ติดอันดับ

ประเทศในอินโดแปซิฟิกพยายามจำกัดผลกระทบของการระบาดในการเลือกตั้ง

ประเทศทั่วอินโดแปซิฟิกกำลังรับมือกับการหยุดชะงักของการเลือกตั้งจากโควิด-19 ตั้งแต่เครื่องแสกนความร้อนและถุงมือใช้แล้วทิ้ง ไปจนถึงการขยายการลงคะแนนเสียงไปทางไปรษณีย์และเลื่อนการเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไป

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 นิวซีแลนด์ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปเป็นเวลา 4 สัปดาห์หลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งนำไปสู่การปิดเมืองโอ๊คแลนด์ที่มีประชากรมากที่สุด โดยมีกำหนดการลงคะแนนเสียงใหม่เป็นวันที่ 17 ตุลาคม

นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ซึ่งกำลังหาเสียงในการเลือกตั้งใหม่กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว “ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีเวลาเพียงพอในการวางแผนหาเสียงที่อาจทำได้ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ … และทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้สึกมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะปลอดภัย เข้าถึงได้ และน่าเชื่อถือ”

นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งในอย่างน้อย 70 ประเทศทั่วโลกที่ได้เลื่อนการเลือกตั้งหรือการลงประชามติออกไปท่ามกลางภาวะการระบาดใหญ่ ตามข้อมูลของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลรายงานว่า ในระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน พ.ศ. 2563 ประเทศกว่า 20 แห่งจัดการเลือกตั้งซึ่งถูกเลื่อนมาก่อนหน้านั้น โดยประเทศเหล่านั้นในอินโดแปซิฟิกรวมถึงศรีลังกา ซึ่งจัดการเลือกตั้งรัฐสภาในช่วงต้นเดือนสิงหาคมหลังจากล่าช้าไปประมาณสามเดือน และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอย่างคิริบาตี ซึ่งการลงคะแนนเสียงรัฐสภาของเดือนเมษายนถูกเลื่อนออกไปหนึ่งสัปดาห์

ประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคแห่งนี้ได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยในการดำเนินการเลือกตั้ง สำหรับชาวสิงคโปร์ที่ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศในวันที่ 10 กรกฎาคม หน่วยเลือกตั้งได้บังคับใช้หลักเกณฑ์การเว้นระยะห่าง และจัดเตรียมน้ำยาล้างมือและถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งไว้ให้ มีการกำหนดเวลาในการลงคะแนนเสียงให้กับผู้อยู่อาศัยที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า เพื่อลดการติดต่อกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าให้ได้มากที่สุด

คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.6 ล้านคนของสิงคโปร์ที่ลงทะเบียนมาลงคะแนนเสียงเกือบร้อยละ 96

คณะกรรมการการเลือกตั้งในศรีลังกาได้ทำการลงคะแนนเสียงสมมติประมาณร้อยละ 20 ในเขตเลือกตั้งของประเทศ เพื่อทดสอบระเบียบการด้านสุขภาพและความปลอดภัยก่อนการเลือกตั้งรัฐสภาในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเลื่อนมาแล้วถึงสองครั้ง ตามรายงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากากและนำปากกามาเองเพื่อกรอกใบลงคะแนน ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัวจากโควิด-19 ให้ใช้คูหาลงคะแนนที่กำหนด

คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 16.2 ล้านคนของศรีลังกามาลงคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 71 (ภาพ: ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้น้ำยาล้างมือก่อนที่จะเข้าสู่คูหาเลือกตั้งในเมืองโคลอมโบระหว่างการเลือกตั้งรัฐสภาของศรีลังกาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563)

ในขณะเดียวกัน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในรัฐพิหารทางตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 หนังสือพิมพ์ดิอินเดียนเอกซ์เพรสรายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการจัดการเลือกตั้งระดับรัฐครั้งแรกของอินเดียนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา

รัฐพิหารที่มีประชากรหนาแน่นมีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 120 ล้านคน เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งในรัฐดังกล่าวได้ออกหลักเกณฑ์ลดความจุภายในสถานที่เลือกตั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และกำหนดให้ใช้เครื่องสแกนความร้อนเพื่อจำกัดการเข้าถึงของผู้ป่วยที่มีอาการ มีการจัดหน้ากากและถุงมือให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่การเลือกตั้ง

นายอาดี อามาน ผู้จัดการโครงการอาวุโสของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้งประจำเอเชียและแปซิฟิก ระบุในบทความที่เขียนให้กับนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมว่า หน่วยงานการเลือกตั้งในภูมิภาคนี้ “กำลังปรับตัวเข้ากับ ‘วิถีแบบใหม่’ ของการดำเนินการเลือกตั้ง” ในช่วงวิกฤตด้านสาธารณสุข

“ประชาธิปไตยต้องตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิลงคะแนนเสียงสากล ความโปร่งใส และความชอบธรรมจะไม่ถูกขัดขวาง” นายอามานเขียน

ความพยายามดังกล่าวเพื่อปกป้องสิทธิของพลเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการกระทำของผู้นำฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

คณะบริหารของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกำหนดให้ยกเลิกการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเป็นเวลานานถึงหนึ่งปี ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563 คนส่วนใหญ่มองว่าการเลื่อนการเลือกตั้งอย่างกะทันหันและโดยพลการนี้เป็นอุบายการบริหารเพื่อตัดสิทธิ์ประชาชนฮ่องกงและหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายต่อผู้สมัครที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button