ติดอันดับ

โตเกียวและซิดนีย์มุ่งมั่นที่จะดึงดูดบริษัทการเงินฮ่องกงที่กำลังสั่นคลอน แต่สิงคโปร์คือตัวเต็ง

รอยเตอร์

ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ เตรียมมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดธนาคารและบริษัทจัดการสินทรัพย์ในฮ่องกงที่กำลังกังวลเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนบังคับใช้ แต่ผู้เชี่ยวชาญในภาคการเงินระบุว่า แม้ว่าธนาคารและบริษัทจัดการสินทรัพย์ในฮ่องกงจะย้าย แต่ก็จะย้ายไปยังสิงคโปร์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภาษีและค่าใช้จ่ายที่สูง ระบบราชการที่อ่อนแอ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมในประเทศอินโดแปซิฟิกบางประเทศ แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่น่ากลัวสำหรับสถาบันการเงินฮ่องกงบางส่วนที่จะย้ายถิ่นฐาน การที่สิงคโปร์มีความความคล้ายคลึงกับฮ่องกงถือเป็นข้อได้เปรียบ แม้ว่านครรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้จะไม่ได้แสวงหาธุรกิจดังกล่าวก็ตาม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ในฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ตั้งส่วนภูมิภาคของกลุ่มสถาบันการเงินระดับโลกหลายกลุ่ม กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ประเมินการดำเนินงานที่นั่นใหม่อีกครั้ง (ภาพ: เขตการเงินกลางของฮ่องกง)

หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของฮ่องกงกล่าวว่า มีหลายสถาบันที่กังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวแวะเวียนเข้ามาหา แต่ยังรับรองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของฮ่องกงยังหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากความกังวลดังกล่าว

“ความวุ่นวายทางการเมืองในฮ่องกงได้สร้างโอกาสแก่ออสเตรเลีย ทำให้ซิดนีย์กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายแอนดรูว์ แบรก วุฒิสมาชิกออสเตรเลีย ได้เขียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย

ญี่ปุ่นได้รวมการจูงใจ “ทรัพยากรมนุษย์ที่ยอดเยี่ยม” เพื่อจัดตั้งศูนย์การเงินระดับโลกไว้ในแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ตามคำกล่าวอย่างเป็นทางการว่าญี่ปุ่นอาจดึงดูดธุรกิจจากฮ่องกงมาได้

ร่างข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วยการสนับสนุนวีซ่าและการอนุมัติให้มีใบอนุญาตการจัดการการลงทุนอย่างคล่องตัว

นอกจากนี้ ศูนย์การเงินขนาดเล็กก็พยายามที่จะเสี่ยงโชคเช่นกัน

เมืองปูซานในประเทศเกาหลีใต้กำลังเสนอการลดหย่อนภาษีและสำนักงานปลอดค่าเช่าให้แก่บริษัทการเงินต่าง ๆ ขณะที่ผู้กำกับดูแลระดับสูงของไต้หวันกล่าวว่า ตนหวังว่าหลักนิติธรรมและค่านิยมประชาธิปไตยของเกาะไต้หวันจะดึงดูดธุรกิจให้เข้ามา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า การปฏิรูปที่ยังเป็นที่โต้แย้งไม่ได้คืบหน้าไปเท่าใดนัก

“พูดตรง ๆ ก็คือ รัฐบาลญี่ปุ่นลำบากในการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่สำคัญจากฮ่องกง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเข้าไปแทนที่” นายสตีเวน ทราน หุ้นส่วนของเมเยอร์บราวน์ บริษัทกฎหมายในฮ่องกงซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ในโตเกียวเป็นเวลา 4 ปีกล่าว

นายทรานยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาษีญี่ปุ่น รวมทั้งกฎระเบียบที่ยุ่งยากมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต้นทุนแรงงานที่สูงกว่า และความคล่องแคล่วด้านภาษาอังกฤษที่น้อยกว่า จะทำให้สถาบันการเงินดำเนินการจากศูนย์กลางภูมิภาคในโตเกียวได้ยากกว่า

อัตราภาษีนิติบุคคลของฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 16.5 มากกว่าครึ่งหนึ่งของภาษีในญี่ปุ่นและออสเตรเลียเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค

อีกหนึ่งความท้าทายคือการโน้มน้าวให้พนักงานอาวุโสยอมสละวิถีชีวิตแบบสากลในฮ่องกง

“โดยปกติแล้ว เมื่อชาวต่างชาติย้ายไปยังญี่ปุ่น พวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากกว่าการย้ายไปยังฮ่องกง” นายเจเรมี ลาฟลิน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทซานตา เฟ รีโลเคชั่น ในโตเกียวกล่าว

กำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เพียงพอ อาจทำให้ความพยายามของเกาหลีใต้และไต้หวันจบลง

สำหรับออสเตรเลียแล้ว ประเด็นทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายกว่า แต่นางแซลลี โลน ประธานกรรมการบริหารสภาบริการการเงิน กล่าวว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภาษีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อให้อุตสาหกรรมการจัดการกองทุนสอดคล้องกับเขตอำนาจศาลอินโดแปซิฟิกอื่น ๆ เพื่อดึงดูดธุรกิจจากฮ่องกง

แม้สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่จากฮ่องกง แต่ก็ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการหารือถึงแผนการฉุกเฉิน เพราะปัญหานี้มีความละเอียดอ่อนและหลายสถาบันก็หวังที่จะขยายกิจการในจีนแผ่นดินใหญ่

บางส่วนมองว่าสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการย้ายถิ่นฐานของสถาบันต่าง ๆ เนื่องจากมีอัตราภาษีนิติบุคคลเพียงร้อยละ 17 มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับธุรกิจ และมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่ง

นายเจสัน ซาลิม นักวิเคราะห์จากสถาบันที่ปรึกษา คอนโทรล ริสก์ ของสิงคโปร์ กล่าวว่า “ทุกคนกำลังแย่งตัวผู้มีความสามารถ แต่ในแง่ของประชากร ประวัติทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการทำธุรกิจแล้ว สิงคโปร์มีความคล้ายคลึงกับฮ่องกงมากที่สุด”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button