ข่าวผู้ก่อการร้ายแผนก

อินโดนีเซีย ยังคงเฝ้าระวัง เรื่อง การก่อการร้าย

อินโดนีเซียตัดสินจำคุกสองผู้นำของกลุ่มที่เชื่อมโยงกับ อัลกออิดะห์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในบาหลี พ.ศ. 2545 ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 คน ผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาก่อการร้ายเนื่องจากส่งกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมการต่อสู้ในซีเรีย

เรื่องโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส และเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

ภาพโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

นายปารา วิจายันโต ผู้นำกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ หรือ เจไอ และนายบูดี ตรีกายันโต รองผู้นำกลุ่ม ถูกระวางโทษจำคุก 7 ปี และ 6 ปีครึ่งตามลำดับในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563

นายอเล็กซ์ อดัม ไฟซอล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กล่าวที่ศาลเขตจาการ์ตาตะวันออกว่า “จำเลยได้เตรียมแกนนำให้เดินทางไปยังซีเรีย อีกทั้งยังให้การสนับสนุนทางการเงินแก่แกนนำเหล่านั้นระหว่างปฏิบัติภารกิจ”

ศาลกล่าวว่า นายวิจายันโต อายุ 56 ปี ผู้รับตำแหน่งผู้นำกลุ่มเจไอใน พ.ศ. 2552 ได้สรรหาชาวอินโดนีเซียเพื่อฝึกและต่อสู้กับกลุ่มที่ต่อต้านนายบัชชาร อัลอะซัด ผู้นำซีเรียระหว่าง พ.ศ. 2555 จนถึง 2561

อินโดนีเซียประกาศให้กลุ่มเจไอเป็นองค์กรผิดกฎหมายใน พ.ศ. 2551 และปราบปรามเครือข่ายของกลุ่มดังกล่าว ขณะที่ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ต่อสู้กับการโจมตีของขบวนการกลุ่มหัวรุนแรง

ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายได้คุมขังนายวิจายันโตและภรรยาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ภายหลังการจับกุมผู้ต้องสงสัย 9 คนที่คาดว่าเป็นสมาชิกกลุ่มเจไอซึ่งกลับมาจากการต่อสู้ในอิรักและซีเรีย นายวิจายันโตเป็นวิศวกรโยธาที่ได้รับการฝึกทางทหารที่ค่ายฝึกของกลุ่มก่อการร้ายทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2543 โดยได้หลบหนีการจับกุมไปตั้งแต่ พ.ศ.
2546

พล.จ. เดดี ประเสตโย (ขวา) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย และผู้ช่วย แสดงภาพถ่ายในการแถลงข่าวรายการสิ่งของที่ยึดได้ระหว่างการตรวจค้นเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายใน พ.ศ. 2562 หลังเกิดเหตุใช้อาวุธมีดจู่โจมนายวิรันโต รัฐมนตรีว่ากระทรวงประสานงานการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซีย

ตำรวจกล่าวว่า นายวิจายันโต ขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มเจไอแทนที่นายซาร์กาซีห์ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธอีกคนหนึ่ง เนื่องจากนายซาร์กาซีห์ถูกจับกุมไปใน พ.ศ. 2550 และต้องโทษจำคุก 15 ปี

อัยการกล่าวว่า นายวิจายันโตเกณฑ์และฝึกสมาชิกกองกำลังย่อยของกลุ่มเจไอ โดยส่งสมาชิกบางส่วนไปซีเรียเพื่อต่อสู้กับกลุ่มญับฮะตุนนุศเราะฮ์ซึ่งเป็นกลุ่มในเครืออัลกออิดะฮ์ นายวิจายันโตยังถูกกล่าวหาว่าช่วยทำระเบิดที่ใช้ในเหตุการณ์โจมตีต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงเหตุวางระเบิดสถานทูตออสเตรเลียใน พ.ศ. 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 9 คน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางศาสนาในโปโซ ซึ่งเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มติดอาวุธอิสลามบนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย

กลุ่มเจไอ ซึ่งก่อเหตุระเบิดรถยนต์ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ในกรุงจาการ์ตาเมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน ถูกมองข้ามเนื่องจากเกิดกลุ่มติดอาวุธที่ภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลามหลายกลุ่มในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การตัดสินจำคุกสองผู้นำกลุ่มเจไอมีประกาศออกมาหลังสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลามต้องโทษจำคุก เนื่องจากพยายามลอบสังหารนายวิรันโต ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2562

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 กองกำลังตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซียได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งและจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกสองรายในการตรวจค้นชวาซึ่ง เป็นเกาะหลักของประเทศ พร้อมยึดอาวุธและสารเคมีที่น่าจะใช้ในการทำระเบิด ทางการระบุว่า ชายคนดังกล่าวถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมเนื่องจากขัดขืนการจับกุมโดยใช้อาวุธดาบ

ผู้ต้องสงสัยสองรายข้างต้นมีความเชื่อมโยงกับองค์กรกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมาย ซึ่งมีส่วนในการก่อเหตุโจมตีตำรวจเมื่อไม่นานมานี้ นายอาร์โก ยูโวโน โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นเครือข่ายท้องถิ่นของรัฐอิสลามที่รู้จักในนาม ญะมาอะห์ อันซารุต เดาเลาะฮ์

เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ล่าสุดของประเทศเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เมื่อสองครอบครัวก่อเหตุระเบิดพลีชีพในเมืองสุราบายา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คนซึ่งรวมถึงเด็กหญิงสองคนที่ถูกพ่อแม่ดึงเข้ามาเกี่ยวข้องในเหตุโจมตีครั้งนี้ ตำรวจกล่าวว่า พ่อของเด็กหญิงทั้งสองเป็นผู้นำขบวนการญะมาอะห์ อันซารุต เดาเลาะฮ์

นายอามาน อับดุลเราะห์มาน ผู้นำศาสนาสุดโต่งผู้ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าว ถูกตัดสินประหารชีวิตใน พ.ศ. 2561 ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการโจมตี ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดพลีชีพร้านสตาร์บัคส์ในกรุงจาการ์ตาเมื่อ พ.ศ. 2559

อินโดนีเซียยังคงต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธนับตั้งแต่เหตุระเบิดในบาหลี พ.ศ. 2545 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การโจมตีซึ่งเดิมทีมุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติถูกแทนที่ด้วยการโจมตีขนาดเล็กกว่าที่มุ่งเป้าไปยังรัฐบาล ตำรวจ และกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการโจมตีของรัฐอิสลามในต่างประเทศ

กองกำลังความมั่นคงของอินโดนีเซียยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจค้นที่นำไปสู่การจับกุมและสังหารกลุ่มติดอาวุธนับร้อยจากจำนวนผู้ต้องสงสัยกว่า 179 คนระหว่าง พ.ศ. 2546 จนถึงช่วงต้น พ.ศ. 2563 ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรสรายงาน

“อินโดนีเซียยังใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายจากลัทธิก่อการร้ายของประเทศ ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธการส่งตัวอดีตนักรบของรัฐอิสลามในประเทศ พร้อมยกระดับกลไกการแบ่งปันข่าวกรองกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตามข้อมูลในนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมต

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button