มองภูมิภาคแผนก

บังกลาเทศ: การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัย

หน่วยงานในบังกลาเทศร่วมกับองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้ขยายหลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ชาวมุสลิมโรฮีนจานับแสนคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น

เด็ก ๆ ซึ่งหนีมาพร้อมครอบครัวจากประเทศพม่าที่อยู่ติดกัน ไปยังค่ายในเขตค็อกซ์ บาซาร์ ของบังกลาเทศ ได้เข้าร่วมศูนย์การเรียนรู้ประมาณ 1,500 แห่งที่ดำเนินการโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ซึ่งให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน สอนการวาดภาพ และจัดกิจกรรมสนุก ๆ อื่น ๆ ยูเอ็นกล่าวในแถลงการณ์ว่า ขณะนี้เด็ก ๆ ยังได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการภายใต้โครงการใหม่ที่เริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดยใช้หลักสูตรของพม่าตั้งแต่ ป.6 ถึง ม.3

นายมาห์บับ อาลัม ทาลุกเดอร์ ข้าหลวงใหญ่การบรรเทาทุกข์และส่งกลับผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ กล่าวว่า รัฐบาลเห็นชอบกับหลักการพร้อมข้อเสนอจากยูเอ็นที่ให้เด็ก ๆ ชาวโรฮีนจารับการศึกษาเป็นภาษาพม่า

“พวกเขาจะได้รับการศึกษาเป็นภาษาพม่า และจะได้เรียนตามหลักสูตรของพม่า การเรียนในระบบโรงเรียนของบังกลาเทศหรืออ่านหนังสือในภาษาเบงกาลีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย” นายทาลุกเดอร์กล่าวผ่านโทรศัพท์ “ไม่ได้มีกำหนดว่าพวกเขาจะอยู่ในบังกลาเทศในระยะยาว ดังนั้น วิธีการนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมพม่าเมื่อกลับไป”

ในเบื้องต้นยูเอ็นกล่าวว่า เด็ก ๆ ชาวโรฮีนจาจำนวน 10,000 คนจะเข้าร่วมโครงการนำร่องที่ใช้หลักสูตรของพม่า ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาของประเทศพม่าที่นับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อกลับไปที่ภูมิลำเนาเดิม

การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการยกย่องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและองค์การสหประชาชาติ

ยูเอ็นกล่าวว่า “เราเชื่อว่านี่เป็นก้าวที่ดี และเป็นสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนถึงพันธสัญญาของรัฐบาลบังกลาเทศในการรับประกันการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็ก ๆ และเยาวชนชาวโรฮีนจา ควบคู่ไปกับการช่วยให้พวกเขามีทักษะและความสามารถที่เหมาะสมกับอนาคตของตน และกลับไปพม่าเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง”

เด็ก ๆ ชาวโรฮีนจาประมาณ 400,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศอนุมัติให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ

ชาวโรฮีนจามากกว่า 700,000 คน หลบหนีจากพม่าไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 เมื่อกองทัพของพม่าเริ่มดำเนินการสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการกวาดล้างในรัฐยะไข่ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล กองกำลังรักษาความปลอดภัยถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนและฆาตกรรมหมู่ รวมทั้งเผาบ้านนับพันหลังคาเรือน ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในบังกลาเทศ ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button