ติดอันดับ

มาเลเซียปกป้องอธิปไตยด้วยการปรับปรุงการป้องกันทางทะเล

โจเซฟ แฮมมอนด์

รัฐบาลมาเลเซียยะระดับขีดความสามารถด้านกลาโหม เนื่องจากความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศแผนการซื้อเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 2 ลำและระบบอากาศยานไร้คนขับในความสูงระดับกลางที่มีความทนทานยาวนาน 3 ลำ

โดยบริษัทต่าง ๆ ที่หวังจะเป็นผู้จัดหาเครื่องบินดังกล่าวต้องยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“การซื้อครั้งนี้เป็นการซื้อที่ล่วงเลยเวลามานาน” นายอาดิบ ซัลคาพลี ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ โบเวอร์กรุ๊ปเอเชีย กล่าวกับ ฟอรัม “มาเลเซียเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงด้านบูรณภาพทางเขตแดนมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องชาวประมงต่างชาติไปจนถึงการลักลอบเข้าเมือง ยุทโธปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาจะช่วยจัดการกับภัยคุกคามอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ได้แน่นอน”

สัญญาด้านการใช้จ่ายครั้งใหม่ของรัฐบาลมาเลเซียเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เรือสำรวจลำหนึ่งซึ่งว่าจ้างโดย ปิโตรนาส บริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซีย เผชิญหน้ากับเรือสำรวจลำหนึ่งของรัฐบาลจีนที่บุกรุกเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563

เมื่อต้น พ.ศ. 2563 บริษัทย่อยของโบอิ้งที่ชื่อ อินซิทู ได้ส่งมอบโดรนสอดแนม สแกนอีเกิ้ล จำนวน 6 ลำให้แก่กองทัพเรือมาเลเซียภายใต้โครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเลของสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้มาเลเซียรับอากาศยาน 12 ลำภายใน พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ การจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเลจะช่วยให้มาเลเซียสามารถแปลงเครื่องบินขนส่ง ซีเอ็น-235 ที่สร้างโดยอินโดนีเซียจำนวน 2 ใน 7 ลำ (ในภาพ) มาเป็นเครื่องบินที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนทางทะเล

มีการอธิบายความสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างด้านกลาโหมของประเทศครั้งล่าสุดไว้ในสมุดปกขาวฉบับแรกของกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้คณะรัฐบาลของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

โดยระบุว่า “ในการพัฒนาขีดความสามารถที่จำเป็น กองทัพมาเลเซียจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ โดรน และเครื่องมือเฝ้าระวังที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานในการดำเนินปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ กองทัพอากาศมาเลเซียยังมีแผนที่จะซื้อเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลจำนวน 4 ลำและระบบอากาศยานไร้คนขับจำนวน 6 ลำ เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในมิติทางทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใช้จ่าย พ.ศ. 2564-2568

คาดว่างบประมาณด้านกลาโหมของมาเลเซียใน พ.ศ. 2563 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เป็น 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.15 แสนล้านบาท) ตามรายงานของเจนส์ดีเฟนซ์วีกลีย์ ทั้งนี้ อากาศยานลาดตระเวนลำใหม่ยังอาจช่วยยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งสร้างความสูญเสียให้มาเลเซียประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) ในแต่ละปี ตามข้อมูลจากสมุดปกขาว

โจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button