ติดอันดับ

เกิดความตระหนกเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนมากขึ้นจากการที่จีนควบคุมตัวและสอบสวนผู้สื่อข่าว

การควบคุมตัวพลเมืองออสเตรเลียอย่างเป็นปริศนาซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานให้สำนักข่าวรัฐวิสาหกิจของจีน ตามด้วยการโยกย้ายผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลียสองคนที่พำนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นให้เห็นถึงข้อกังวลที่มีมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนในจีน

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 หนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งรายงานว่า หนึ่งในผู้สื่อข่าวของตนถูกตำรวจควบคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง จากนั้นถูกบังคับขับไล่ออกจากฮูฮอต ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน นางอลิซ ซู หัวหน้าสำนักข่าวลอสแอนเจลิสไทมส์สาขาปักกิ่ง รายงานเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาฉบับใหม่ที่เป็นข้อถกเถียง ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนต่าง ๆ ใช้ภาษาจีนมาตรฐานเป็นภาษาหลักในการสอนแทนภาษามองโกลพื้นเมือง

นโยบายดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการประท้วงและการคว่ำบาตรห้องเรียน โดยชาวมองโกเลียพื้นถิ่นกล่าวว่า นี่เป็นความพยายามอีกครั้งของทางการจีนในการลบล้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกตน

ภายในสัปดาห์ที่นางซูถูกขับไล่ออกจากเมืองฮูฮอต นายไมเคิล สมิธ และนายบิล เบอร์เทิลส์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าว ก็ได้เดินทางกลับออสเตรเลียหลังจากเกิดสถานการณ์ยืดเยื้อไร้ซึ่งทางออก โดยที่นักการทูตออสเตรเลียพยายามดูแลให้ทั้งสองเดินทางจากจีนไปยังออสเตรเลียอย่างปลอดภัย

นายเบอร์เทิลส์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของบรรษัทกระจายเสียงแห่งประเทศออสเตรเลีย หรือ เอบีซี ในปักกิ่ง และนายสมิธ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ดิออสเตรเลียนไฟแนนเชียลรีวิวในเซี่ยงไฮ้ ได้ใช้สำนักงานกงสุลออสเตรเลียเป็นที่พักพิงอยู่หลายวัน หลังจากมีตำรวจรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลจีนเข้าเยี่ยมทั้งสองในยามวิกาล จากรายงานของสำนักข่าวเอบีซีเมื่อวันที่ 8 กันยายน

ชายทั้งสองเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สำหรับองค์กรสื่อมวลชนของออสเตรเลียเพียงสองคนที่ยังคงทำข่าวอยู่ในจีน โดยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ออกจากจีนก็ต่อเมื่อยินยอมให้ตำรวจสัมภาษณ์

“ความพยายามที่จะกันผู้สื่อข่าวต่างชาติในจีนที่ต่อต้านเจตจำนงของจีนออกไปนั้น แสดงถึงการยกระดับการโจมตีเสรีภาพสื่อที่รัฐบาลจีนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ” สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศจีนโพสต์ทวีตเมื่อวันที่ 8 กันยายน “@fccchina ขอประณามการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่ออย่างไม่ปกตินี้ ซึ่งทำให้นักข่าวต่างชาติกังวลว่าตนอาจเป็นเป้าหมายของการทูตตัวประกันของจีน”

นายเบอร์เทิลส์และนายสมิธกล่าวว่า ตำรวจถามพวกตนเกี่ยวกับนางเฉิง เหล่ย (ในภาพ) ผู้ประกาศข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นช่องข่าวของรัฐภาคภาษาอังกฤษ นางเหล่ย ซึ่งเป็นพลเมืองออสเตรเลียที่เกิดในประเทศจีน ถูกควบคุมตัวเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 หนังสือพิมพ์เดอะซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์รายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า นางเหล่ย “ต้องสงสัยว่าดำเนินการก่ออาชญากรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงระดับชาติของจีน” แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดใด ๆ

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ข้อกล่าวหานี้อาจทำให้ทางการควบคุมตัวนางเหล่ยที่มีบุตรเล็กสองคนไว้ได้นานหลายเดือน โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหาหรือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

“การควบคุมตัวอย่างเป็นความลับ การไม่สามารถเข้าถึงทนายความ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่คลุมเครือและยืดเยื้อ ชี้ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นถึงคดีความมั่นคงระดับชาติมากมายซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” นายเบอร์เทิลส์ระบุในบทความที่เขียนให้เว็บไซต์ของเอบีซี “ไม่มีทางที่ผมจะอยากถูกบังคับให้ลงชื่อในเอกสารอะไรก็ตามที่เป็นเท็จหรืออาจถูกใช้เพื่อกล่าวหาคนอื่น ๆ”

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สบายใจที่เพิ่มขึ้นต่อการเซ็นเซอร์สื่อต่างชาติในประเทศจีน ซึ่งโดยทั่วไปมีรัฐเป็นเจ้าขององค์กรข่าวภายในประเทศและทำการควบคุมอย่างเข้มงวด

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้สื่อข่าวในปักกิ่งที่รายงานเกี่ยวกับจีน กล่าวว่า การคุกคามผู้สื่อข่าวที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรข่าวระบุว่า การสำรวจผู้สื่อข่าว 114 คนจาก 25 ประเทศพบว่า ผู้สื่อข่าวร้อยละ 82 “เคยประสบกับการแทรกแซงหรือคุกคามหรือความรุนแรง” ขณะทำงานใน พ.ศ. 2562 ผู้สื่อข่าวมากกว่าร้อยละ 40 กล่าวว่า “การเฝ้าระวังทางดิจิทัล/ทางกายภาพ” ส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกตน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button