เรื่องเด่น

การบ่อนทำลาย เรื่องราวทั่วโลก

พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามใช้เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อควบคุมสื่อทั่วโลก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินหน้าเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเต็มกำลังด้วยหวังที่จะควบคุมการดำเนินเรื่องราวของโลก

นักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า ในช่วงประมาณทศวรรษที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เพิ่มความพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมสื่อทั่วโลกอย่างเป็นระบบ โดยการสอดแทรกวาระของพรรค เพื่อเปิดช่องให้เกิดการเหยียบย่ำทำลายประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูด และสิทธิมนุษยชนทั่วโลก พรรคคอมมิวนิสต์ใช้กลยุทธ์และยุทธวิธีที่หลากหลาย ตั้งแต่การเพิ่มจำนวนการออกอากาศระหว่างประเทศ การดำเนินการรณรงค์โฆษณาอย่างกว้างขว้างในต่างประเทศ ไปจนถึงการล้มสำนักสื่อต่างประเทศเพื่อแพร่กระจายสารในเชิงบีบบังคับของพรรคออกไป

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกังวลว่า ขนาด ขอบเขต และลักษณะขององค์กรโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมทั้งกลยุทธ์โดยรวม อาจบ่อนทำลายรากฐานการปกครองแบบพลเรือนทั่วโลก “แม้ว่าความพยายามของประเทศระบบพรรคการเมืองเดียวอย่างจีนนั้นมีบางแง่มุมที่สอดคล้องกับการทูตสาธารณะแบบดั้งเดิม แต่แง่มุมอื่น ๆ ที่เหลือกลับเป็นเรื่องซ่อนเร้น เป็นเชิงบีบบังคับ และเป็นไปได้ที่จะทุจริต” ตามรายงานเรื่อง “เครื่องกระจายเสียงทั่วโลกของรัฐบาลจีน” เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งตีพิมพ์โดย ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรนอกภาครัฐที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ

“พรรคคอมมิวนิสต์จีนและตัวแทนของพรรค ต่างแสดงออกว่า ไม่ได้มีความลำบากใจในการใช้ประโยชน์จากอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อลบล้างและปราบปรามการรายงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์ในต่างประเทศที่สัมพันธ์กับจีนด้วย มีหลักฐานมากพอที่สนับสนุนว่า จีนใช้การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูลเพื่อครอบงำความคิดของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกันนี้จำนวนมากในภาคส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากขอบเขตในรายงานฉบับนี้ เช่น ภาคการศึกษา ศิลปะ วรรณกรรม และอุตสาหกรรมบันเทิง” นางซาราห์ คุก นักวิเคราะห์วิจัยอาวุโสของฟรีดอมเฮาส์ เขียนในรายงานดังกล่าว

ผู้ประท้วงในฮ่องกงเดินย่ำภาพถ่ายของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยืนกรานว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังทำลายการสื่อสารมวลชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบในส่วนที่จำเป็นและถ่วงดุลฐานอำนาจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการแทรกซึมเข้าไปในองค์กรสื่อต่างประเทศ “สิ่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ใช่เพียงแค่ทางการจีนที่พยายามจะเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของตนเท่านั้น … แต่สิ่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยงคือการสื่อสารมวลชนอย่างที่เราทราบกัน” นายเซดริก อัลวีอานี ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน สำนักงานเอเชียตะวันออก กล่าวกับนิตยสารไทมส์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562

พรรคคอมมิวนิสต์จีนนอกจากจะจำกัดเสรีภาพของสื่อในจีนแล้ว ยังบังคับควบคุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศโดยใช้ยุทธวิธีคล้ายกับที่พรรคใช้ในประเทศเพื่อปกปิดความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึง “ใช้การแบล็กเมล์ ข่มขู่ และคุกคามในระดับใหญ่โต” ตามที่ระบุในรายงานเรื่อง “การดำเนินการจัดระเบียบสื่อทั่วโลกแบบใหม่ของจีน” จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเมื่อ พ.ศ. 2562 เช่น “เอกอัครราชทูตจีนมีบทบาทเพิ่มเติมนอกเหนือจากบทบาททางการทูตตามปกติ นั่นคือการกล่าวปฏิเสธเมื่อผู้สื่อข่าวเขียนสิ่งที่ไม่ตรงกับการโฆษณาชวนเชื่อของจีน” นายอัลวีอานีกล่าวกับ ไทมส์

“ปัจจุบัน ประสิทธิภาพในการรณรงค์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้นจะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเครือข่ายระหว่างประเทศของพรรคมีอิทธิพลมากขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลส่วนที่สำคัญในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ” นางคุกสรุปในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ “จึงไม่ควรประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำของรัฐบาลจีนต่ำเกินไป”

การสร้างเครือข่ายอิทธิพล

พรรคคอมมิวนิสต์จีนและหน่วยงานหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในขณะที่บรรดาผู้นำระดับโลกให้ความสำคัญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้สร้างเครือข่ายอิทธิพลของตนในพื้นที่ อื่น ๆ อย่างมั่นคง หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ใน พ.ศ. 2545 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แก้ไขหลักการของกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยเพิ่มการใช้สงครามสื่อเพื่อสร้างอิทธิพลครอบงำรัฐบาลและประชากรต่างชาติให้มองพรรคในแง่ดี นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศระบบพรรคการเมืองเดียวอย่างจีนก็ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสมรภูมิรบ เนื่องจากยอมรับว่าใครก็ตามที่ควบคุมข้อมูลและช่องทางนำส่งข้อมูลดังกล่าวจะถือเป็นผู้ชนะในสงครามทางความคิด

นับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงทุนไปอย่างมหาศาลทีเดียวเพื่อต่อสู้ในสงครามปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารนี้ เดอะการ์เดียน รายงานว่า ใน พ.ศ. 2558 เพียงปีเดียว รัฐบาลเผด็จการจีนใช้จ่ายเงินราว ๆ 7 พันล้าน ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.17 แสนล้าน ถึง 3.10 แสนล้านบาท) เพื่อขยายการเผยแพร่สื่อของพรรคออกไปทั่วโลก นางแอนน์-แมรี เบรดี ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีในนิวซีแลนด์ กล่าวว่า รัฐบาลจีนทุ่มทุนกับความพยายามเหล่านี้อย่างมากผ่านการเก็บภาษีโฆษณาชวนเชื่อจากธุรกิจของภาครัฐ การเติบโตขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของสื่อจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยทำให้การตระหนักถึงความกว้างขวางและความลึกซึ้งของการมีส่วนได้เสียทางการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อทั่วโลกมีความคลุมเครือ

นอกจากเงินแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมียุทธวิธีที่สำคัญอีกสามประการในการทำให้กลยุทธ์ของพรรคประสบผลสำเร็จ ประการแรก ประเทศระบบพรรคการเมืองเดียวแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในระยะยาว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างยืนกรานว่า เป็นหนทางเดียวในการกัดเซาะพื้นฐานด้านอุดมการณ์ของประชาชน โดยทั่วไป ประเทศอื่น ๆ มักต้องการชัยชนะและการประสบผลสำเร็จทันทีในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งจะไม่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าใจดีว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวรเป็นกระบวนการที่เชื่องช้าและต้องมีแบบแผน และต้องดำเนินการด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งประเทศและกองทัพโลกที่หนึ่งหลายแห่งต่างไม่เห็นด้วยกับความต้องการในข้อนี้ ผู้เชี่ยวชาญสังเกตว่า ประเทศที่เห็นด้วยมักไม่มีความอดทนหรือเครื่องมือทางการเมืองในการใช้กลยุทธ์ระยะยาวดังกล่าว

ประการที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่มีการดำเนินงานในทุกประเทศเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวม กระจาย สร้างอิทธิพล หรือหาเงินทุนให้แก่การโฆษณาชวนเชื่อของพรรค วิธีการนี้เปรียบได้กับการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน “ยืมเรือ” ในต่างประเทศและส่งเรือดังกล่าวออกไปทำงานให้ บริษัทวิทยุรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้นำเสนอกลยุทธ์ที่เรียกว่า เจี้ยฉวนชูไห่ หรือ “การยืมเรือเพื่อออกสู่มหาสมุทร” เพื่อดำเนินการควบคุมการเงินของสถานีวิทยุต่างชาติและควบคุมเนื้อหารายการของสถานีเหล่านั้น นอกจากนี้ บริษัทที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้กฎหมายและเสรีภาพของประเทศเจ้าบ้านมาจัดการกับประเทศนั้นเสียเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่ประเทศประชาธิปไตยโดยทั่วไปไม่นิยม หรือไม่มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเช่นนั้น

ประการที่สาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนผลักดันอุดมการณ์แบบรวมศูนย์ไปยังจุดเชื่อมต่อทุกจุดที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้ หากหน่วยงานใดผลักดันสารตามที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการ หน่วยงานนั้นก็จะไม่มีอุปสรรคจากทางการ ไม่ต้องมีการขออนุญาต และไม่มีอุปสรรคด้านกฎหมาย

การแทรกซึมทั่วโลก

ระดับการสร้างอิทธิพลและการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสัดส่วนอยู่ในระดับโลก พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีนลงทุนมากถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) ทุกปีเพื่อเพิ่มพื้นที่สื่อ ด้วยเงินทุนดังกล่าวทำให้บริษัทด้านโทรทัศน์และวิทยุจีนที่รัฐเป็นผู้ดำเนินงานขยายการเข้าถึงไปยังนานาชาติอย่างมีนัยสำคัญ รายงานใน พ.ศ. 2562 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า มีผู้รับชมเครือข่ายโทรทัศน์ภาคบริการโลกแห่งประเทศจีนใน 140 ประเทศ โดยรายงานระบุว่า เครือข่ายดังกล่าวยังดำเนินการศูนย์การผลิตโฆษณาชวนเชื่อในลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี. และไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปทั่วยุโรป แอฟริกา และสหรัฐอเมริกา

ผู้ประท้วงสวมชุดหมีและถือป้ายที่มีข้อความดูหมิ่นนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรค ในช่วงที่มีการประท้วงเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 ในบราซิล รอยเตอร์

อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้เงินทุนดังกล่าวซื้อคลื่นสำหรับการออกอากาศทั่วโลกอีกด้วย รอยเตอร์รายงานว่า ไชน่าเรดิโออินเตอร์เนชันแนลซึ่งรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ออกอากาศเป็นภาษาต่าง ๆ 65 ภาษาโดยมีสถานีมากกว่า 70 แห่งตั้งแต่ในฟินแลนด์และเนปาลไปจนถึงออสเตรเลียและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ไชน่าเรดิโออินเตอร์เนชันแนล ยังเป็นเจ้าของกั๋วกวง เซนจูรี มีเดีย คอนซัลแทนซีทั้งหมด โดยถือหุ้นร้อยละ 60 ในบริษัทย่อยในเครือสามแห่ง ได้แก่ จีบีไทมส์, โกลบอล ซีเอเอ็มจี มีเดีย กรุ๊ป และบริษัทจีแอนด์อี สตูดิโอ ตามรายงานของรอยเตอร์ ยกตัวอย่างตามรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า โกลบอล ซีเอเอ็มจี มีเดีย กรุ๊ป ดำเนินการสถานีวิทยุต่างประเทศ 70 แห่ง และเดอะการ์เดียนรายงานว่า มีสถานีวิทยุต่างประเทศของจีน 11 แห่งอยู่ในออสเตรเลีย รัฐบาลประเทศเจ้าบ้านได้อนุญาตให้จีนซื้อและเช่าสถานีวิทยุเอเอ็มที่ไม่มีภาระผูกพันเป็นส่วนใหญ่ เช่น สถานีวิทยุดับเบิลยูซีอาร์ดับเบิลยู เอเอ็ม ซึ่งรัฐบาลจีนถือครองร้อยละ 60 ที่ออกอากาศในวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ตามรายงานของรอยเตอร์ เอ็กซ์อีดับเบิลยูดับเบิลยู เอเอ็ม ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อของจีนในแคลิฟอร์เนียใต้จากเม็กซิโก ตามรายงานของ insideradio.com

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังบริหารจัดการสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลเช่นกัน พีเพิลส์เดลี ซึ่งเป็นกระบอกเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคและเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น มีจำนวนพิมพ์มากถึงรอบละ 3 ล้านฉบับ โกลบอลไทมส์ที่แตกแขนงออกมา ก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่รัฐดำเนินการซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง โดยมีจำนวนพิมพ์รอบละ 1 ล้านฉบับ หนังสือพิมพ์นี้ยังมีฉบับภาษาอังกฤษด้วยซึ่งเปิดตัวใน พ.ศ. 2552 โดยมีจำนวนพิมพ์รอบละ 100,000 ฉบับ ส่วนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นี้ซึ่งให้บริการ 10 ภาษา อ้างว่ามีการเข้าชมวันละ 15 ล้านครั้ง หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีซึ่งตีพิมพ์เฉพาะภาษาอังกฤษ เป็นหนังสือพิมพ์ในเครือและเป็นอาวุธชิ้นหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือครองอย่างเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่ไม่ใช่ชาวจีน ชาวจีนที่พูดภาษาอังกฤษ และชาวจีนพลัดถิ่น หนังสือพิมพ์ดังกล่าวอ้างว่ามีการตีพิมพ์รอบละ 900,000 ฉบับและมีผู้อ่านทั้งฉบับที่ตีพิมพ์และฉบับออนไลน์รวม 150 ล้านคน บทความจากหนังสือพิมพ์ฮิวแมนอีเวนท์ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ระบุว่า เฉพาะในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว ไชน่าเดลีก็ใช้เงินไปกับปฏิบัติการสร้างอิทธิพลครอบงำในระหว่าง พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2562 มากถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท) แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำข้อตกลงกับหนังสือพิมพ์ต่างประเทศและสหรัฐฯ อย่างน้อย 30 ฉบับ ให้เพิ่มหน้าแทรกโฆษณาชวนเชื่อที่เรียกว่า “ไชน่าวอตช์” จำนวนสี่ถึงแปดหน้าในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น โดยมีจำนวนพิมพ์ประมาณรอบละ 5 ล้านฉบับ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังเข้าถือหุ้นหลักในหนังสือพิมพ์ทั่วโลก และดำเนินการเซ็นเซอร์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์เหล่านั้นด้วยวิธีการแอบแฝงอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนถือหุ้นร้อยละ 20 ในกลุ่มบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในแอฟริกาใต้ที่ชื่อ อินดิเพนเดนท์ มีเดีย องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า เมื่อผู้สื่อข่าวและนักเขียนบทความชาวแอฟริกาใต้เขียนบทความลงอินดิเพนเดนท์ออนไลน์ใน พ.ศ. 2561 โดยเน้นไปที่การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ คอลัมน์ “ณ สุดขอบโลก” ที่เขาเขียนให้หนังสือพิมพ์นี้ก็ถูกยกเลิก

ผู้ประท้วงแสดงป้ายวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมทั้งนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรค ในการประท้วงเรื่องการเสนอแก้ไขกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 รอยเตอร์

ในขณะเดียวกัน ซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่รัฐดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศ 162 แห่งใน พ.ศ. 2560 และตั้งเป้าว่าจะต้องมีสำนักงานอย่างน้อย 220 แห่งภายใน พ.ศ. 2563 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประจำ พ.ศ. 2561 เรื่อง “การประเมินผลกระทบของการขยายการเข้าถึงไปทั่วโลกของจีนที่มีต่อด้านกลาโหมของสหรัฐฯ”

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมุ่งมั่นที่จะทำให้สื่อในการควบคุมของรัฐดูเหมือนถูกต้องตามกฎหมายด้วย รายงานเมื่อ พ.ศ. 2562 ของนิตยสารฟอเรนโพลิซีเปิดเผยว่า ในประเทศไทย สำนักข่าวซินหัวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มบริษัทมติชน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของหนังสือพิมพ์ข่าวสดของไทย เพื่อให้ข่าวสดเผยแพร่ข่าวของซินหัวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ข้อนี้ทำให้โฆษณาชวนเชื่อของซินหัวภายใต้คราบของหนังสือพิมพ์ที่ถูกกฎหมาย เข้าถึงผู้ติดตามข่าวสดในเฟซบุ๊กจำนวน 13 ล้านคนและผู้อ่านรายวัน 900,000 คน โดยหัวหน้าฝ่ายข่าวของข่าวสดอิงลิชทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการทำข้อตกลงและยังเป็นผู้เขียนหน้าแทรก “ไชน่าวอตช์” อีกด้วย นอกจากนี้ สำนักข่าว ซินหัวยังผลักดันเนื้อหาของตนผ่านข้อตกลงที่คล้ายกันในหนังสือพิมพ์เวียนเทียนไทมส์ของลาว ขแมร์ไทมส์และแคมโบเดียเดลีของกัมพูชา ตลอดจนมะนิลาบูลเลตินของฟิลิปปินส์

การใช้สื่อเป็นอาวุธ

หลังจากได้คลังสื่อมาเป็นอาวุธแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ใช้อาวุธชิ้นนี้อย่างมีชั้นเชิง เช่น ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับอำนาจในการควบคุมสื่อต่างชาติสี่หัวในกัมพูชา ได้แก่ หนังสือพิมพ์เฟรชนิวส์ พีเพิลส์เดลี พนมเปญโพสต์และไนซ์ทีวี ตามรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน นายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรี ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชาใน พ.ศ. 2561 ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ในเวลาต่อมา รัฐบาลกัมพูชาได้จับกุม สังหาร หรือขับไล่นักข่าวทั้งหมด ซึ่งรวมถึงวอยซ์ออฟอเมริกา เรดิโอฟรีเอเชีย และฮิวแมนไรท์ส วอตช์ดอกส์ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งผู้ใดก็ตามที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นการจับจองที่ดินของรัฐบาลจีนในสีหนุวิลล์ หรือข้อตกลงลับในการสร้างและใช้ฐานทัพเรือเรียมของจังหวัดดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าจะละเมิดรัฐธรรมนูญของกัมพูชา การใช้สื่อต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครอบงำการเมืองของกัมพูชาจากภายนอกจนส่งผลเสียหายต่อประชาชนในประเทศ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้สื่อเป็นอาวุธในลักษณะเดียวกันเพื่อควบคุมเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จากเอกสารที่จัดทำโดยเว็บไซต์ไคลเมต แอ็คชัน แทร็กเกอร์ ระบุว่า จีนเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกและเป็นผู้บริโภคถ่านหินมากที่สุดในโลก แต่กระนั้น แพลตฟอร์มสื่อหลายแห่งของจีนก็ยังส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเมืองที่เรียกกันว่า ป่าสีเขียว และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของจีน ดร. พรหมา เชลลานี ศาสตราจารย์ด้านการศึกษายุทธศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยนโยบายในกรุงนิวเดลี อธิบายในบทความในหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ พ.ศ. 2562 ว่า จีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก จากการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำสายใหญ่ที่กำลังทำลายระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งหมด รวมทั้งท้าทายอำนาจอธิปไตยของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เขื่อนเหล่านี้จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ตามลุ่มแม่น้ำโขงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนและพรรครัฐบาลจีน ซึ่งจะควบคุมการไหลของแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิผล จีนอาจละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเขื่อนแต่ละแห่งที่จีนโน้มน้าวให้ประเทศเหล่านี้ยอมให้สร้าง ซึ่งล้วนมีเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหนุนหลังอยู่

นอกจากนี้ กองทัพ 50-เซนต์ ยังเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออีกหนึ่งชิ้นที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ชักจูงผู้ติดตามออนไลน์ ใน พ.ศ. 2547 จีนซึ่งเป็นประเทศระบบพรรคการเมืองเดียวได้เปิดตัว กองทัพ 50-เซนต์ หรือที่เรียกว่า พรรค 50-เซนต์ ซึ่งประกอบด้วยประชากรประมาณ 2 ล้านคนที่ถูกใช้เพื่อขัดขวางการระดมกำลังคนและการดำเนินการแบบรวมหมู่ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หยุดชะงักและค่อย ๆ หายไป รวมทั้งส่งเสริมการเล่าเรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเชิงบวกทางออนไลน์ แม้ว่าส่วนใหญ่กองทัพดังกล่าวจะใช้กับแพลตฟอร์มภายในประเทศจีนเพื่อควบคุมและจับตาดูประชาชนในประเทศ แต่รัฐบาลจีนก็ใช้กลุ่มก่อกวนทางออนไลน์เหล่านี้เพื่อสนับสนุนความพยายามด้านการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งเป้าไปยังโลกภายนอกด้วย ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อ พ.ศ. 2551 ผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้โจมตีนักกีฬาต่างชาติในโลกเสมือนจริงเนื่องจากนักกีฬาเหล่านั้นชนะคู่แข่งชาวจีนได้ นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้กลุ่มก่อกวนเพื่อผลักดันวาระของพรรคในระหว่างการจัดการเลือกตั้งในไต้หวัน พ.ศ. 2563 และการประท้วงที่ฮ่องกง รวมทั้งเพื่อปกปิดการละเมิดชาวอุยกูร์ในค่าย “ปรับทัศนคติ” และปฏิบัติการบังคับตัดอวัยวะ ตามรายงานของสื่อมวลชนหลายสำนัก ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนคือการดำเนินการแบบรวมหมู่ทั้งในประเทศและทั่วโลก รวมทั้งการระดมความเคลื่อนไหวหรือความคิดเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์

ด้วยเหตุนี้ การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากจึงมุ่งไปที่ผู้รับข่าวชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน สำนักข่าวเนชันแนลพับบลิกเรดิโอรายงานว่า หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังใช้วิธีการทางการเมืองเพื่อควบคุมเนื้อหาของสื่อต่างประเทศแม้แต่ในสหรัฐฯ เช่น ใน พ.ศ. 2556 บลูมเบิร์กนิวส์ได้หยุดสืบสวนการสะสมความมั่งคั่งของสมาชิกชั้นสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เนื่องจากผู้บริหารของสำนักข่าวดังกล่าวกังวลถึงผลกระทบที่มาจากรัฐบาลจีน บลูมเบิร์กเกรงว่าจะสูญเสียการเข้าถึงจีนหลังจากที่นักข่าวสืบสวนและภรรยาได้รับคำขู่เอาชีวิต “เรื่องนั้นจะเปิดทางให้พรรคคอมมิวนิสต์สั่งปิดเรากันหมดและเตะเราออกจากประเทศแน่นอน” นายแมทธิว วิงค์เลอร์ บรรณาธิการใหญ่ผู้ก่อตั้งบลูกเบิร์ก กล่าวในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ตามรายงานของเนชันแนลพับบลิกเรดิโอ “แต่ผมไม่ได้มองว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้น” เมื่ออ้างอิงถึงข่าวการสืบสวนดังกล่าว

นักดับเพลิงยืนอยู่นอกสำนักงานของสำนักข่าวซินหัวซึ่งควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากผู้ประท้วงในฮ่องกงทุบหน้าต่างของสำนักงานดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

ความกลัวของบลูมเบิร์กเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในการควบคุมสื่อต่างประเทศ เช่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขับไล่ผู้สื่อข่าวจากเดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะวอชิงตันโพสต์ เดอะวอลสตรีทเจอ
ร์นัล นิตยสารไทมส์ และวอยซ์ออฟอเมริกาออกจากประเทศจีนฐานตีพิมพ์การวิพากษ์วิจารณ์พรรค

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักให้ผลในทางตรงกันข้าม โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะ “การทำการทูตแบบกระหายสงคราม” ของพรรคเอง การเรียกร้องความจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อพรรคเป็นเรื่องที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่พลเมืองจากประเทศอื่น ๆ เช่น มิวสิควิดีโอชิ้นหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นให้เห็นความพยายามของจีนในการช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่กลับเป็นการกระตุ้นความโกรธแค้นให้แผ่ขยายไปทั่วแทน เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากตีความว่าเป็น “การพยายามโดยนัยของรัฐบาลจีนที่จะยืนกรานการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหมด” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทมส์ มิวสิกวิดีโอดังกล่าวปรากฏขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจากที่ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องประท้วงทางการทูตต่อจีน ในประเด็นการสร้างเขตใหม่สองเขตที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสากล เพื่อบริหารจัดการเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้รวมถึงพื้นที่ที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์

ในคำวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 นายโจ คิม ผู้สื่อข่าวได้อธิบายไว้ว่า “แม้ว่าการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านในการทำสงครามเรื่องเล่าที่พัฒนาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบอาจเสริมสร้างความเป็นชาตินิยมในประเทศจีนได้ แต่ภาวะสงครามเช่นนั้นขัดแย้งต่อภาพลักษณ์ ‘มหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ’ ที่จีนพยายามจะสร้างขึ้นและบ่อนทำลายวิสัยทัศน์ของนายสีที่จะ ‘สร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันให้แก่มนุษยชาติ’”

มาตรการตอบโต้ที่เกิดขึ้น

จีนซึ่งเป็นประเทศระบบพรรคการเมืองเดียวดำเนินการสรรหาและฝึกอบรมผู้สื่อข่าวต่างชาติ ซื้อกิจการสื่อ ให้เช่าเวลาออกอากาศที่สำคัญ และถือหุ้นในกิจการสื่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งใช้แนวทาง
อื่น ๆ เพื่อชักจูงผู้รับข่าวสารชาวต่างชาติให้มั่นใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะคงอยู่ตลอดไป โดยหลักแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนผลักดันการโฆษณาชวนเชื่อลงในสื่อสำนักใดก็ตามที่ยอมรับเงินจากพรรค

ผู้นำโลกต่างเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ กับกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งไม่เพียงผลักดันการโฆษณาชวนเชื่อไปทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในระบอบประชาธิปไตย แบ่งแยกรัฐบาลต่าง ๆ และใช้กฎหมาย ระบบราชการ นโยบาย และเสรีภาพในการพูดของประเทศเจ้าบ้านมาทำลายผลประโยชน์ของเจ้าบ้านเสียเอง ผู้มีบทบาทในประเทศ รัฐบาล กองทัพ และภาคประชาสังคมจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตระหนักถึงกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการทำให้อิทธิพลในต่างประเทศของพรรคหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น ด้วยหวังจะครอบงำทั่วโลกและสร้างอิทธิพลในระดับภูมิภาค ด้วยเหตุนั้น ผู้มีบทบาทเหล่านั้นจึงสรรหาวิธีการต่าง ๆ มาใช้ปกป้องเสรีภาพของสื่อและโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยจากอิทธิพลที่เป็นอันตรายของเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็ยังมีงานอีกมากมายที่พวกเขาต้องทำ

หญิงคนหนึ่งเดินผ่านโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อที่มีคำว่า “สวมใส่” นอกที่อยู่อาศัยของกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าถึงทุกแง่มุมของสังคมจีน ดิแอสโซซิเอทเต็ดเพรส

“ความพยายามของพวกเขาในการระบุนโยบายและกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและจำกัดการครอบครองสิทธิ์ข้ามสื่อ ลงโทษการกระทำในเชิงบีบบังคับและทุจริตของเจ้าหน้าที่จีน และปกป้องสื่ออิสระจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการเงิน เหล่านี้ไม่เพียงจะจัดการการรุกล้ำของรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยและสื่ออิสระให้แข็งแกร่งเหนือภัยคุกคามอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ” ฟรีดอมเฮาส์ระบุ “การดำเนินการดังกล่าวอาจต้องอาศัยเจตนารมณ์ทางการเมืองอยู่มาก เนื่องจากมาตรการบางอย่างที่กำหนดมาเพื่อค้ำจุนเสรีภาพของสื่อและการแข่งขันที่เป็นธรรมในระยะยาวจะถูกรัฐบาลจีนต่อต้าน และอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของจีนในระยะสั้น แต่ก็เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนขยายขอบเขตของโครงการสร้างอิทธิพลด้านสื่อโดยไม่มีการตรวจสอบนั้น มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย”


ข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อต่อต้านเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผู้กำหนดนโยบายในประเทศประชาธิปไตยควรช่วยกันต่อต้านผล กระทบเชิงลบจากการรณรงค์สร้างอิทธิพลครอบงำสื่อต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน องค์กรนอกภาครัฐ ฟรีดอมเฮาส์ ระบุถึงสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถทำได้ ดังนี้

  • เพิ่มความโปร่งใส รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรใช้หรือบังคับใช้นโยบายที่ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมสร้างอิทธิพลครอบงำสื่อของจีนเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนในประเทศของตนมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการรายงานข้อกำหนดการใช้จ่ายด้านโฆษณาแบบชำระเงิน โครงสร้างการถือสิทธิ์ และข้อผูกพันทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสำนักสื่อมวลชนที่มีต่อผู้มีบทบาทของประเทศจีน
  • กำหนดบทลงโทษการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่จีน เมื่อนักการทูตและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของจีนทำเกินขอบเขตหน้าที่ของตนและพยายามเข้าแทรกแซงสื่อที่มีการรายงานในประเทศอื่น รัฐบาลเจ้าบ้านควรประท้วงอย่างแข็งขัน โดยเตือนว่าพฤติกรรมเช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายแก่ระเบียบทางการทูตได้ หากการกระทำต้องสงสัยดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความร้ายแรง รัฐบาลเจ้าบ้านควรพิจารณาประกาศให้ผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา
  • สอดส่องดูแลการเซ็นเซอร์และการเฝ้าระวังระหว่างประเทศจากบริษัทที่จีนเป็นเจ้าของ ฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศประชาธิปไตยควรจัดให้มีการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นเกี่ยวกับขอบเขต ลักษณะ และผลกระทบของการเซ็นเซอร์และการเฝ้าระวังทางการเมืองบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น วีแชทของเทนเซ็นต์ ติ๊กต็อกของไบต์แดนซ์ และเบราว์เซอร์โทรศัพท์มือถือที่ผลิตขึ้นโดยชาวจีน จากนั้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อกดดันให้บริษัทต้องสงสัยดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้ใช้มีสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและมีความเป็นส่วนตัว นักการเมืองที่เลือกใช้วีแชท ติ๊กต็อก หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของหรือควบคุมเพื่อสื่อสารกับประชาชน ควรตรวจสอบการส่งข้อความอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจจับการชักจูงใด ๆ รวมทั้งลงทะเบียนบัญชีของตนโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศหากทำได้ และเผยแพร่ข้อความซ้ำบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบเดียวกันของประเทศอื่น ๆ
  • กวดขันและบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการออกอากาศ หน่วยงานกำกับดูแลสื่อควรแก้ไขหรือบังคับใช้กฎเกี่ยวกับการออกอากาศให้ดีขึ้น เพื่อควบคุมการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของสื่อของรัฐและบริษัทที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การออกอากาศการสารภาพแบบบังคับของนักโทษที่สำนึกผิด หรือการปลุกปั่นโครงสร้างพื้นฐานด้านการกระจายสื่อ ซึ่งบริษัทเข้าถือครองสิทธิความเป็นเจ้าของ หน่วยงานกำกับดูแลควรดำเนินการตรวจสอบการละเมิดที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและการรวบรวมกิจการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • สนับสนุนสื่ออิสระที่ใช้ภาษาจีน ผู้สนับสนุนการพัฒนาสื่อควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าในโครงการต่าง ๆ ที่เสนอเงินทุน การฝึกอบรม และโอกาสด้านความช่วยเหลืออื่น ๆ แก่สื่อที่ใช้ภาษาจีนนั้น มีสื่อที่อยู่นอกประเทศและพลัดถิ่นรวมอยู่ด้วย รัฐบาลต่าง ๆ ควรมีส่วนร่วมเชิงรุกกับสื่อดังกล่าว โดยให้สัมภาษณ์และสำรวจความร่วมมืออื่น ๆ ที่เป็นไปได้ ไปพร้อม ๆ กับการต่อต้านแรงกดดันจากนักการทูตจีนที่จะลดความสำคัญของสื่อเหล่านั้นลง ผู้ให้ทุนควรให้การสนับสนุนทางเทคนิคและทางการเงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในกลุ่มสื่ออิสระที่ใช้ภาษาจีน
  • หารือถึงการตอบโต้ร่วมกับประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน นักการทูต หน่วยงานกำกับดูแลด้านสื่อ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายอื่น ๆ ควรหารือกันเป็นประจำเกี่ยวกับยุทธวิธีการสร้างอิทธิพลครอบงำสื่อต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการตอบโต้ด้วยแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยเป็นส่วนหนึ่งในวาระการประชุมทวิภาคีและพหุภาคีในกลุ่มรัฐบาลประเทศประชาธิปไตย มีรัฐบาลและผู้มีบทบาทอื่น ๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการริเริ่มเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว และมีแนวโน้มว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะสร้างบทเรียนใหม่ ๆ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับอย่างเป็นระบบจะช่วยขยายผลกระทบและส่งเสริมให้มีการนำแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับค่านิยมประชาธิปไตยไปใช้

ที่มา: “เครื่องกระจายเสียงทั่วโลกของรัฐบาลจีน”, ฟรีดอมเฮาส์, ธันวาคม พ.ศ. 2562

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button