มองภูมิภาคแผนก

อินเดีย: ความมุุ่งมั่นด้านอวกาศล้วนแต่เป็น ภารกิจสู่ดวงจันทร์

อินเดียอนุมัติภารกิจดวงจันทร์ครั้งที่สามเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดจากความมุุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศโดยใช้ต้นทุนต่ำ

นายเค. ซีวาน ประธานองค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ภารกิจจันทรายาน-3 จะประกอบด้วยยานลงจอดและยานสำรวจ แต่ไม่มียานโคจร

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ภารกิจจันทรายาน-2 ส่งยานโคจรรอบดวงจันทร์ที่ถ่ายทอดสัญญาณข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับมายังโลกได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถนำยานพาหนะสำรวจลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เนื่องจากเกิดความเสียหายระหว่างลงจอด

ภารกิจนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อลงจอดยานที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งไม่มีภารกิจดวงจันทร์ใด ๆ เคยไปมาก่อน ทั้งนี้ เชื่อกันว่าบริเวณดังกล่าวมีน้ำ เพราะมีปล่องภูเขาไฟซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงของดวงอาทิตย์

องค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดียหวังว่าจะยืนยันร่องรอยของน้ำในรูปแบบน้ำแข็งได้ ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในภารกิจเมื่อ พ.ศ. 2551

นายซีวานกล่าวว่า จันทรายาน-3 จะมี “การกำหนดค่าที่คล้ายคลึง” กับภารกิจก่อนหน้านี้ (ภาพ: อินเดียปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมพ้องคาบโลก เอ็มเค สาม-เอ็ม1 ซึ่งบรรทุกจันทรายาน-2 ออกจากศูนย์อวกาศซาติชดาวันที่เกาะศรีหาริโคตร ประเทศอินเดีย)

มีเพียงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้นที่เคยนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ โดยยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 ของจีนลงจอดแตะพื้นอีกฝั่งหนึ่งของดวงจันทร์เมื่อ พ.ศ. 2562 ส่วนอิสราเอลเคยพยายามนำยานอวกาศเบเรชีตลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สำนักข่าวพีทีไอรายงานว่า ภารกิจดวงจันทร์ครั้งที่สามของอินเดียมีแนวโน้มที่จะเปิดตัวใน พ.ศ. 2563 และจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าภารกิจก่อนหน้า ตามที่นายจิเทนดรา ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอวกาศกล่าว

นายซีวานยังกล่าวอีกว่า องค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดียกำลังสร้าง “ความคืบหน้าอย่างมาก” ด้านภารกิจการบินทางอวกาศพร้อมมนุษย์ที่กำหนดไว้ในช่วงปลาย พ.ศ.
2564 โดยระบุว่า มีนักบินอวกาศสี่คนได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรม ใน พ.ศ. 2561 รัฐบาลกล่าวว่า โครงการซึ่งมีชื่อว่ากากันยาน (ยานพาหนะสู่ท้องฟ้า) จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 1 แสนล้านรูปี (ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท)

อินเดียได้สร้างชื่อเสียงในการเป็นผู้บุกเบิกการปล่อยดาวเทียมและภารกิจทางอวกาศในราคาย่อมเยา โดยภารกิจดาวอังคารแบบไร้คนควบคุมเมื่อ พ.ศ. 2557 มีค่าใช้จ่ายเพียง 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 พันล้านบาท) ซึ่งน้อยกว่างบประมาณของภาพยนตร์เรื่อง กราวิตี้ มฤตยูแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับอวกาศที่ทำเงินของฮอลลีวูด รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button