วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

เทศกาลชินโต สืบสานประเพณีเก่าแก่หลายศตวรรษในญี่ปุ่น

ดอกไม้ไฟสว่างไสวในคืนฤดูหนาว เหล่าชายหญิงและวัยรุ่นจำนวนมากตะโกนก้องว่า วาโชอิ วาโชอิ (แปลว่า ยอดเยี่ยม) พร้อมกับแห่ขบวนรถที่ประดับประดาด้วยโคมไฟทั้งหกคันสุดท้ายจากเนินเขาเล็ก ๆ ไปจนถึงใจกลางเมือง นี่คือช่วงเวลาที่ครึกครื้นมากที่สุดของเทศกาลของลัทธิชินโต ซึ่งพัฒนามาจากการขอบคุณเทพเจ้าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวไปสู่การพบปะระหว่างเทพเจ้าท้องถิ่นสององค์ในรอบปี

เทศกาลกลางคืนชิชิบุมีรากฐานมายาวนานกว่า 1,000 ปีและเป็นหนึ่งในสามเทศกาลแห่รถขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ซึ่งรถในขบวนอาจมีความสูงสุดถึง 7 เมตรและมีน้ำหนักมากถึง 15 ตัน โดยมีชาวเมืองหลายร้อยคนในชุดเทศกาลแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยผ้าคาดศีรษะ กางเกงแนบเนื้อสีดำ และเสื้อคลุมผ้าฝ้ายตัวหนาที่เขียนตัวอักษรญี่ปุ่น ลากรถติดล้อไม้ขนาดใหญ่เหล่านั้นไปตามถนน พร้อมตีกลอง โห่ร้อง และร้องเพลงอย่างสนุกสนาน

ชินโตเป็นศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมานานหลายศตวรรษ ซึ่งเป็นลัทธิวิญญาณนิยมที่เชื่อว่ามี คามิ หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หลายพันตนอาศัยอยู่ในธรรมชาติ เช่น ป่า แม่น้ำ และภูเขา ชินโตส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ร่วมกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อย่างกลมกลืนและสามารถขอความช่วยเหลือจากวิญญาณเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ วิญญาณบรรพบุรุษยังกลายเป็นคามิและสามารถช่วยเหลือลูกหลานที่ยังมีชีวิตได้เช่นกัน

พระมิโนรุ โซโนดะ เจ้าอาวาสประจำศาลเจ้าชิชิบุและอดีตศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เล่าว่า เทศกาลที่จัดขึ้นเป็นเวลาสองวันนี้มีรากฐานมาจากประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพิธีแสดงการขอบคุณต่อเทพเจ้าแห่งภูเขาใกล้เคียงที่ช่วยเหลือในช่วงฤดูปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว ใน พ.ศ. 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้กำหนดให้เทศกาลนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในลักษณะนามธรรม “นี่คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ” พระโซโนดะกล่าว

ในช่วงยุคกลางของญี่ปุ่น เทศกาลนี้พัฒนาไปเป็นงานฉลองการพบปะประจำปีระหว่างเทพเจ้าแห่งภูเขาใกล้เคียงกับเทพธิดาประจำเมือง โดยกลุ่มชายชุดขาวจะแบกเกี้ยวลักษณะคล้ายศาลเจ้าสีสันสวยงามซึ่งมีเทพธิดาประจำเมืองสถิตอยู่ภายในผ่านถนนไปยังสวนสาธารณะกลาง จากนั้นวางเกี้ยวพักไว้ขณะที่รอให้รถแห่อีกหกคันค่อย ๆ มาพบกันที่จัตุรัสซึ่งคลาคล่ำด้วยฝูงชน และเมื่อรถแห่แต่ละคันมาถึงก็จะมีการจุดดอกไม้ไฟต้อนรับ

ผู้เข้าร่วมงานสวมเสื้อคลุมฮัปปิแบบดั้งเดิมเตรียมถ่ายภาพเซลฟี ก่อนที่งานเทศกาลกลางคืนชิชิบุในเมืองชิชิบุ ประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มขึ้น ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

ทุกวันนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต่างหลั่งไหลกันมาชมเทศกาลนี้ ซึ่งดึงดูดผู้ชมประมาณ 200,000 คนในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยที่บางคนไม่ทราบถึงความเป็นมาเหล่านั้นเลยและกล่าวว่าเทศกาลนี้ไม่มีความหมายทางศาสนาสำหรับตน แต่ตนเพียงต้องการรักษาประเพณีไว้เท่านั้น พวกเขามาเยือนเมืองแห่งนี้โดยนั่งรถไฟมาทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวประมาณ 90 นาที เพื่อมาสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่สนุกสนาน

“ผมชอบดอกไม้ไฟและอาหาร และมาที่นี่เพื่อความสนุกล้วน ๆ ผมไม่ค่อยนึกถึงด้านศาสนาเท่าไรนัก” นายมิตซูโอะ ยามาชิตะ ชายอายุ 69 ปีซึ่งเกษียณอายุแล้วที่มาเที่ยวชมเทศกาลนี้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากล่าว “คนญี่ปุ่นไม่ได้เคร่งศาสนามากนัก แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็นับถือศาสนาไปทั่ว”

ชาวญี่ปุ่นหลายคนผสานความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเสรีโดยขึ้นอยู่กับโอกาส เช่น ไปเยี่ยมชมศาลเจ้าชินโตในช่วงปีใหม่ จัดงานศพแบบชาวพุทธ หรือแต่งงานในพิธีแแบบชาวคริสต์ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาก แม้ว่าจะมีประชากรที่เป็นชาวคริสต์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น “ผมไม่แน่ใจว่านั่นแปลว่าเรามีความยืดหยุ่นหรือเราไม่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้ากันแน่” นายยามาชิตะกล่าว

มุมมองศาสนาที่แตกต่าง

นักเรียนหญิงมัธยมกลุ่มหนึ่งสวมใส่ชุดประจำเทศกาลกำลังเดินเตร่ไปตามถนนในช่วงบ่าย ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมการลากรถแห่ดังกล่าวและกล่าวว่าเทศกาลนี้ไม่ใช่พิธีทางศาสนาสำหรับพวกเธอ แต่นักเรียนหญิงกลุ่มนั้นก็ยังบอกอย่างหนักแน่นว่าเชื่อเรื่องเกี่ยวกับการพบกันของเทพเจ้าทั้งสองในเย็นวันนั้น นอกจากนี้ เด็กสาวกลุ่มนั้นยังกล่าวว่าพวกตนจะฉลองคริสต์มาสด้วยต้นสนที่ตกแต่งอย่างสวยงามและการให้ของขวัญ รวมทั้งไม่คิดว่าการผสมความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะมีปัญหาแต่อย่างใด

“ไม่มีปัญหาค่ะ! นั่นเป็นเรื่องปกติ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ทำแบบนั้น” นางสาวริโอ นิชิมิยะ อายุ 18 ปี กล่าว

“คนญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่น” นางสาวเมย์ริ ชิมาดะ เพื่อนอีกคนที่อายุ 18 ปีเช่นกันกล่าว “นั่นเป็นเรื่องที่ดีนะ!”

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมีมุมมองแบบเดียวกันในเรื่องนี้ นั่นคือ มีทัศนคติต่อศาสนาอย่างคลุมเครือ หลายคนอาจจะบอกว่าตนไม่ได้นับถือศาสนา แต่ในทุก ๆ ปีก็ยังมีชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนเดินทางมาที่ศาลเจ้าชินโตและวัดพุทธทั่วประเทศญี่ปุ่น และยังมีหิ้งบูชาเล็ก ๆ อยู่ในบ้านไว้เพื่อสวดมนต์

ในญี่ปุ่นรวมถึงบางส่วนของเอเชียมีมุมมองต่อศาสนาที่แตกต่างมากกว่าในโลกตะวันตกหรือโลกอิสลามที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อส่วนบุคคลและชุดความเชื่อหรือหลักความเชื่อตามคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์ไบเบิลหรืออัลกุรอาน

ในญี่ปุ่น ศาสนาคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ชุมชน และพิธีกรรม มากกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ลัทธิชินโตไม่มีคัมภีร์ทางศาสนาหรือหลักเทววิทยาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็คงยุ่งเกินกว่าจะสรุปเรื่องนี้ได้ “นี่เป็นศาสนาแห่งชีวิต” พระโซโนดะ เจ้าอาวาส กล่าว “เป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งได้มอบจิตวิญญาณถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก และไม่ใช่เพียงกับมนุษย์เท่านั้น แต่เรายังเชื่อมโยงกับสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เรายังมีชีวิตอยู่”

“โลกทัศน์อาจเป็นวิธีในการอธิบายเรื่องนี้ได้ดีกว่า” พระโซโนดะกล่าว

ผู้ที่นับถือลัทธิชินโตในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนไม่แน่ชัดเนื่องจากไม่มีการนับที่ชัดเจนนั่นเอง “เราไม่ใช้คำว่า ‘ผู้นับถือ’” พระโซโนดะกล่าว ไม่มีพิธีกรรมประจำสัปดาห์และไม่มีหมอสอนศาสนาที่เผยแผ่ลัทธิชินโต

การอยู่ร่วมกัน

มีศาลเจ้าชินโตมากกว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมากพอ ๆ กับวัดพุทธ โดยทั่วไปทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หลังจากที่ศาสนาพุทธเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงศตวรรษที่ 6 พร้อมกับแนวคิดของขงจื๊อจากจีน

ประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งอันเป็นที่มาของทัศนคติที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อศาสนา นายซูซูมุ ชิมาโซโนะ ศาสตราจารย์ด้านศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานศึกษาแบบคาทอลิก กล่าวว่า “แต่ละศาสนามีบทบาทที่แตกต่างกัน และทั้งสามศาสนานี้ ได้แก่ ชินโต พุทธ และขงจื๊อ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น” และกล่าวเสริมว่า “ศาสนาเหล่านี้มีหลักความเชื่ออยู่บ้าง แต่ไม่มีศาสนาใดที่เน้นความเป็นเอกเทศ การผสมผสานแนวคิดและปรัชญาแบบนี้เป็นเรื่องปกติในเอเชียตะวันออก”

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความสนใจในลัทธิชินโตในหมู่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปนั้นมีลักษณะคงตัวหรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้นด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนศาลเจ้าอิเสะซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 8.9 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 โดยเพิ่มขึ้นจาก 7.8 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันของ พ.ศ. 2561 และ 8.5 ล้านคนตลอดทั้ง พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ ลัทธิชินโตยังผูกพันกับราชวงศ์ญี่ปุ่น โดยถือว่าจักรพรรดิเป็นทายาทของเทพธิดาแห่งดวงอาทิตย์ อะมาเทราสุ โอมิคามิ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิชินโตได้รับการเลื่อนขึ้นให้เป็นศาสนาประจำชาติ และการต่อสู้ในสงครามนั้นกระทำในนามของจักรพรรดิซึ่งเปรียบดังเทพเจ้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรพรรดิถูกปลดจากสถานะเทพเจ้า อีกทั้งรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกาได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและแยกศาสนากับรัฐออกจากกัน ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button