงเมืองด้วยทางรถไฟและถนนแทนแนวคิดคลองกระ

ทอม แอบกี

ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาสร้างถนนเลี่ยงเมืองภาคพื้นดินไปยังช่องแคบมะละกาซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาเดินทาง โดยตัดข้ามคอคอดกระทางตอนใต้ของประเทศด้วยการผสมผสานของโครงการถนนและทางรถไฟ ทางเลือกในการสร้างคลองซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ผลักดันมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นไปได้ที่คลองดังกล่าวจะเกี่ยวพันกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563 ว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดงบประมาณราว ๆ 320,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของทั้งสองทางเลือก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย ได้สนับสนุนทางเลือกการสร้างถนนและทางรถไฟโดยกล่าวว่า การขุดลอกคลองข้ามคอคอดดังกล่าว (ภาพในพื้นหลัง) จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับไม่ได้ ตามรายงานของบลูมเบิร์ก

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ถนนเลี่ยงเมืองดังกล่าวจะลดระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตรจากระยะทางที่ใช้เพื่อขนส่งสินค้าจากทะเลอันดามันไปยังอ่าวไทย ท่าเรือส่งสินค้าทั้งสองแห่งซึ่งอยู่คนละฟากของคอคอดดังกล่าวจะเชื่อมถึงกันด้วยถนนเลี่ยงเมืองระยะทาง 100 กิโลเมตร นายศักดิ์สยามกล่าวเสริม

นายเอียน สตอรีย์ นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบันการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ยูซอฟ ไอแชค กล่าวกับ ฟอรัม ว่า “ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ได้แสดงการสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีการสร้างคลอง แต่ไม่มีประเทศใดพิจารณาลงทุนในโครงการนี้อย่างจริงจังเพราะความไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ” “ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความสมเหตุสมผลก็ยิ่งน้อยลงไปอีก”

นักยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนมองเห็นมูลค่าของคลองกระในช่วงต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543 – 2552) เนื่องจากคลองดังกล่าวจะช่วยให้เรือบรรทุกน้ำมันของจีนสามารถหลีกเลี่ยงการควบคุมบริเวณช่องแคบมะละกาได้ นายสตอรีย์เขียนในบทความเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ คลองดังกล่าวยังช่วยให้เรือของกองทัพเรือจีนสามารถเดินเรือระหว่างฐานทัพที่สร้างขึ้นใหม่ในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียได้อย่างรวดเร็ว

นายสตอรีย์กล่าวว่า ในขณะที่คลองกระไม่ได้อยู่ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แต่จีนยังมองว่าไทยเป็น “จุดสำคัญในโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกมูลค่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” และ “มีข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า จีนอาจสนใจที่จะลงทุนสร้างเส้นทางน้ำเทียมผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย”

ประชาชนไทยอาจไม่สนใจโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่น่าจับตามองที่สุดในประเทศไทยซึ่งได้แก่ เครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูง ก็หยุดชะงักลงเพราะความล่าช้า ข้อพิพาทด้านงบประมาณ และปัญหาการดำเนินงาน

“รถไฟฟ้าความเร็วสูงยังคงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากภายในประเทศเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป การขาดความโปร่งใส และการพึ่งพาจีนมากเกินไป” นายสตอรีย์กล่าว

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button