เรื่องเด่น

ความตระหนักรู้เท่าทัน สถานการณ์ใต้น้ำ

จำเป็นต้องใช้แนวทางที่แตกต่างเล็กน้อย ในการสร้างขีดความสามารถทางเสียง

น.ท. (เกษียณอายุราชการ) ดร. อาร์นับ ดาส/กองทัพเรืออินเดีย

การเติบโตของอินเดียและสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้น่านน้ำชายฝั่งเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น น่านน้ำเหล่านี้มีตำแหน่งทิศทางที่เฉพาะตัวในการเคลื่อนกำลังพลของกองทัพเรือ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการเคลื่อนกำลังพลในเส้นทางใต้น้ำ หุ้นส่วนด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกจำเป็นต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำ เนื่องจากภัยคุกคามจากใต้น้ำที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น กองทัพต่าง ๆ ที่แข่งขันในด้านเงินทุนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ทหาร จะต้องรวมประชาคมที่หลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

แนวคิดเกี่ยวกับความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลมีความเด่นชัดมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ประชาคมโลกได้รวมตัวกันเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถในการแก้ไขข้อจำกัดด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล โดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ร่วมมือกับกลุ่มนักวิจัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล หลังจากการโจมตีหลายครั้งของผู้ก่อการร้ายในมุมไบเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 รัฐบาลอินเดียได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบเพื่อรับรองว่าความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียอยู่ในระดับที่เหมาะสม กองทัพเรืออินเดียได้เริ่มดำเนินการแผนที่ต้องใช้ความพยายามเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถ

เราต้องทำความเข้าใจความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลในรูปแบบปัจจุบันก่อน จึงจะพยายามเชื่อมโยงกับความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำ หรือนิยามความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำจากมุมมองใหม่ ๆ กรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ใน “แผนระดับชาติเพื่อการบรรลุความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลสำหรับยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านความมั่นคงทางทะเล” ไม่ได้กล่าวถึงภัยคุกคามใต้น้ำหรือกลยุทธ์ด้านการบรรเทาภัยคุกคามนั้น เนื่องจากในขณะนั้นสหรัฐฯ ยังไม่ถือว่าภัยคุกคามใต้น้ำเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน สหรัฐฯ จึงได้ตระหนักถึงลู่ทางอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ซึ่งผู้ก่อการร้ายอาจใช้เพื่อสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่ภัยคุกคามใต้น้ำก็ยังไม่ได้รวมอยู่ในการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

ปัจจุบันกองทัพเรือสหรัฐฯ สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่การทดสอบผลของโซนาร์ต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หลังจากเชื่อว่าการทดสอบโซนาร์ของนาโตมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ปลาวาฬคูเวียร์เกยตื้นใน พ.ศ. 2539 OURBREATHINGPLANET.COM

น.ต. สตีเฟน ซี. โบราซ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้นำเสนอเรื่องความเชื่อและความจริงต่าง ๆ ของยุคนั้นในรายงาน พ.ศ.
2552 และมองเห็นถึงข้อจำกัดด้านความตระหนักรู้เท่าทันทางทะเลที่กองทัพเรือผลักดัน งานวิจัยทางวิชาการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มองเห็นถึงข้อจำกัดด้านขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการรับมือกับภัยคุกคามใต้น้ำ หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบต่อความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลผ่านท่าเรือ ทางน้ำ และภารกิจด้านความมั่นคงชายฝั่ง ได้ดำเนินการลงทุนในยุทโธปกรณ์ทางผิวน้ำและทางอากาศจำนวนมาก รวมทั้งได้เพิ่มขีดความสามารถในการบังคับบัญชาและควบคุม อย่างไรก็ตาม การขยายภารกิจไปยังมิติใต้น้ำก็มีการดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภัยคุกคามใต้น้ำจากรัฐชาติต่าง ๆ กลุ่มผู้ก่อการร้าย และองค์กรอาชญากรรมกำลังเพิ่มสูงขึ้น และหลายกลุ่มในจำนวนนี้มีขีดความสามารถที่จะเอาชนะยุทธศาสตร์การลดความเสี่ยงของหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ ประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย มีขีดความสามารถใต้น้ำซึ่งอาจนำไปใช้สร้างความเสียหายขนาดใหญ่ต่อยุทโธปกรณ์ทางทะเลได้ นอกจากนี้ ผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ เช่น แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร กองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย และกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ก็มีการเคลื่อนกำลังพลใต้น้ำเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ความท้าทายด้านเซ็นเซอร์

เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายใต้น้ำที่อาจมีการนำไปใช้กับแอปพลิเคชันการเฝ้าระวังใต้น้ำต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่ซ้ำกันในสภาพแวดล้อมช่องทางใต้น้ำที่ใช้งานได้ยากเนื่องจากมีความกว้างแถบความถี่ต่ำ การประวิงเวลาการแพร่กระจายที่สูง และอัตราความผิดพลาดบิตที่สูงกว่า ความเร็วเสียงที่แปรผันได้และการเคลื่อนที่ของโนดเซ็นเซอร์ที่สำคัญเนื่องจากกระแสน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่มีความเฉพาะตัว การบิดเบือนของช่องทางใต้น้ำและความท้าทายเฉพาะที่เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์การบรรเทาที่มุ่งเน้น ซึ่งจำกัดการใช้งานสำหรับการประยุกต์ใช้ด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำที่กว้างขึ้น

การพัฒนาเทคโนโลยีใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเสียงมีความสมบูรณ์เต็มที่ในช่วงสงครามเย็น เมื่อสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในขณะนั้นลงทุนมหาศาลในน่านน้ำลึก และประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างความเสถียรด้านประสิทธิภาพโซนาร์ มีการทดลองภาคสนามใหญ่ในทะเลโดยตรวจสอบอัลกอริทึมและลดความไม่แน่นอนในระดับปานกลาง เมื่อจุดมุ่งเน้นทางทหารเรือได้หันเหไปสู่น่านน้ำริมชายฝั่งภายหลังสงครามเย็น จึงไม่มีการนำหลักการสร้างความเสถียรด้านประสิทธิภาพโซนาร์ในน่านน้ำลึกมาใช้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพยังไม่ถึงขั้นดีที่สุด คลื่นเสียงในน้ำตื้นมีความท้าทายที่เฉพาะตัว ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามีความสามารถไม่เพียงพอที่จะดำเนินการทดลองตามที่จำเป็น ทำให้คลื่นเสียงในน้ำตื้นเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม

ในช่วงสงครามเย็นมีการลงทุนทางทหารและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของชาติโดยไม่มีข้อกังขา แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง หน่วยงานรักษาความมั่นคงของชาติดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสนับสนุนในระดับเดียวกัน จึงส่งผลให้หลายโครงการหยุดลงกลางคัน ระบบเฝ้าระวังด้วยเสียงเป็นโครงการเครือข่ายเซ็นเซอร์ใต้น้ำขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2492 เพื่อตรวจสอบเรือโซเวียตในช่องจีไอยูเค โดยช่องจีไอยูเคนี้ คือพื้นที่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือซึ่งรวมเป็นจุดอับทางเรือ ย่อมาจากคำว่ากรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น สถานีบนชายฝั่งสำหรับระบบเฝ้าระวังต้องเปิดให้มีการวิจัยทางวิชาการเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการบำรุงรักษา โครงการนี้ส่งเสริมการวิจัยภาคสนามด้านเสียงใต้น้ำซึ่งทำให้ประสิทธิภาพโซนาร์ในน้ำลึกเพื่อการใช้งานที่ไม่ใช่ทางทหารหลายประการมีความเสถียรได้เป็นอย่างมาก

ยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติที่ใช้ค้นหาเครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 370 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

สถานที่ทดสอบกองทัพเรือพอยต์เซอร์ในรัฐแคลิฟอร์เนียเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2501 และปิดตัวลงใน พ.ศ. 2527 เนื่องจากขาดเงินทุน สถานที่ทดสอบการสะเทือนของเรือและโครงการระบบเซ็นเซอร์เฝ้าระวังแบบชุดลากจูงใช้งานที่ความถี่ต่ำ ต้องย้ายสถานที่และลดขนาดลงเนื่องจากมีการต่อต้านด้านสิ่งแวดล้อมจากสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สภาดังกล่าวกดดันให้กองทัพเรือยื่นแถลงการณ์ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ใน พ.ศ. 2539 มีการพบปลาวาฬคูเวียร์ 13 ตัวเกยตื้นบนชายฝั่งของประเทศกรีซ ซึ่งปลาวาฬชนิดนี้เป็นสายพันธุ์น้ำลึกที่พบเจอเกยตื้นได้ยาก ดร. อเล็กซานโดรส ฟรานต์ซิส นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเอเธนส์ เชื่อมโยงสาเหตุที่ปลาวาฬเกยตื้นเข้ากับการใช้โซนาร์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต มีส่วนร่วมในการทดลองร่วมระหว่างประเทศที่ใช้โซนาร์พลังงานสูงและความถี่ต่ำ ขณะเกิดเหตุปลาวาฬเกยตื้นครั้งนั้น เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปลุกระดมครั้งใหญ่ของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องให้ระงับการทดลองดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ จำต้องสนับสนุนเงินทุนให้แก่การวิจัยด้านผลกระทบของการทดลองดังกล่าวต่อสัตว์ทะเล เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยที่ประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมต้องสมดุลกับความต้องการด้านความมั่นคงของชาติ

ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลยังคงเป็นโครงสร้างที่ได้รับการผลักดันจากเหตุการณ์ เหตุวินาศกรรม 11 กันยายนในสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความพยายามอย่างมากต่อความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล และรัฐบาลอินเดียก็ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่ด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลหลังจากการโจมตีที่มุมไบ โครงการริเริ่มทั้งสองโครงการยังคงเป็นโครงการที่ได้รับการผลักดันจากความมั่นคง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มากนัก เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเก็บข้อมูลไว้อย่างรัดกุม โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลลับที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ความท้าทายสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศในอินโดแปซิฟิก คือการจัดสรรเงินทุนจำนวนมากสำหรับความจำเป็นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในทางการเมืองเมื่อพิจารณาถึงลำดับความสำคัญอื่น ๆ ดังนั้นแล้ว ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลจึงยังคงจำกัดเนื่องจากขาดทรัพยากรและแนวทางแบบองค์รวมทั้งประเทศ ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำ ในฐานะโครงสร้างที่ได้รับการผลักดันจากความมั่นคง จึงยากที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนเนื่องจากเป็นโครงการมีลักษณะที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก ซึ่งทำให้โครงการนี้ยิ่งยากที่จะได้รับการสนับสนุนในทางการเมืองมากขึ้นไปอีก

เมื่อคำนึงถึงความท้าทายของภัยคุกคามใต้น้ำที่เพิ่มขึ้นและยุทธศาสตร์การบรรเทาความเสี่ยงใต้น้ำที่กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มสำหรับประเทศที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับสูง จึงจำเป็นจะต้องมีแนวทางที่ต่างกันมากกว่านี้ ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำควรถือเป็นโครงสร้างที่แยกออกไปต่างหาก แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงส่วนขยายจากความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลและโครงสร้างพิเศษด้านความมั่นคง

ศักยภาพทางเสียง และการสร้างขีดความสามารถ

ช่วงเวลาหลังสงครามเย็นแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำที่สำคัญสองประการ ประการแรกคือการเปลี่ยนกิจกรรมความมั่นคงใต้น้ำไปสู่น่านน้ำริมชายฝั่ง ประการที่สองคือการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงที่มีประสิทธิภาพ ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เราเห็นการฟื้นฟูการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงอย่างมีนัยสำคัญเพื่อเอาชนะความท้าทายริมชายฝั่งเขตร้อน โดยมีส่วนประกอบสำคัญสามอย่างที่ควรได้รับความสนใจ นั่นคือ

  1. มองเห็น เครือข่ายของเซ็นเซอร์เพื่อให้มีความตระหนักรู้
  2. เข้าใจ การวิเคราะห์และตีความเสียง
  3. แบ่งปัน เครือข่ายส่งข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้ตามเวลาจริง

เดิมที กลุ่มประเทศเล็ก ๆ ได้ทำเซ็นเซอร์และควบคุมความพร้อมใช้งานของเซ็นเซอร์เหล่านั้น แม้ว่าจะต้องการผลิตเซ็นเซอร์ใต้น้ำเองภายในประเทศ แต่ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกก็ยังคงต้องดำเนินการด้วยเซ็นเซอร์นำเข้า

การพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายมีความคืบหน้าไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เสียงในน่านน้ำริมชายฝั่งของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียจำเป็นต้องใช้ความพยายามที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อเอาชนะการบิดเบือนระดับปานกลางเฉพาะที่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทดลองการวัดเสียงในน้ำตื้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเสียง ตามด้วยความพยายามในการประมวลผลสัญญาณเพื่อสร้างแบบจำลองช่องทางใต้น้ำและเสียงรบกวน

การทดลองการวัดเสียงในน้ำตื้นต้องใช้ปัจจัยหลักสองประการ นั่นคือ เครื่องมือเพื่อเข้าถึงพื้นที่ขนาดเล็กและห่างไกลใต้ทะเล และความสามารถในการประมวลผลสัญญาณเพื่อรับข้อมูลที่มีความหมาย เซ็นเซอร์ที่ส่งออกจากเรือตามแบบเดิมไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และการจะให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องศึกษานั้นมีต้นทุนสูง ส่วนเครื่องร่อนใต้น้ำได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดในการสำรวจเสียงใต้น้ำ เครื่องร่อนขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แบบลอยตัวได้นั้นแล่นช้า มีราคาถูกกว่า มีความทนทานยาวนาน และมีเสียงดังน้อยกว่า เครื่องร่อนเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานในจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ จากนั้นจึงนำมารวมกันเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องร่อนนี้เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าล่าสุดด้านยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติ ยานพาหนะเหล่านี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยใบพัดจึงสามารถใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเสียงได้ เนื่องจากสร้างเสียงน้อยและมีความทนทานยาวนาน

ขีดความสามารถในการวิเคราะห์เสียงยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสมาชิกของสมาคมเสียงนอร์ดิก สงครามต่อต้านเรือดำน้ำริมชายฝั่งเป็นปรากฏการณ์ล่าสุดและบางประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ลงทุนในขีดความสามารถเหล่านี้ สหรัฐฯ เริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับความกระหายสงครามของจีนในมิติทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 จึงต้องมีการทดลองเกี่ยวกับเสียงระดับนานาชาติในทะเลเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการการวัดเสียงในน้ำตื้นขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นศตวรรษนี้ ในช่วงแรก มหาวิทยาลัย 6 แห่งของสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้วางแผนระยะแรกของโครงการ ในระยะที่สอง จะมีมหาวิทยาลัย 20 แห่งจากจีน ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย

แนวคิดดังกล่าวมีนัยแฝงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างผล กระทบในวงกว้าง สหรัฐฯ ต้องใช้ข้อมูลเพื่อเอาชนะความท้าทายริมชายฝั่งเขตร้อนในทะเลจีนใต้ ดังนั้นการทดลองทั้งหมดจึงได้รับทุนจากสำนักงานวิจัยกองทัพเรือแต่นำโดยภาคการศึกษา การทดลองเกี่ยวกับเสียงระดับนานาชาติในทะเลเอเชียเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเสียงเป็นประจำโดยการสตรีมกลุ่มเสียงและส่งโดรนใต้น้ำเข้าไปในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ชาวจีนต่างตระหนักและยอมรับข้อจำกัดของการทำการทดลองการวัดเสียงในน้ำตื้นขนาดใหญ่ดังกล่าว จีนจึงเข้าร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้ หลังจากนั้นจีนมีการผลักดันขนานใหญ่จนเกิดเป็นโครงการกำแพงใหญ่ใต้น้ำ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 จีนได้ยึดโดรนใต้น้ำของสหรัฐฯ ที่ปล่อยจากเรือ ยูเอสเอ็นเอส โบวดิตช์ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นคำประกาศอย่างเป็นทางการว่า จีนสนใจที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการเสียงของตนเอง

เมื่อเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 370 หายสาบสูญระหว่างบินจากกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปยังปักกิ่ง ประเทศจีน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 จีนมีความกระตือรือร้นที่จะเป็นผู้นำปฏิบัติการค้นหา เพราะผู้โดยสารมากกว่าร้อยละ 90 บนเครื่องบินลำดังกล่าวมาจากประเทศจีน แต่ประเทศหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกกลับมอบหมายบทบาทนั้นให้ออสเตรเลียแทน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของจีนในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงที่เกิดขึ้นในระหว่างการค้นหาที่กินเวลานานสามปี

การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงในทะเลริมชายฝั่งเขตร้อนเกิดขึ้นได้ในการทดลองการวัดเสียงในน้ำตื้นขนาดใหญ่เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลและจำเป็นต้องได้รับเงินทุนในระดับที่แตกต่างออกไป รวมทั้งการสนับสนุนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย หุ้นส่วนในแปซิฟิกจึงจำเป็นต้องรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันและประสานความพยายามเพื่อร่วมกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

กรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำเป็นแผนที่จะนำมาซึ่งความโปร่งใส โดยปกติจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำสี่ฝ่ายที่พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมิติใต้ทะเลเพื่อนำไปสู้การค้นคว้าวิจัยของตนมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ: การไม่สามารถเข้าถึงและความทึบแสงของพื้นที่ใต้น้ำนำมาซึ่งปัญหาที่ซับซ้อนในการเฝ้าระวังและการระบุองค์ประกอบที่รบกวน การมีส่วนร่วมของผู้มีบทบาทนอกภาครัฐทำให้ประเด็นนี้ยุ่งยากมากขึ้น ความกระตือรือร้นในการตระหนักรู้ใต้ทะเลจากมุมมองด้านความมั่นคงหมายถึงการปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเล น่านน้ำชายฝั่ง และทรัพย์สินทางทะเลที่หลากหลายจากการเพิ่มจำนวนของเรือดำน้ำและขีดความสามารถของทุ่นระเบิดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการเข้าถึงทะเลและน่านน้ำริมชายฝั่ง

หน่วยงานเศรษฐกิจทางทะเล: การค้าและการเชื่อมต่อกับโลกช่วยรับรองความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหาร มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บรักษาทรัพยากรมหาศาลที่สามารถนำมาซึ่งสภาพเศรษฐกิจที่ดีของประเทศ ซึ่งโอกาสขนาดใหญ่ในหลายภาคส่วน รวมถึงเภสัชกรรม น้ำมันและก๊าซ การทำเหมืองใต้ทะเล โลจิสติกส์ และการขนส่ง ต่างกำลังรอให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์

หน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานจัดการภัยพิบัติ: มหาสมุทรยังเป็นสถานที่ต้นกำเนิดภัยธรรมชาติหลายอย่าง เราอาจป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ได้ แต่การเตือนภัยล่วงหน้าสามารถลดการเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงและเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานด้านการจัดการจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าวในอนาคต

ผู้ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: มีข้อกำหนดสำหรับการเติบโตอย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนในมิติใต้ทะเลอยู่เสมอ โดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักความพยายามดังกล่าว และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำความเข้าใจระบบนิเวศใต้ทะเล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่หลากหลายของระบบนิเวศ และผลกระทบจากการแทรกแซงของมนุษย์ในระบบนิเวศ

แนวทางเดิมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ดำเนินการตามความพยายามด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำของตนมีข้อจำกัดอย่างร้ายแรง เมื่อพิจารณาจากการแข่งขันให้ได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อที่จะลงทุนในระยะยาว ซึ่งเป็นการจำกัดความพยายามของความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำไว้กับประเทศเฉพาะกลุ่ม ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างระบบสากลที่สามารถลดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งสันติภาพและความสามัคคีระหว่างประเทศ

ภาพที่ 1 แสดงมุมมองที่ครอบคลุมของกรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำ ข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดคือการรู้จักการพัฒนาในพื้นที่ใต้ทะเล ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเหล่านี้ แล้วตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล

ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำในระดับครอบคลุมจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจทั้งในด้านโครงสร้างแนวดิ่งและโครงสร้างแนวนอน โดยโครงสร้างแนวนอนจะเกี่ยวกับความพร้อมใช้งานของทรัพยากรในแง่ของเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ขีดความสามารถ และศักยภาพ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งแสดงให้เห็นบนด้านสี่ด้านของลูกเต๋าจะมีข้อกำหนดเฉพาะ แม้ว่าแกนกลางจะยังคงเป็นการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงก็ตาม ส่วนโครงสร้างแนวดิ่งคือลำดับชั้นของการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำอย่างครอบคลุม ลำดับแรกจะเป็นการตรวจหาภัยคุกคาม ทรัพยากร และกิจกรรมในพื้นที่ใต้ทะเล ลำดับที่สองจะเป็นการทำความเข้าใจข้อมูลที่สร้างขึ้นเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคง แผนอนุรักษ์ และแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ลำดับถัดไปจะเป็นการกำหนดกรอบการกำกับดูแลและกลไกการตรวจสอบในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก

ภาพนี้ให้แนวทางในอนาคตอย่างครอบคลุมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กันได้ ส่วนตัวลูกเต๋าแสดงถึงด้านเฉพาะทางที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการ ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และผู้ใช้ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นตามข้อกำหนดของผู้ใช้ ข้อมูลทางวิชาการ และส่วนต่อประสานของอุตสาหกรรมที่แสดงโดยลูกเต๋าที่แยกออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดแนวทางที่มีการมุ่งเน้นมากขึ้นและกรอบการทำงานแบบโต้ตอบที่กำหนดไว้เป็นอย่างดี กรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำสามารถจัดการกับความท้าทายมากมายที่ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญ ด้วยแรงกระตุ้นที่เหมาะสม กรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำที่นำเสนอนี้สนับสนุนความพยายามในการรวมทรัพยากรและประสานงานกันโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนสำหรับทุกคน

ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเผชิญหน้าทางทะเล การมีผู้มีบทบาทนอกภาครัฐเพิ่มขึ้นทำให้เรื่องซับซ้อนมากขึ้น โดยมีข้อได้เปรียบที่ไม่สมมาตรซึ่งมีองค์ประกอบที่พยายามบ่อนทำลายอยู่เสมอ ความท้าทายทางกายภาพเฉพาะจุดต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อที่จะเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้ การสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงจึงสมควรได้รับความสนใจอย่างมากในทันที ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้เป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้มีการการลงทุนทางทหารขนาดใหญ่ ดังนั้น การรวมทรัพยากรและการประสานความพยายามร่วมกันจึงเป็นแนวทางดำเนินการเดียวที่มีอยู่

ประเทศกำลังพัฒนามีความท้าทายของตน เช่น ทรัพยากรที่จำกัด ความท้าทายทางเทคโนโลยี ปัญหาการปกครอง และอื่น ๆ ซึ่งหากใช้แนวทางอย่างเป็นระบบและเป็นเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมก็จะประสบความสำเร็จในระยะยาว กรอบความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้น้ำดังที่เสนอไปไม่ใช่เพียงส่วนขยายในด้านใต้น้ำของแนวคิดความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลเท่านั้น แต่ยังจัดการด้านแบบจำลองการเติบโตที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button