ปาเลาเชิญชวนสหรัฐฯ สร้างฐานทัพท่ามกลางการขยายอิทธิพลของจีน

ติดอันดับ | Sep 18, 2020
เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส
ประเทศแปซิฟิกขนาดเล็กอย่างปาเลาได้เร่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกาสร้างฐานทัพบนดินแดนของตน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตอบโต้การพยายามขยายอิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 และกล่าวหาจีนว่า “ดำเนินการกิจกรรมก่อความไม่มั่นคง” ในอินโดแปซิฟิก
นายโธมัส เรเมเงเซา ประธานาธิบดีปาเลา เผยว่าตนบอกนายเอสเปอร์ว่ายินดีให้กองทัพสหรัฐฯ สร้างฐานทัพในประเทศของตน ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่อยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ไปทางตะวันออกประมาณ 1,500 กิโลเมตร
“คำขอของปาเลาต่อกองทัพสหรัฐฯ ยังคงเรียบง่าย นั่นคือการสร้างฐานทัพสำหรับใช้งานร่วม จากนั้นก็มาใช้งานอย่างสม่ำเสมอ” นายเรเมเงเซา กล่าวในจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ข้อความกล่าวไว้ว่าประเทศที่มีประชากร 22,000 คนแห่งนี้เปิดรับการสร้างฐานทัพบนบก สิ่งอำนวยความสะดวกทางท่าเรือ และสนามบิน นายเรเมเงเซายังได้เสนอแนะให้มีบทบาทของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ในปาเลาเพื่อช่วยลาดตระเวนเขตอนุรักษ์ทางทะเลอันกว้างใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดเท่าประเทศสเปนและเป็นเรื่องยากที่ปาเลาเองจะตรวจสอบ แม้ว่าปาเลาเป็นประเทศเอกราช แต่ประเทศแห่งนี้กลับไม่มีกองทัพ และสหรัฐฯ มีความรับผิดชอบในการป้องกันประเทศแห่งนี้ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่าสัญญาความสัมพันธ์เสรี
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว กองทัพสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงหมู่เกาะได้ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีทหารประจำการอยู่ที่นั่นอย่างถาวรก็ตาม
“เราควรใช้กลไกของสัญญาดังกล่าวเพื่อสร้างบทบาทที่สม่ำเสมอของกองทัพสหรัฐฯ ในปาเลา” นายนายเรเมเงเซากล่าว นายเรเมเงเซากล่าวว่า ฐานทัพในปาเลาไม่เพียงแต่เพิ่มความพร้อมของกองทัพสหรัฐฯ แต่ยังช่วยเหลือเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งกำลังประสบปัญหาเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศหยุดชะงัก
อาคารเรดาร์ของกองทัพสหรัฐฯ มีแผนจะสร้างขึ้นในปาเลา แต่การก่อสร้างถูกระงับไปเพราะการระบาดใหญ่ โดยปาเลาจดจ่ออยู่กับการรักษาสถานะประเทศที่ปราศจากไวรัส นอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แล้ว ปาเลายังเป็นหนึ่งในสี่พันธมิตรของไต้หวันในแปซิฟิก
พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน ได้พยายามเอาชนะใจพันธมิตรของรัฐบาลไต้หวันในแปซิฟิกโดยการชักชวนให้หมู่เกาะโซโลมอนและคิริบาตีเปลี่ยนฝ่ายใน พ.ศ. 2562
ปาเลาปฏิเสธ ซึ่งส่งผลให้จีนสั่งห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนไปปาเลาใน พ.ศ. 2561
“ส่วนหนึ่งแล้วดูเหมือนว่าประธานาธิบดีเรเมเงเซาจะมองว่านี่เป็นทางออกทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ในการรับมือกับการพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากของปาเลา ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวของชาวจีน” นางแอนนา พาวส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในแปซิฟิกจากมหาวิทยาลัยแมสซีของประเทศนิวซีแลนด์กล่าว
นายเรเมเงเซากล่าวกับนายเอสเปอร์ว่า “ผู้มีบทบาทที่ไม่มีเสถียรภาพเดินหน้าใช้ประโยชน์ ” จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับไวรัสที่ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กกำลังประสบอยู่ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อจีนโดยตรง
นายเรเมเงเซากล่าวว่าจีนเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความภักดีของประเทศเหล่านั้น “ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้คนที่มีต่อความสัมพันธ์กับผู้ที่ช่วยประเทศเหล่านั้น” นายเรเมเงเซากล่าว