เรื่องเด่น

การเดินทาง สู่ การพึ่งพาตนเอง

การช่วยเหลือด้านการพัฒนาช่วยให้ประเทศในอินโดแปซิฟิกช่วยเหลือตนเองได้

นาย บรูซ แมกฟาร์แลนด์/องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมหลายคนไม่ได้คิดว่าความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นเครื่องมือด้านความมั่นคงในทันที แต่กระนั้น การสนทนาเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกทุกครั้งก็จะดำเนินไปสู่ด้านการปกครอง การศึกษา สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ และด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นด้านที่อยู่นอกเหนือกิจกรรมด้านกลาโหมแบบดั้งเดิมในที่สุด เนื่องจากความมั่นคงของชาติขึ้นอยู่กับมิติทางสังคมที่หลากหลาย

สหรัฐอเมริกามีวิสัยทัศน์ร่วมกับหลายประเทศที่มีความคิดคล้ายกัน นั่นคือ แนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งทุกประเทศจะเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันในฐานะรัฐอธิปไตยที่เป็นเอกราช อย่างไรก็ตาม ทุกชาติต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก ผู้กระทำการชั่วร้าย ตั้งแต่อาชญากรข้ามชาติและผู้ก่อการร้ายไปจนถึงอำนาจเผด็จการที่กดขี่ผู้อื่น ต่างพยายามที่จะสั่นคลอนประเทศที่เปราะบาง ช่วงชิงความมั่งคั่งและอำนาจอธิปไตย และทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นเมืองขึ้นของตน ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และโอกาสสำหรับทุกคนในอินโดแปซิฟิก ทุกประเทศในภูมิภาคต่างรู้สึกถึงความเสียหายที่ผู้กระทำการชั่วร้ายเหล่านี้ก่อขึ้น รัฐต่าง ๆ ต้องร่วมกันป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่ต้องร่วมกันป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงแบบดั้งเดิม หากประยุกต์ใช้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาได้ดี จะมีประโยชน์มากกว่าการช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อทำให้ชุมชนและประเทศต่าง ๆ เข้มแข็งขึ้นต่ออิทธิพลที่ชั่วร้าย

การเดินทางสู่การพึ่งพาตนเอง เป็นคำที่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ใช้อธิบายวิธีการทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อช่วยเหลือตลอดเส้นทางการพัฒนาของประเทศเหล่านั้นเอง แนวทางนี้อ้างอิงจากประสบการณ์อันลึกซึ้งที่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้รับตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลกผ่านการใช้ความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ผลักดันให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น ความช่วยเหลือสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อรวมเข้ากับความมุ่งมั่นและศักยภาพในหมู่ประชาชน ชุมชน ภาคเอกชน และรัฐบาลของประเทศหุ้นส่วน สิ่งที่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทำเป็นส่วนใหญ่นั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศหุ้นส่วนในการปลูกฝังความมุ่งมั่นและศักยภาพของตน ช่วยให้ประเทศเหล่านั้นกำหนดวัตถุประสงค์และเส้นทางของตนเอง ตลอดจนช่วยสร้างการพึ่งพาตนเองและความพร้อมรับมือ

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความของการพึ่งพาตนเองว่าหมายถึงศักยภาพในการวางแผน จัดหาเงินทุน และปรับใช้วิธีการแก้ปัญหากับความท้าทายด้านการพัฒนาในท้องถิ่น รวมถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเหล่านี้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุม และมีความรับผิดชอบ คำจำกัดความนี้เป็นพื้นฐานให้แก่แนวทางการช่วยเหลือต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทั้งหลักฐานที่หน่วยงานได้รวบรวมและค่านิยมที่ค้ำจุนการทำงานขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อประเทศต่าง ๆ พึ่งพาตนเองมากขึ้น ประเทศเหล่านั้นก็จะสามารถกำหนดเส้นทางการพัฒนาของตนเองและหาหนทางจัดการกับอุปสรรคระหว่างทางได้ โดยการพึ่งพาตนเองนั้นหมายรวมถึงความพร้อมรับมือ ซึ่งองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความว่าเป็นความสามารถของผู้คน ครัวเรือน ชุมชน ประเทศ และระบบในการบรรเทา ปรับตัวให้เข้ากับ และฟื้นฟูจากอาการตกใจและความเครียดในลักษณะที่ลดความเปราะบางในระยะยาวและเอื้อต่อการเติบโตแบบครอบคลุม

การพึ่งพาตนเองและความพร้อมรับมือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในต้นแบบขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสมเหตุสมผล เมื่อมองดูบรรดาประเทศที่มีเสถียรภาพและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่มีประชากรที่ได้รับการศึกษาดี มีสุขภาพดี และเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจที่มีพลวัตและไม่แบ่งแยก พร้อมกับรัฐบาลที่มีความสามารถและตอบสนองต่อพลเมืองของตน ในทางกลับกัน เมื่อประชากรทุกข์ยากและเศรษฐกิจทรุดโทรมลง จะส่งผลให้เกิดความไร้เสถียรภาพและความลำบากยากแค้น เมื่อรัฐบาลล้มเหลวในการทำหน้าที่รับใช้ประชาชนทั้งปวง ความไม่สงบจะเกิดขึ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงและความวุ่นวายในที่สุด

ในระยะยาว ความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมของทุกประเทศภายใต้ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับหลักนิติธรรม การใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ และการค้นหาศักยภาพที่ตนเองเป็นผู้กำหนด การแข่งขันที่เป็นธรรมและตลาดที่เสรี ยุติธรรม และเปิดกว้าง ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงแนวคิดนั้น ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและระหว่างประเทศเกิดสมดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในการสร้างความมั่นคงทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ แต่ละประเทศจะต้องเอาชนะความเปราะบางของตนและกลายเป็นรัฐที่พร้อมรับมือ พึ่งพาอำนาจอธิปไตยของตนเอง และเป็นรัฐเอกราช รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกอย่างสมบูรณ์

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทำให้แนวทางนี้เป็นจริงผ่านแนวทางการดำเนินงานระดับประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักที่ทำให้มองเห็นภาพขององค์กรเกี่ยวกับการจัดการด้านการพึ่งพาตนเองในประเทศที่กำหนด โดยอ้างอิงจากตัวชี้วัดภายนอกที่เป็นสาธารณะ 17 ข้อซึ่งสรุปแนวคิดเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและขีดความสามารถในหลากหลายมิติ ทางองค์กรได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานระดับประเทศรายปีให้แก่ประเทศทั้งหมด 137 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางตามการจำแนกของธนาคารโลก และทำให้แนวทางเหล่านั้นเข้าถึงได้โดยสาธารณะ ดูแนวทางการดำเนินงานระดับประเทศได้ที่ https://selfreliance.usaid.gov/

แนวทางการดำเนินงานเหล่านี้ใช้เพื่อประเมินว่าประเทศหนึ่ง ๆ อยู่ ณ จุดใดในเส้นทางการพัฒนา ซึ่งการสนทนากับรัฐบาลที่เป็นหุ้นส่วน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจในวิถีที่ประเทศนั้น ๆ มุ่งไป จากจุดนั้น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะสามารถใช้ทุกแนวทางที่มีเพื่อเร่งกระบวนการได้ แนวทางสองอย่างที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ การจัดหาเงินทุนเพื่อการพึ่งพาตนเอง และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การจัดหาเงินทุนเพื่อการพึ่งพาตนเองเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความสามารถของประเทศให้บริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจะส่งเสริมสภาพแวดล้อมตลาดให้แข็งแกร่งและส่งเสริมวิธีการแก้ปัญหาความท้าทายในการพัฒนาที่มีแรงกระตุ้นมาจากตลาด องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับรัฐบาลหุ้นส่วนเพื่อมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมุ่งมั่นและศักยภาพ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในขณะที่การพึ่งพาตนเองเติบโตขึ้น โดยใช้โครงการและกิจกรรมเฉพาะเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์นี้

แม้ว่าการที่ประเทศและสังคมต่าง ๆ กำหนดเส้นทางการพึ่งพาตนเองด้วยตนเองจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่จากประสบการณ์ขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทำให้ทราบว่าบางเส้นทางได้ผลดีกว่าเส้นทางอื่น ๆ วิธีการแก้ปัญหาแบบอ้างอิงตลาดโดยร่วมมือกับภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะมีความยั่งยืนมากกว่าการลงทุนเพียงครั้งเดียวที่ตอบสนองเพียงความต้องการเฉพาะหน้าเท่านั้น การใช้แนวทางปฏิบัติด้านการพัฒนาแบบครอบคลุมตั้งแต่ต้นทำให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกเร็วขึ้น และก่อให้เกิดความมุ่งมั่นจากสังคมโดยรวม นอกจากนี้ การเริ่มด้วยแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ และการคงไว้ซึ่งหลักการเหล่านั้นในทุกระดับของรัฐบาลและสังคม ยังช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จอีกด้วย การสร้างศักยภาพของมนุษย์และศักยภาพของสถาบันทั่วทั้งภาคเศรษฐกิจ ประชาสังคม รัฐบาล และประชากร เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสมดุลแก่วิธีการแก้ปัญหา เพื่อให้แน่ใจว่าวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นจะคงอยู่ต่อไป

ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาช่วยเสริมสร้างด้านกลาโหมและการทูตเพื่อปกป้องความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก แนวทางการเดินทางสู่การพึ่งพาตนเองขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ช่วยขจัดภัยคุกคามจากต้นกำเนิด เสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้า สร้างความก้าวหน้าแก่เสรีภาพและประชาธิปไตย รวมทั้งให้ความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้เพื่อรับรองว่าพันธมิตรและหุ้นส่วนจะอยู่เคียงข้างผู้ที่ลำบากเมื่อเกิดภัยพิบัติ ภายใต้ความพยายามของสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนที่มีความคิดคล้ายกัน ท้ายที่สุด เป้าหมายของความช่วยเหลือต่างประเทศของทางองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ต้องเป็นการกำจัดความจำเป็นในการมีอยู่ของหน่วยงานเอง ทุกประเทศและทุกเขตแดนจะประสบความสำเร็จเมื่อต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จ

นายบรูซ แมกฟาร์แลนด์ เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการพัฒนาขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ แห่งกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก บทความนี้เรียบเรียงจาก
กรอบการทำงานด้านนโยบายขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดยความคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียนเอง


สหรัฐฯ เพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นมาอย่างยาวนานต่อประเทศเพื่อนบ้านในอินโดแปซิฟิกและมิตรประเทศ ในการส่งเสริมแนวคิดภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่สงบ เสรี และเปิดกว้าง สิ่งที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับสหรัฐฯ คือความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกับทั่วทั้งภูมิภาคเมลานีเซีย ไมโครนีเซีย และพอลินีเชีย

ในระหว่างการประชุมกับผู้นำประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จำนวน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท)
ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือจำนวน 36.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ประมาณ 1.1 พันล้านบาท) ที่ประกาศมอบให้ในการประชุมประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกครั้งที่ 50 เมื่อเดือนก่อนหน้า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นดังกล่าวแล้ว สหรัฐฯ ยังลงทุนเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.08 หมื่นล้านบาท) ต่อปีในโครงการ ความช่วยเหลือ และปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองมากขึ้นสำหรับภูมิภาคนี้ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือและจะร่วมมือกับหมู่เกาะแปซิฟิกต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพระดับภูมิภาค สร้างความก้าวหน้าแก่การเติบโตอย่างยั่งยืน จัดการความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อภัยธรรมชาติ และเสริมสร้างความผูกพันระหว่างผู้คนด้วยกัน”

สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่แก่ภูมิภาคนี้เป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.11 พันล้านบาท) ภายใต้คำมั่นสัญญาแปซิฟิกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก โดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่เป็นมูลค่ามากกว่า 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.96 พันล้านบาท) ซึ่งมากกว่าความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้านี้ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

รายละเอียดการใช้จ่ายเงินเพื่อการมีส่วนร่วมในแปซิฟิกที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ มีดังนี้

  • การปรับปรุงความพร้อมรับมือต่อความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม:สหรัฐฯ วางแผนที่จะทุ่มเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 311 ล้านบาท) เพื่อให้การสนับสนุนความพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติ การพยากรณ์อากาศ และเพื่อแก้ไขความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแปซิฟิก โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาตระหนักว่าการจัดการความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในแปซิฟิก เนื่องจากภัยคุกคามที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ”
  • การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและการขยายการเชื่อมต่อ:สหรัฐฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือเร่งด่วนจำนวน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 717 ล้านบาท) ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าให้ปาปัวนิวกินี และกำลังทำงานร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ เพื่อให้พื้นที่อย่างน้อยร้อยละ 70 ของภูมิภาคแปซิฟิกมีกระแสไฟฟ้าใช้ภายใน พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ยังจะมอบเงินจำนวน 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    (ประมาณ 233 ล้านบาท) เพื่อช่วยขยายการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ทั่วทุกประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอีกด้วย
  • การเสริมสร้างการปกครองที่ดี:สหรัฐฯ จะมอบเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 467 ล้านบาท) “เพื่อส่งเสริมการปกครองที่เข้มแข็ง เป็นธรรม และตอบสนองเร็วภายในภูมิภาค ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถให้พลเมือง ช่วยต่อสู้กับการทุจริต และเสริมสร้างเอกราชของประเทศต่าง ๆ” โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มความโปร่งใสของอินโดแปซิฟิก อีกทั้งศูนย์การมีส่วนร่วมระดับโลกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังทำงานเพื่อเสริมสร้างการฝึกอมรมและการรายงานด้านสื่อสารมวลชนในท้องถิ่นด้วย
  • การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล:องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะมอบเงินจำนวนมากถึง 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    (ประมาณ 233 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือหมู่เกาะแปซิฟิกให้หยุดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน
  • การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง:กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะส่งที่ปรึกษาไปยังฟิจิ ปาเลา และหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ในฟิจิ จะมีการส่งที่ปรึกษานโยบายยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมและการปฏิรูปการวางแผนให้เข้าร่วมกับกระทรวงกลาโหมฟิจิ ในปาเลา ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมกับแผนกบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของกระทรวงยุติธรรมจะช่วยเหลือในการเริ่มดำเนินการศูนย์กฎหมายทางทะเลแห่งใหม่ ในหมู่เกาะโซโลมอน ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมกับกองกำลังตำรวจหมู่เกาะโซโลมอนของกระทรวงตำรวจและความมั่นคงของชาติจะเสริมสร้างการปกครองและความมั่นคงทางทะเล
  • การสร้างศักยภาพทางไซเบอร์:สหรัฐอเมริกาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการสร้างศักยภาพในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 สำหรับหมู่เกาะแปซิฟิกในด้านการพัฒนายุทธศาสตร์ทางไซเบอร์ระดับชาติ การบริหารความเสี่ยงและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ ตลอดจนการจัดการคลื่นความถี่บรอดแบนด์และการเชื่อมต่อดิจิทัล

    “สหรัฐอเมริกาเป็นและจะเป็นประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเสมอ” จากรายงานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ชื่อ “อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง: การสร้างความก้าวหน้าแก่วิสัยทัศน์ร่วม” “เรามุ่งมั่นที่จะค้ำจุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ที่ซึ่งทุกประเทศทั้งใหญ่และเล็กต่างมีความมั่นคงในอำนาจอธิปไตยของตน และสามารถแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ เราจะต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจังกับความพยายามที่จะจำกัดเอกราชและเสรีภาพในการเลือกของประเทศในอินโดแปซิฟิก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button