ติดอันดับ

อนุสาวรีย์ทหารผู้เสียชีวิตในสงครามช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบังกลาเทศกับอินเดีย

มันดีป ซิงห์

การก่อสร้างอนุสรณ์สถานสงครามเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารอินเดียที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเอกราชของบังกลาเทศพร้อมกับการประชุมระดับสูงด้านกลาโหม ยังคงสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือที่นายอัค อับดุล โมเมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ เคยกล่าวไว้ว่าเป็น “ความสัมพันธ์ทางสายเลือด”
กระทรวงกิจการสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศจะเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างอนุสาวรีย์บนพื้นที่ 1.4 เฮกตาร์ในเขตบราห์มันบาเรีย ใกล้กับพรมแดนรัฐตริปุระของอินเดีย โครงการใน พ.ศ. 2564 นี้จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับวาระครบรอบ 50 ปี การประกาศเอกราชจากปากีสถานของบังกลาเทศ การประกาศเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมระหว่างนายโมเมนและนางริวา กังกูลี ดาส ข้าหลวงใหญ่ของอินเดียประจำบังกลาเทศในขณะนั้น

สำนักงานของข้าหลวงใหญ่ระบุในแถลงการณ์ว่า “มีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นร่วมกันในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับบังกลาเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมืออันแข็งแกร่งและวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของเราเพื่อภูมิภาคที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง”

นายฮาร์ช วาร์ดัน ชลิงลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เดินทางเยือนกรุงธากาสองครั้งใน พ.ศ. 2563 หนึ่งในนั้นคือการเดินทางเยือนเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งนายชลิงลาได้กล่าวถึง “ความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างกองทัพของเรา” นายชลิงลาเดินทางเยือนกรุงธากาอีกครั้งในเดือนสิงหาคม เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานระยะเวลาสองปีเพื่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับนายโมเมนและนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ

ผู้บังคับบัญชากองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนอินเดียและกองกำลังป้องกันชายแดนบังกลาเทศ (ในภาพ) ได้หารือเกี่ยวกับวิธีการปรับการสื่อสารให้ดีขึ้นและลดการยิงสังหารอาชญากรข้ามชาติตามแนวชายแดนอินเดียและบังกลาเทศ ในระหว่างการเจรจาทวิภาคีในกรุงธากาเมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ตามรายงานของสำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย กองกำลังทั้งสองประเทศจะแบ่งปันข้อมูลกันตามเวลาจริงเพื่อต่อสู้กับการลักลอบนำเข้า การค้ามนุษย์ การปลอมแปลงเงินและเอกสาร ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง และภัยคุกคามร่วมกันอื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาทั้งสองประกาศ

ความร่วมมือด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2562 ครอบคลุมถึงการลาดตระเวนแบบประสานกันของกองทัพเรืออินเดียและกองทัพเรือบังกลาเทศ ซึ่งดำเนินการในอ่าวเบงกอลทางตอนเหนือในเดือนตุลาคม พร้อมกับการเจรจาด้านกลาโหมประจำปีครั้งที่ 2 และการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่สามเหล่าทัพเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการหารือเฉพาะด้านของเหล่าทัพระหว่างผู้นำกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังรักษาชายฝั่งจากทั้งสองประเทศ

การลาดตระเวนแบบประสานกันประจำ พ.ศ. 2562 มีเรือรบที่เข้าร่วม ได้แก่ เรือพิฆาตขีปนาวุธนำวิถี ไอเอ็นเอส รันวิจาย และเรือคอร์เวตติดขีปนาวุธที่สร้างขึ้นในประเทศ ไอเอ็นเอส คูทาร์ ของอินเดีย ร่วมกับเรือรบขนาดกลาง บีเอ็นเอส อาลี ไฮเดอร์ และเรือคอร์เวตติดขีปนาวุธนำวิธีล่องหน บีเอ็นเอส ชาดิโนตา ของบังกลาเทศ ตามมาด้วยการฝึกแบบทวิภาคีครั้งที่ 2 ใกล้เมืองท่าวิศาขาปัตตนัมทางตะวันออกของอินเดีย โดยมีหน่วยคอมมานโดของกองทัพเรือและลูกเรืออากาศเข้าร่วม

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศอินเดียได้ออกสินเชื่อจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.57 หมื่นล้านบาท) ให้แก่บังกลาเทศเพื่อการซื้อที่เกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม ตามรายงานของสำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย สินเชื่อนี้ช่วยให้กองทัพบังกลาเทศสามารถให้เงินทุนสนับสนุนการนำเข้า “สินค้าและบริการที่มีคุณสมบัติได้รับเลือก” ซึ่งร้อยละ 75 จะต้องมาจากประเทศอินเดีย

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button