เรื่องเด่น

ความร่วมมือ คอบร้าโกลด์

การฝึกซ้อมที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 39 นี้มอบทักษะทางการทหารและการจัดการวิกฤตที่มีคุณค่า

ร.อ. สุชาติ คล้ายแก้ว/กองทัพบกไทย

กาฝึกซ้อมทางทหารภายใต้รหัส คอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะทางการทหารและการจัดการวิกฤต รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา นับเป็นปีพิเศษสำหรับการฝึกซ้อมประจำปีภายใต้รหัสนี้ ซึ่งไม่เพียงมีกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบในส่วนอินโดแปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังมีกองกำลังจากประเทศอื่น ๆ ภายในภูมิภาคเข้าร่วมด้วย ทหารกว่า 9,600 นายจาก 29 ประเทศได้เข้าร่วมการซ้อมรบที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 39 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึง 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

นอกจากจะเป็นการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันแล้ว การฝึกระยะสองสัปดาห์ทั่วประเทศไทยครั้งนี้ยังให้ประสบการณ์พิเศษแก่นายทหารจากประเทศที่กำลังพัฒนาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการฝึก บทบาทของคอบร้าโกลด์ในการเปลี่ยนแปลงกองทัพไทย และผลกระทบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ผู้ฝึกสอนของกองทัพบกไทยสาธิตทักษะการเอาชีวิตรอดให้ทหารสหรัฐฯ ชมในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 ที่อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย กองทัพไทย

ประสบการณ์อันทรงเกียรติ

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ การฝึกคอบร้าโกลด์มอบประสบการณ์ภาคสนามที่อัดแน่นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาร่วมกัน ความเป็นผู้นำ และความร่วมมือแก่ประเทศที่เข้าร่วม ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐานความเชื่อของเรา และนั่นคือสิ่งที่กองทัพบกไทยได้รับมากที่สุดเมื่อเราเข้าร่วมแนวทางการฝึกซ้อมร่วมระดับโลก เช่น คอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563

การฝึกซ้อมครั้งนี้ได้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในองค์กรของเราอย่างมาก การฝึกปฏิบัติ การซ้อม และบทเรียนที่ได้เรียนรู้มาตลอดการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 ช่วยให้เรารู้จักยุทธวิธีใหม่ ๆ และกระตุ้นให้เราเอาชนะความท้าทายที่ซับซ้อนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ประสบการณ์ครั้งนี้ยังช่วยให้เรามีความคล่องตัวและปรับปรุงตัวเองใหม่ผ่านการเลียนแบบและปรับตัวให้เข้ากับยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่ ๆ ค้นหาวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลายและดีขึ้นภายใต้ข้อจำกัดของเรา รวมทั้งคว้าโอกาสพร้อมกับขยายขีดความสามารถทางทหารของเราไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเจ้าภาพเป็นแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯ ได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญและการเข้าถึงการฝึกซ้อมระดับโลกให้แก่เจ้าหน้าที่จากสายงานต่าง ๆ ของกองทัพไทย เช่น ในปฏิบัติการลาดตระเวน ผมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างหน่วยทหาร ปรับระบบอาวุธให้ทันสมัย และสรรหากำลังคนที่มีคุณสมบัติสูง แทนที่จะวัดจากขนาดของกองกำลังเท่านั้น การปรับใช้ข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวกับกองกำลังของไทย ทำให้เราสามารถปรับตัว สร้างโครงสร้างที่คล่องแคล่ว และจัดระเบียบใหม่เพื่อเปลี่ยนไปสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กองทัพไทยจำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมอย่างคอบร้าโกลด์ ซึ่งทำให้ทหารไทยได้รับมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติหน้าที่ รับแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือวิธีวิเคราะห์ใหม่ ๆ และนำบทเรียนเหล่านั้นไปใช้ในกองทัพไทย

จากการสังเกตของผมในฐานะล่าม คอบร้าโกลด์แสดงให้เห็นว่าการร่วมมือแบบพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับไทยสามารถเป็นแบบพหุภาคีได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เข้าร่วมการฝึกซ้อมหลักประจำ พ.ศ. 2563 ด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การฝึกครั้งนี้บรรจุการฝึกแบบพหุภาคีว่าด้วยการฝึกปฏิบัติภาคสนามแบบไซเบอร์สเปซเป็นครั้งแรกในการฝึกคอบร้าโกลด์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดในอนาคตรูปแบบหนึ่งนี้

จีนและอินเดียได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเมือง ส่วนออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฟิจิ ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหราชอาณาจักร ได้เข้าร่วมการฝึกด้านองค์ประกอบการวางแผนข้ามชาติของการฝึกซ้อมครั้งนี้ โดยมีอีก 10 ประเทศที่เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ บรูไน พม่า กัมพูชา เยอรมนี อิสราเอล ลาว ปากีสถาน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนาม

ทหารไทยเข้าร่วมการสาธิตการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 ที่หาดยาว ประเทศไทย รอยเตอร์

ทัศนะใหม่ ๆ

คอบร้าโกลด์มีประวัติอันยาวนานร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมีศิษย์เก่าหลายหมื่นคนเข้ารับใช้ในกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ เราได้นำเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงกลับมามากมายและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณค่าและผลประโยชน์ให้การฝึกอย่างสูงสุด เพื่อปรับปรุงองค์กรของเราและเอาชนะอุปสรรคด้านเพศ วัฒนธรรม และความหลากหลาย ซึ่งได้จากประสบการณ์ครั้งนี้

ในฐานะล่าม ผมตระหนักว่าผมได้รับโอกาสมากมายที่เจ้าหน้าที่ของไทยรุ่นก่อน ๆ ไม่ได้รับ ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ทหารหญิงของสหรัฐฯ และมีโอกาสพูดคุยในหลายหัวข้อระหว่างการฝึกซ้อมช่วงต่าง ๆ ทหารหญิงรายนั้นกล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ มีความก้าวหน้าที่สำคัญในการให้ยศแก่ผู้หญิง และเธอเชื่อว่าการพูดคุยเกี่ยวกับบริบทของความหลากหลายที่กว้างขึ้นนั้นสำคัญกว่า ผมได้เรียนรู้ว่าเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องของเพศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับเชื้อชาติ ภูมิหลัง และประสบการณ์อีกด้วย

ผมได้ประจักษ์ว่าความหลากหลายนั้นทำให้กองทัพสหรัฐฯ เป็นกองกำลังที่ดีขึ้น การพูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลายในระดับที่ครบถ้วนและกว้างขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างแท้จริง ถ้าเราทุกคนมีภูมิหลังแบบเดียวกันก็จะเกิดกลุ่มความคิดที่เป็นเอกเทศ เราควรเปิดรับความคิดเห็นและการพูดคุยที่แตกต่างหลากหลายซึ่งส่งเสริมให้มีการโต้กลับ แทนที่จะทำตัวเป็นเหมือนห้องที่สะท้อนแต่เสียงตัวเอง เราควรมุ่งมั่นเพื่อสิ่งนี้ เพื่อให้ความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเจริญงอกงาม จากการสังเกตของผม พบว่าผู้นำเป็นผู้กำหนดลักษณะทั่วไปของการฝึกอบรม ซึ่งวิธีการสื่อสารของผู้นำช่างน่าทึ่งสำหรับผม

ผู้ฝึกสอนของกองทัพบกไทยกินตุ๊กแกขณะสอนทักษะการเอาชีวิตรอดในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 รอยเตอร์

ข้อมูลเชิงลึกของเจ้าหน้าที่

เพื่อน ๆ เจ้าหน้าที่ของผมหลายคนยังได้รับประโยชน์จากการฝึกซ้อมและได้รับสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อสรุปของตนเองด้วย
ร.อ. ธวัช ถัวประกร ผู้ฝึกสอนและล่ามจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวกับผมว่า “การปรับโครงสร้างกำลังพลใหม่เป็นสิ่งสำคัญ” ร.อ. ธวัชเชื่อว่า การจัดการกับสัดส่วนนายทหาร นายทหารชั้นประทวน และทหารเกณฑ์ที่ไม่สมดุล การใช้กำลังพลสำรอง ตลอดจนการปรับปรุงความเท่าเทียมทางเพศในทุกชั้นยศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพไทยและดึงดูดทหารหน้าใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

ร.อ. สงขลา ไพศาลสุขกุล เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแห่งกองทัพบกไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การคิดนอกกรอบเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหา”

เนื่องจากโดยปกติแล้ว ผู้นำในกองทัพจะเป็นผู้แก้ไข
ปัญหาต่าง ๆ เช่นเดียวกับในหลายองค์กร โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาและความชำนาญของตนซึ่งสามารถนำไปสู่ทางออกที่ยึดกองทัพเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง ร.อ. สงขลากล่าวว่า กำลังพลที่มีความหลากหลายมากขึ้นจะช่วยพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ดีขึ้น โดยการสร้างความเข้าใจที่หลากหลายเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า ร.อ. สงขลากล่าวกับผมว่า สิ่งนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนกำลังพลของเราให้เป็นกองกำลังทหารที่มีความก้าวหน้า

ร.อ. สุชาติ คล้ายแก้ว แห่งกองทัพบกไทย ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวกรุงเทพมหานคร เล่าประสบการณ์ของตนให้ ร.อ. เคอร์แรน บอยซ์ นาวิกโยธินสหรัฐฯ ฟังในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2563 กองทัพไทย

การปฏิรูปเพื่อ คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ประสบการณ์จากคอบร้าโกลด์ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่ากองทัพไทยจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างไร โดยเปิดโอกาสให้ทหารไทยได้เรียนรู้จากกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพชาติอื่น ๆ หลังจากได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมจากไทยและสหรัฐฯ หลายคน ผมพบว่าเรามีมุมมองร่วมกัน นั่นคือเราทุกคนกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ จากภัยคุกคามต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 21 เราจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็นโครงสร้างกองกำลังที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ลดขนาดของหน่วยและจำนวนทหารเกณฑ์ รวมทั้งปรับปรุงระบบกลาโหมของเราให้ทันสมัย

ร.อ. ณัฐเกียรติ แสงไพศรี นายทหารยุทธการประจำกองพันทหารม้าที่ 13 กองพลทหารม้าที่ 1 แห่งกองทัพบกไทย กล่าวกับผมว่า “กองทัพไทยต้องมีระบบการพัฒนากองกำลัง”

จากการสังเกตการณ์ของผม การฝึกคอบร้าโกลด์เน้นระบบกองทัพที่ทันสมัยในด้านการเฝ้าระวังและการลาดตระเวน โดยส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ แทนการใช้แนวทางแบบเก่าที่เรามักนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยยึดถือความโปร่งใสและความรับผิดชอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการจัดซื้อ

พ.ต. ปิยวัฒน์ ชยวัฒน์ศรีกุล นายทหารยุทธการประจำกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 แห่งกองทัพบกไทย กล่าวว่า “คอบร้าโกลด์ช่วยให้ผมมีเครื่องมือสำหรับจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนจากมุมมองที่หลากหลายและคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์อย่างมืออาชีพ” “ผมรู้ว่าเมื่อผ่านการฝึกจากที่นี่ ผมจะมีส่วนช่วยเหลือในภารกิจในอนาคตได้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น”

ผมเฝ้าติดตามพัฒนาการของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์อันน่าทึ่งกับคอบร้าโกลด์ การปรับกองทัพให้ทันสมัย การปรับองค์ประกอบของแต่ละหน่วย และการปรับโครงสร้างกำลังพล เป็นสาระสำคัญที่ผมได้รับจากการฝึกครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพไทยสามารถทำตามและปรับใช้ได้ นอกจากคุณูปการอันล้ำเลิศเหล่านั้นแล้ว ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังให้มุมมองที่เป็นเอกลักษณ์จากกองทัพของประเทศอื่น ๆ ให้แก่กองทัพไทยผ่านการมีส่วนร่วมในประสบการณ์การฝึกระหว่างประเทศครั้งนี้ ซึ่งช่วยประสานช่องว่างทางวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย อันเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button