ติดอันดับ

การเลือกเจ้าหน้าที่ของจีนให้ดำรงตำแหน่งในศาลระหว่างประเทศ สร้างความกังวลต่อการระงับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเลือกเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศฮังการีให้เข้าดำรงตำแหน่งในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ คือตัวอย่างหนึ่งของการรณรงค์แบบมุ่งเป้าของจีน เพื่อเพิ่มอิทธิพลในระบบที่อิงตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ ผ่านองค์กรในเครือเช่นศาลแห่งนี้

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ประเทศ 168 แห่งซึ่งลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ได้เลือกผู้พิพากษาใหม่จำนวน 6 คนให้ดำรงตำแหน่งในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ รวมถึงนายต้วน เจี๋ยหลง ผู้ทรงเกียรติชาวจีน

ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถของนายต้วนในการเป็นผู้พิพากษาที่เป็นกลางในประชาคมนานาชาติ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้พิพากษาอีก 5 คนที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี มาจากแคเมอรูน ชิลี อิตาลี มอลตา และยูเครน โดยคณะผู้พิพากษาทั้งหมดมีจำนวน 21 คน

“การเลือกเจ้าหน้าที่ของจีนเข้ามาในหน่วยงานนี้ เปรียบเสมือนการจ้างนักวางเพลิงให้ดูแลหน่วยดับเพลิง” นายเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในที่ประชุมเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้ลงนามหรือเป็นประเทศสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลแต่อย่างใด

ใน พ.ศ. 2559 ศาลที่แยกออกมาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ตัดสินว่าจีนไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่เกือบร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้ตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากขาดหลักฐานความเป็นมา จีนปฏิเสธที่จะยอมรับหรือปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว สร้างความตกใจให้กับหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่น ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้อ้างสิทธิ์ ไปจนถึงออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่น (ภาพ: เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนลาดตระเวนผ่านเรือประมงของฟิลิปปินส์บริเวณสันดอนสกาโบโรห์ที่เป็นข้อพิพาทในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560)

ข้อพิพาทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลสามารถระงับได้ผ่านศาลอย่างน้อย 4 แห่ง

รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ตามรอยฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลเวียดนามเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ 4 คนและผู้ประนอมข้อพิพาท 4 คนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเวียดนามอาจจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการในเร็ว ๆ นี้ตามการรายงานข่าว

จากการมีผู้พิพากษาจีนคนใหม่ ทำให้ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าเวียดนามจะไม่ใช้ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์

จีนดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีผู้พิพากษาชาวจีนปฏิบัติหน้าที่ในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศมาตลอด นับตั้งแต่การก่อตั้งศาลใน พ.ศ. 2539 ผ่านการบิดเบือนข้อกำหนดการเสนอชื่อทางภูมิศาสตร์

“การเสนอชื่อเข้าร่วมศาลโดยไม่มีข้อโต้แย้งซึ่งเป็นรูปแบบที่จีนใช้มาอย่างยาวนานนี้ มีส่วนทำให้รัฐบาลจีนกล้าเพิกเฉยต่อหลักนิติธรรม รวมถึงในทะเลจีนใต้” นายโจนาธาน โอดอม อัยการและนักวิชาการทหารประจำกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวแย้งในลอว์แฟร์ ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นบล็อกเพื่อประเด็นด้านความมั่นคงโดยเฉพาะ

“หลังจากศึกษาประวัติการจัดสรรตำแหน่งในภูมิภาคของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ไม่มีข้อโต้แย้งของรัฐบาลจีน ผมแย้งว่าผลสุทธิจากการที่ ‘จีนมีตำแหน่ง’ โดยพฤตินัยในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ สำหรับรัฐบาลจีนแล้วก็คล้ายกับเป็นการให้สิทธิ์และการไม่ต้องถูกลงโทษ สำหรับการดำเนินการที่ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลและหลักนิติธรรม” นายโอดอมระบุ “การให้ท้ายจีนในนโยบายที่สุ่มเสี่ยง และการยืนยันการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ไร้สาระของจีนเป็นความคิดที่แย่มาก”

นับตั้งแต่ก่อตั้ง ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศได้จัดการคดีต่าง ๆ มาแล้ว 28 คดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือและลูกเรือโดยพลัน เขตอํานาจของรัฐชายฝั่งในอาณาเขตทางทะเล เสรีภาพในการเดินเรือ การไล่ตามติดพัน สิ่งแวดล้อมทางทะเล ธงแห่งความสะดวก และการอนุรักษ์ประชากรสัตว์น้ำ จากการรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์

การเลือกตั้งของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอาจด้อยความสำคัญลงจากความจริงที่ว่า ประเทศต่าง ๆ อาจเลือกจะบังคับใช้การอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้และที่อื่น ๆ จากศาลของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลที่มีอยู่หลายแห่ง ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ

“ประเทศสมาชิกทั้ง 168 ประเทศมีข้อผูกพันที่จะต้องทำหน้าที่ในส่วนของตน ทั้งในแบบเฉพาะแต่ละประเทศและร่วมกันทั้งหมด เพื่อรักษานโยบายและกฎระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดถือกันมานานซึ่งระบุไว่ในสนธิสัญญาดังกล่าว” นายโอดอมเขียนในลอว์แฟร์

และสำหรับสหรัฐฯ ได้ระบุว่า  “ครั้งต่อไปที่เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนเล่นเกมวัดใจกับแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกเวียดนาม หรือกองเรือประมงขนาดเล็กของจีนปรากฏในน่านน้ำของอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างหนักแน่นมากขึ้นเพื่อประณามการกระทำที่ผิดกฎหมาย” นายเกร็ก โพลิง นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้อำนวยการโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าวกับซีเอ็นบีซีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563

“และนั่นจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของจีนในระดับนานาชาติในสัดส่วนที่มากยิ่งกว่า”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button