ติดอันดับ

ชาวเนปาลประท้วงการรุกล้ำของจีนตามแนวชายแดนติดกับทิเบตซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกกล่าวหาว่าละเมิดดินแดนของรัฐอธิปไตยอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เกิดขึ้นบนเทือกเขาในประเทศเนปาล การรุกรานครั้งล่าสุดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นรูปแบบการรุกรานทั้งทางบกและทางทะเลทั่วอินโดแปซิฟิก

นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวรวมกลุ่มกันประท้วงหน้าสถานทูตจีนในกาฐมาณฑุเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับการก่อสร้างของจีนในอำเภอฮัมลา ตามแนวชายแดนทางทิศเหนือของเนปาลที่ติดกับทิเบตซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลจีน หนังสือพิมพ์เด็คแเคนเฮรัลด์ของอินเดียรายงานว่า ผู้ประท้วงถือสัญลักษณ์และป้ายประท้วงที่มีข้อความอย่าง “กลับประเทศของตัวเองไปซะ พวกจีน!”

ลูกเรือชาวจีนได้สร้างอาคาร 11 หลังในพื้นที่เขตอำเภอห่างไกลของเนปาล ซึ่งเมื่อ 15 ปีก่อนเคยมีกระท่อมตั้งอยู่เพียงหลังเดียว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เดอะกาฐมาณฑุโพสต์ และกล่าวอีกว่า โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่สร้างโดยกองกำลังชายแดนและความมั่นคงของจีน โดยมีอาคารที่พักของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย

เดอะกาฐมาณฑุโพสต์รายงานว่า เจ้าหน้าที่เนปาลได้ไปเยือนสถานที่ดังกล่าวบนเทือกเขาหิมาลัยหลายวันก่อนเกิดการประท้วง และได้รับการต้อนรับจากกองทัพจีนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ข้อพิพาทดังกล่าวอาจเป็นประเด็นนับตั้งแต่ที่เครื่องหมายชายแดนหายไปนานหลายปี ก่อนที่จะพบอยู่ใต้หิมะและซากปรักหักพังในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 หลังจากพบเครื่องหมายดังกล่าว เจ้าหน้าที่อำเภอกล่าวว่าจะดำเนินการตรวจสอบเขตแดนอีกครั้งว่าอาคารที่สร้างใหม่อยู่ในเขตแดนของเนปาลหรือจีนกันแน่

ทั้งนี้ในเบื้องต้น กระทรวงการต่างประเทศของเนปาลได้ยืนยันถึงคำแถลงการณ์ของสถานทูตจีนในกาฐมาณฑุที่ว่า อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนเขตแดนฝั่งจีน อย่างไรก็ตาม รัฐสภาเนปาลปฏิเสธคำยืนยืนดังกล่าว โดยวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงการต่างประเทศว่าไม่รอจนกว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบชายแดนจะออกรายงานฉบับสุดท้าย หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดียรายงาน

ที่ราบสูงทิเบตที่อุดมไปด้วยทรัพยากร (ในภาพ) เป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่และต้นกำเนิดแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีมูลค่าทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล จีนได้ควบคุมทิเบตซึ่งเป็น “เขตปกครองตนเอง” อย่างเป็นทางการตั้งแต่กองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้ในทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502)

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้นโยบายเชิงบีบบังคับและกดขี่กับชาวทิเบต ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการกลืนวัฒนธรรม เช่นเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทำกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในและซินเจียงของจีน

รอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ว่า จีนวางแผนที่จะทุ่มเงิน 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท) ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของทิเบต ซึ่งรวมถึงการเชื่อมทางรถไฟกับเนปาลที่จีนได้ลงทุนไปอย่างมากด้วยเช่นกัน หลายคนมองว่าเนปาลเป็นป้อมปราการระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งองค์ดาไลลามะ ผู้นําทางจิตวิญญาณของทิเบต อาศัยอยู่ที่นี่ในฐานะผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่เกิดการรุกราน

อีกด้านหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย จีนยังติดพันอยู่กับข้อพิพาทที่คุกรุ่นมาอย่างยาวนานกับอินเดียเกี่ยวกับเขตแดนบนเทือกเขาหิมาลัย หรือที่เรียกกันว่าเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง อินเดียได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างถนนของจีนและการก่อสร้างอื่น ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนการละเมิดเขตแดนจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ความตึงเครียดที่ดำเนินมาอย่างยาวนานทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2563

การประณามเรื่องการบุกรุกเช่นนี้ของจีนมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกระทำการละเมิดโดยสร้างสิ่งปลูกสร้างเทียมเพื่อรองรับกองบัญชาการทางทหาร

แม้จะมีคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ให้ยกเลิกการอ้างสิทธิ์ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ แต่จีนก็ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายการเดินเรือ โดยรุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศชายฝั่งต่าง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button