ติดอันดับ

อินเดียเพิ่มการผลิตภายในประเทศด้วยการผลิตยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบ

มันดีป ซิงห์

เพื่อให้มีการพัฒนาครั้งสำคัญสำหรับโครงการริเริ่ม ผลิตในอินเดีย ของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย กระทรวงกลาโหมอินเดียจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการผลิตระบบต่อสู้หลักระบบที่สี่ในประเทศทั้งหมด กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบรุ่นพัฒนาแล้ว ที่รู้จักในชื่อ บีเอ็มพี-2/2เค จำนวน 156 คัน ทั้งนี้ อินเดียกำลังผลิตระบบขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศอคาช ระบบปืนใหญ่ดานุช และเครื่องบินรบน้ำหนักเบาฮาลเตยาสขึ้นเองในประเทศอยู่แล้ว

ยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบจะมีราคาประมาณ 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.59 พันล้านบาท) และจะผลิตโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโรงงานสรรพาวุธมีดักแห่งคณะกรรมการโรงงานสรรพาวุธของอินเดียในรัฐเตลังคานา ยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบหุ้มเกราะมีลักษณะคล้ายรถถังและบรรทุกทหารราบได้สูงสุดหกนาย จึงมีน้ำหนักเบากว่า โดยหนัก 14.4 ตันและมีคุณสมบัติมากกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง บีเอ็มพี-2

ด้วยความเร็วสูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยานเกราะรบสะเทินน้ำสะเทินบก บีเอ็มพี-2/2เค (ในภาพ) จะสามารถรับมือกับสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก พื้นที่ลาดชันสูงถึง 35 องศา และสิ่งกีดขวางที่สูงเกือบ 1 เมตร อำนาจการยิงของยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบนั้นรวมถึงป้อมปืนใหญ่ที่ควบคุมด้วยมนุษย์พร้อมปืนหลัก 30 มม. และปืนกล 7.62 มม.

ยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวภายใน พ.ศ. 2566 จะเข้ามาทดแทนจำนวนยานเกราะที่ขาดแคลนของกองพันทหารราบยานยนต์และเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้ ตามแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหม

ยานเกราะรบ บีเอ็มพี-2/2เค ได้รับการดัดแปลงให้สามารถบรรทุกระบบป้องกันทางอากาศอคาช ตามรายงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายในของรัฐบาล ระบบขีปนาวุธพิสัยกลางจากพื้นสู่อากาศสามารถเล็งเป้าอากาศยานได้ไกลถึง 30 กิโลเมตรที่ระดับความสูงถึง 18,000 เมตร ซึ่งจะนำไปใช้งานในกองทัพบกและกองทัพอากาศอินเดีย โดยคำสั่งซื้อทั้งหมดสำหรับระบบป้องกันทางอากาศอคาช รวมถึงระบบเรดาร์ มีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท)

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายในรายงานว่า ตั้งแต่นายโมทีเปิดตัวโครงการผลิตในอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2557 กระทรวงกลาโหมได้ลงนามในสัญญามากกว่า 180 ฉบับกับบริษัทอินเดีย ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.81 แสนล้านบาท) สินทรัพย์ทางกลาโหมอื่น ๆ ภายในประเทศที่ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายใน ยังรวมถึงระบบปืนใหญ่ดานุชและเครื่องบินรบน้ำหนักเบาฮาลเตยาสด้วย

ระบบปืนใหญ่ดานุชเป็นปืนใหญ่วิถีโค้ง 155 มม. ใช้ในกองทัพบกอินเดียซึ่งได้รับการอนุมัติให้ผลิตใน พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังอนุมัติการผลิตเครื่องบินเตยาสจำนวน 83 ลำในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และคาดว่าอากาศยานเครื่องยนต์เดี่ยวนี้จะกลายเป็นอากาศยานหลักของกองทัพอากาศอินเดีย เนื่องจากกองทัพมีแผนที่จะซื้ออากาศยานเพิ่มอีกจำนวน 339 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button