เรื่องเด่น

การตอบโต้ การหลบหลีก การคว่ำบาตร ของ เกาหลีเหนือ

ความร่วมมือระหว่างประเทศยังคง สำคัญต่อการสร้างแรงกดดันในระดับสูงสุด

นายนีล เค. วัตต์ และนาย วิลเลียม เจ. นิวคอมบ์

เรื่องราวของความพยายามจากนานาชาติในการยึดเรือไวส์ออเนสต์ของเกาหลีเหนือที่ขนส่งถ่านหินผิดกฎหมายของรัฐบาลเผด็จการแห่งนี้ไปยังจีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ฟังดูราวกับอ่านนิยายสายลับที่มีการหักมุมและพลิกแพลงไปมาหลายครั้ง กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเผด็จการของนายคิมจองอึน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายผู้กระทำการที่สมคบกันและผู้ที่ฉวยโอกาสขูดรีดจากการคว่ำบาตร ใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อน ผสมผสาน และเทคนิคการทำให้สับสน เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรหลายครั้งในเขตอำนาจศาลหลายแห่ง ทั้งยังขัดขวางการใช้และการบังคับใช้การคว่ำบาตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

หนังสือพิมพ์เนวีไทมส์ รายงานว่า กรณีเรือไวส์ออเนสต์เกิดขึ้นหลังจากปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายข้ามชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ โดยศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ขายเรือลำนี้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ครอบครัวของเหยื่อสองรายที่ถูกทางเกาหลีเหนือทรมาน โดยล่าสุดคือนายออตโต วอร์มเบียร์ นักเรียนของสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2560 หลังจากรัฐบาลเผด็จการของนายคิมปล่อยตัวเขาในสภาพแน่นิ่งไร้สติ ภายหลังการกักตัวและการทรมานจากข้อกล่าวหาว่าพยายามขโมยโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ

การยึดทรัพย์เช่นนี้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่เพียงเปิดเผยความซับซ้อนของการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะรักษาความกดดันในระดับสูงสุดต่อรัฐบาลเผด็จการของนายคิม ให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์และระงับโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมดในลักษณะที่สมบูรณ์ พิสูจน์ได้ และย้อนกลับคืนไม่ได้

ถ่านหินของเกาหลีเหนือกองรวมกันที่ท่าเรือราซอนใกล้พรมแดนจีนกับรัสเซีย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ตามรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลีเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า แม้จะประสบความสำเร็จในการยึดเรือไวส์ออเนสต์ขนาด 177 เมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ แต่การขนถ่ายถ่านหินและปิโตรเลียมจากเรือสู่เรืออย่างผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือก็ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงกลาง พ.ศ. 2562 รายงานระบุว่า แทนที่การขนถ่ายที่ผิดกฎหมายจะลดจำนวนลง กลับเพิ่มขึ้นในด้าน “ขอบเขต ขนาด และความซับซ้อน” หลังจากที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วใน พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า เกาหลีเหนือยังเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศผ่านตัวแทนธนาคาร และบริษัทแนวหน้าที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ตามรายงานของสถาบันวิจัยรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิสเมื่อ พ.ศ. 2562 ระบุว่า บริษัทเว่ยไห่ เวิลด์ ชิปปิง เฟรท เป็นอีกบริษัทหนึ่งในจีนที่แม้จะถูกเพิ่มในรายชื่อการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 แล้ว แต่ยังคงมีการดำเนินการกองเรือหกถึงเจ็ดลำ และใช้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแนวหน้าของสหราชอาณาจักร เพื่อลักลอบขนถ่านหินของเกาหลีเหนือไปยังจีนและเวียดนาม

ประชาคมนานาชาติต้องหยุดไม่ให้เกาหลีเหนือเอาชนะการโต้ตอบที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การสร้างแรงกดดัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้กลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธนำวิถีอีกครั้ง เพื่อท้าทายความมุ่งมั่นของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในการตอบสนองเมื่อ พ.ศ 2559 และ 2560 คณะมนตรีความมั่นคงปรับใช้จุดยืนที่หนักแน่นมากขึ้น เพื่อกดดันทางการของเกาหลีเหนือมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้หยุดยั้งโครงการต้องห้าม และผลักดันให้เกาหลีเหนือหาทางออกทางการทูต

สาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซีย ซึ่งโดยปกติจะระมัดระวังเกี่ยวกับการกำหนดโทษจากมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรง ต่างยอมรับมาตรการเหล่านี้ มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว รวมถึงการห้ามส่งออกสินค้าที่สร้างเม็ดเงินรายได้หลักของเกาหลีเหนือ เช่น โลหะมีค่า โลหะที่เป็นเหล็กและโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารทะเล และสิ่งทอ ซึ่งล้วนสำหรับส่งไปยังตลาดจีนเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังห้ามการนำเข้าเครื่องจักร ยานพาหนะ โลหะบางชนิด และน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นในด้านการขนส่ง รวมถึงการห้ามขนถ่ายจากเรือสู่เรือและการเงิน เพื่อให้รับมือการหลบหลีกของเกาหลีเหนือได้ดีขึ้น และลดความสามารถในการระดมทุนเพื่อโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธในภายหน้า

การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรในทางกว้างและลงลึกแสดงให้เห็นเป็นนัยว่าแนวทางที่คณะมนตรีความมั่นคงใช้ เปลี่ยนจากการมุ่งเน้นมาตรการที่กำหนดเป้าหมายไว้อย่างแคบ กลับไปสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมแบบเดิม อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กว้างขึ้นยังรวมถึงข้อยกเว้นเกี่ยวกับถ่านหินและน้ำมันที่ทำขึ้นอย่างรอบคอบ และความเต็มใจเป็นพิเศษที่จะพิจารณาข้อยกเว้นด้านมนุษยธรรมเป็นรายกรณี เพื่อหลีกเลี่ยงผล กระทบที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อโครงการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ เช่น แผนการคว่ำบาตรอิรักและทำลายการสนับสนุนระหว่างประเทศ

ภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าเรือไวส์ออเนสต์ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าของเกาหลีเหนือ เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือไม่ทราบชื่อ สหรัฐฯ ยึดเรือลำนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 จากข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การขนถ่ายทางทะเล

มติสหประชาชาติสั่งห้ามการขนถ่ายจากเรือสู่เรือโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการขนถ่ายไปยังเรือของเกาหลีเหนือหรือที่มาจากเรือของเกาหลีเหนือ และไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือสิ่งของที่กำลังจัดหา จำหน่าย หรือขนถ่ายไปยังเกาหลีเหนือหรือที่มาจากเกาหลีเหนือ แม้โดยทางอ้อมก็ตาม การขนถ่ายจากเรือสู่เรือคือการที่เรือลำหนึ่งแล่นไปขนาบข้างเรืออีกลำเพื่อขนถ่ายสินค้าทางทะเล โดยไม่ต้องขึ้นฝั่งไปยังคลังเก็บสินค้าที่ท่าเรือ

นอกเหนือจากการห้ามเกี่ยวกับถ่านหินทั้งหมด การขนถ่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นก็เป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน แต่อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการ การขนถ่ายจากเรือสู่เรือ ซึ่งถือเป็นวิธีหลักในการนำเข้าปิโตรเลียมกลั่น มักเกิดขึ้นในน่านน้ำระหว่างประเทศเกือบทุกครั้ง และมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมการปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรที่ท่าเรือ ตลอดจนเพื่อปกปิดจุดหมายปลายทางหรือแหล่งที่มาของสินค้าที่ขนถ่าย โดยปกติแล้ว เรือที่ดำเนินการขนถ่ายจากเรือสู่เรือที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะปิดระบบการระบุตัวตนอัตโนมัติทั้งก่อนและระหว่างที่ขนถ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ

แม้ว่าการขนถ่ายทางทะเลประเภทนี้จะไม่ผิดกฎหมายโดยวิธีการ แต่เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากวิธีนี้โดยเฉพาะในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ท่าเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมการส่งออก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำบัญชีและรายงานการส่งออก เพื่อทำลายมติที่กำหนดปริมาณการนำเข้าปิโตรเลียมกลั่นของเกาหลีเหนือ 500,000 บาร์เรลต่อปี ตามรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่ามีการละเมิดข้อกำหนดด้านปริมาณต่อปีช่วงสี่ถึงห้าเดือนใน พ.ศ. 2561 และ 2562 ตามจำนวนการขนถ่ายผิดกฎหมายที่ตรวจพบ

การขนถ่ายปิโตรเลียมกลั่นที่ผิดกฎหมายสองครั้งแรกจาก 11 ครั้งที่วางแผนโดยนายเฉิน ชีเซียน ซึ่งดำเนินการในไต้หวัน มีมูลค่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 ร้อยล้านบาท) และ 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.7 ร้อยล้านบาท) ตามลำดับ หนังสือพิมพ์ไต้หวันนิวส์ รายงานว่า ใน พ.ศ. 2560 ทางการเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ตรวจพบว่าเรือบรรทุกน้ำมันไลท์เฮาส์ วินมอร์ ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกงและดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทบิลเลียนส์ บังเกอร์ กรุ๊ป ที่นายเฉินเป็นเจ้าของ ได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรโดยจัดหาเชื้อเพลิงให้แก่เกาหลีเหนือ เว็บไซต์ดังกล่าวรายงานว่า นายเฉินฆ่าตัวตายเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยกระโดดจากอาคารชั้นที่หกหลังถูกทางการไต้หวันฟ้อง

การส่งออกถ่านหินของเกาหลีเหนือคาดว่าจะสร้างรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ต่อปี การขนถ่ายที่ผิดกฎหมายเฉลี่ยแล้วมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และต้องจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยเงินที่นายหน้ายืนยันว่าใช้ได้ก่อนการขนถ่ายทางทะเล ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เกาหลีเหนือพึ่งพาการค้าถ่านหินเพื่อเป็นทุนสำหรับอาวุธนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธ

มีการนำเรือไวส์ออเนสต์ เรือสินค้าของเกาหลีเหนือ (กลาง) แล่นเข้าสู่ท่าเรือในปาโกปาโก อเมริกันซามัวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 หลังจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ยึดเรือดังกล่าวจากอินโดนีเซียซึ่งควบคุมเรือไว้เมื่อ พ.ศ. 2561 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ตามรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนประเมินมูลค่าถ่านหิน 26,500 ล้านตันที่บรรทุกไว้บนเรือไวส์ออเนสต์ขณะที่อินโดนีเซียกักกันเรือดังกล่าวไว้เมื่อ พ.ศ. 2561 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 95 ล้านบาท) เรือไวส์ออเนสต์ที่จดทะเบียนในเกาหลีเหนือ แต่แอบอ้างการเดินเรือภายใต้ธงชาติเซียร์ราลีโอนปลอม ก่อนหน้านี้เคยเดินทางเพื่อขนส่งเครื่องจักรกลหนักไปยังเกาหลีเหนืออย่างผิดกฎหมาย ทั้งยังละเมิดมาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา

การระดมทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายถ่านหินที่ผิดกฎหมายผ่านการขนถ่ายจากเรือสู่เรือสัญชาติรัสเซีย ใกล้เมืองท่าบาลิกปาปันของอินโดนีเซีย มีการโยกย้ายโดยฮุยทง มิเนอรัล บริษัทสัญชาติจีนที่สมรู้ร่วมคิด จากธนาคารร่วมจินมยองของเกาหลีเหนือไปยังธนาคารอินโดนีเซีย ธนาคารจินมยองเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโคเรีย ซงกิ ซึ่งประกอบไปด้วยโคเรีย ซงกิ เจเนอรัล เทรดดิง, ซงกิ ชิปปิ้ง เจ้าของเรือไวส์ออเนสต์ และโคเรีย ยิน มยอง เทรดดิง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เอกสารของศาลเปิดเผยว่า เครือข่ายนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองทัพประชาชนเกาหลีที่นายคิมกำกับดูแล

ชายคนหนึ่งที่ชื่อนายจง ซงโฮ ซึ่งอ้างว่าเป็นประธานของจินมยอง เตรียมการจัดส่งเมื่อ พ.ศ. 2561 ระหว่างการประชุมที่สถานทูตเกาหลีเหนือ ณ กรุงจาการ์ตา หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ว่า นายจงได้จัดการชำระเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24 ล้านบาท) ให้แก่บริษัทฮุยทง มิเนอรัล ผ่านนายหน้าของอินโดนีเซีย โดยการโอนเงินผ่านธนาคารซึ่งดำเนินการโดยเจพีมอร์แกน เชส ตามบันทึกของธนาคารและบันทึกอื่น ๆ ดิแอสโซซิเอเต็ดเพรสรายงานว่า อินโดนีเซียกล่าวว่าบริษัทเอเนอร์แมกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทของเกาหลีใต้ เป็นผู้รับถ่านหินของเรือไวส์ออเนสต์โดยเจตนา สำนักข่าวเดอะไวร์รายงานว่า บริษัทเอเนอร์แมกซ์ปฏิเสธการนำเข้าถ่านหินดังกล่าว แต่ยอมรับว่าได้รับข้อเสนอเกี่ยวกับถ่านหินจาก “บุคคลที่เหมือนเป็นนายหน้าท้องถิ่นในอินโดนีเซีย” อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า บริษัทเอเนอร์แมกซ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งรถลีมูซีนเมอร์เซเดสเบนซ์ไปยังเกาหลีเหนืออย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นรถที่นายคิมจองอึนนั่งในขบวนพาเหรดและการประชุมสุดยอด

ข้อดีของการใช้บริษัทจีนนั้นทำให้บริษัทบังหน้าของเกาหลีเหนือเข้าถึงระบบธนาคารได้ ซึ่งหมายความว่า สามารถฟอกเงินสกุลเหรินหมินปี้ซึ่งเป็นสกุลเงินทางการของจีนให้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และสามารถใช้เส้นทางการเงินทางเลือก เช่น การทำธุรกรรมผ่านสมุดบัญชี และการจัดการการซื้อขายเพื่อคืนผลกำไรได้ การผสมผสานบริษัทที่สมรู้ร่วมคิดเหล่านี้โดยการจ่ายเงินแบบแยกส่วน เป็นการระดมทุนให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ของผู้อำนวยความสะดวกในท้องถิ่น

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อเกาหลีเหนือที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เพื่อหาทางขัดขวางบริษัทและเรือขนส่งและค้าขายของเกาหลีเหนือ

ขัดขวางการขนถ่ายที่ผิดกฎหมาย

เกาหลีเหนือมีการพัฒนาขอบเขตและความซับซ้อนของยุทธวิธีการหลอกลวงและการหลบหลีกอย่างต่อเนื่อง แผนการนั้นเกี่ยวข้องกับบริษัทบังหน้าหลายระดับ การดำเนินการนอกเขตอำนาจศาล และธุรกรรมทางการเงินแบบกระจัดกระจาย เรือเหล่านี้ปลอมแปลงทั้งในทางกายภาพและทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการหลอกระบบระบุตัวตนอัตโนมัติ และสิ่งที่เรียกว่าการสวมตัวตน โดยสมมติตัวตนเป็นเรือลำอื่น นอกจากนี้ เรือนี้ยังเดินเรืออ้อมไปมาอย่างสิ้นเปลืองและลอยเตร่ปิดท่าเรือต่างประเทศ เพื่อรับรองเอกสารเท็จที่ระบุท่าเรือต่างประเทศที่บรรทุกสินค้าและต้นทาง เกาหลีเหนือนิยมใช้ท่าเรือทางตะวันออกไกลของรัสเซีย เพราะภูมิภาคนี้เป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ในเอเชียตะวันออก

กรณีเรือไวส์ออเนสต์เปิดเผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของเทคนิคที่เกาหลีเหนือใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการขัดขวางการขนถ่ายที่ผิดกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน การดำเนินการคว่ำบาตรที่มีประสิทธิภาพกำลังถูกทำลายด้วยข้อบกพร่องในกรอบกฎหมายที่เกาหลีเหนือใช้เป็นเป้าหมายและนำมาใช้ประโยชน์

ตามรายงานของซีบีเอสนิวส์ระบุว่า ทางการอินโดนีเซียได้จับกุมและยึดเรือไวส์ออเนสต์ ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากกว่า 17,600 ตันในน่านน้ำของตนในข้อหาลักลอบขนถ่านหินของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 หนึ่งเดือนหลังจากมีการถ่ายภาพเรือลำนี้ได้ที่ท่าเรือนัมโป ประเทศเกาหลีเหนือ โดยมีถ่านหินจำนวนมากบรรทุกอยู่บนเรือ กัปตันเรือถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายทางทะเลของอินโดนีเซียและถูกตัดสินว่ามีความผิดในอินโดนีเซีย

ศาลแขวงบาลิกปาปัน ประเทศอินโดนีเซีย พิจารณาคดีของกัปตันคนดังกล่าวในข้อหาให้การเท็จ และทำเกินกว่าเหตุโดยพิพากษาว่าถ่านหินที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือนั้นจะถูกส่งคืนให้แก่ผู้อำนวยความสะดวก/นายหน้าในท้องถิ่น จากนั้นก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก โดยอนุญาตให้มีการส่งออกถ่านหินอีกครั้ง นายเอโก เซตยาโมโก นายหน้าที่สมรู้ร่วมคิด ได้จัดการโดยทันทีให้ถ่านหินที่ผิดกฎหมาย (ต่อมาได้รับการรับรองว่ามีต้นทางมาจากอินโดนีเซีย) ได้รับการขนถ่ายไปยังเรือดงถั่นที่ติดธงปานามา ซึ่งเป็นเรืออีกลำที่เชื่อมโยงกับการละเมิดครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงท่าเรือของมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้เรือลำนี้เข้ามายังท่าเรือ ต่อมา เรือและถ่านหินที่ผิดกฎหมายดังกล่าวถูกเวียดนามขัดขวางเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2562 ระบุว่า การดำเนินการทั้งสองครั้งสอดคล้องกับการดำเนินการตามมติที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทางการอินโดนีเซียยอมส่งมอบเรือไวส์ออเนสต์ให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเรือลำนี้ไปมอบให้แก่ชาวอเมริกันซามัว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ยึดเรือบรรทุกสินค้าของเกาหลีเหนือในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ เนวีไทมส์รายงานว่า ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้มอบเงินจากการขายเรือไวส์ออเนสต์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ให้แก่พ่อแม่ของนายออตโต วอร์มเบียร์ รวมถึงพี่ชายและบุตรชายของนายคิม ดงซิก ซึ่งถูกลักพาตัว ถูกทรมาน และถูกประหารชีวิตโดยตัวแทนชาวเกาหลีเหนือเมื่อ พ.ศ. 2543

ความร่วมมือจากนานาชาติ

ในกรณีของเรือไวส์ออเนสต์และดงถั่นแสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขัดขวางเครือข่ายของเกาหลีเหนืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดำเนินงานในหลายเขตอำนาจศาลและพัฒนาขึ้นทุกวัน ผู้กระทำความผิดอาจจะกล่าวว่า กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเปิดเผยว่า ต้นทุนและความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับเกาหลีเหนือนั้นจะเพิ่มแรงผลักดันขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบ ก่อน พ.ศ. 2562 มาตรการคว่ำบาตรยังไม่เป็นที่รู้จักเสียทีเดียว แต่เมื่อไม่นานนี้ เป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือพูดถึงการบรรเทามาตรการคว่ำบาตรและแสวงหาการมีส่วนร่วม

มีสัญญาณบางประการที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อ พ.ศ. 2562 จีนไม่ได้บังคับใช้มาตรการทั้งหมดขององค์การสหประชาชาติอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับเมื่อ พ.ศ. 2561 แต่กระนั้นเมื่อ พ.ศ. 2562 การส่งออกและนำเข้าของเกาหลีเหนือกับจีนยังคงขาดแคลนอยู่มาก และการขาดดุลการค้าทวิภาคีสูงกว่าระดับโดยรวมปกติ ก่อนที่จะบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ตามสถิติของกรมศุลกากรจีน

ยังมีงานหนักรออยู่เบื้องหน้าในการทำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการและปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวดมากขึ้น ดังที่แสดงให้เห็นจากความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ และการสมรู้ร่วมคิดกันสนับสนุนเกาหลีเหนือจากรัฐบาลบางประเทศในแอฟริกาและในที่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้ากำลังเกิดขึ้น ความอดทนบวกกับความเพียรพยายามควบคู่ไปกับความเหนื่อยล้าจากการหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตร อาจทำให้เกาหลีเหนือหมดแรงในการแข่งขันแบบมาราธอนครั้งนี้ในท้ายที่สุด

นายนีล เค. วัตต์ และนายวิลเลียม เจ. นิวคอมบ์ เป็นอดีตสมาชิกคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ที่จัดตั้งโดยข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1874 (พ.ศ. 2552)


คณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านเมืองต่าง ๆ ของเกาหลีเหนือ ทั้ง 56 ประเทศ แห่งองค์การสหประชาชาติ พ.ศ. 2562

รายงานฉบับนี้ ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดมติ 10 ข้อของสหประชาชาติที่มีต่อเกาหลีเหนือที่ผ่านมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งระบุการละเมิดที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ต่อเนื่อง หรือที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือที่กล่าวอ้างมากกว่า 100 ข้อ 31 ใน 56 ประเทศ ดินแดนและนิติบุคคลที่ระบุไว้รวมทั้งเกาหลีเหนือนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุในการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง

ทั้ง 56 ประเทศประกอบด้วย

แอลจีเรีย*
เบลีซ
โบลิเวีย
บอตสวานา
หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
พม่า
กัมพูชา
จีน
คอโมโรส
โกตดิวัวร์
สาธารณรัฐประชาธิปไตย
คองโก
เอลซัลวาดอร์
อิเควทอเรียลกินี
เอริเทรีย
ฝรั่งเศส
จอร์เจีย
กานา
กินี
ฮอนดูรัส
ฮ่องกง
อินเดีย
อินโดนีเซีย
อิหร่าน
ลาว
เลบานอน
ลิเบีย
มาดากัสการ์
มาเลเซีย
มอลตา
เม็กซิโก
โมซัมบิก
นามิเบีย
นิวซีแลนด์*
นิการากัว
ไนจีเรีย
ปานามา
ฟิลิปปินส์
โปแลนด์
รัสเซีย
เซอร์เบีย
เซเชลส์
เซียร์ราลีโอน
สิงคโปร์*
แอฟริกาใต้
ซูดาน
ซีเรีย
ไต้หวัน
แทนซาเนีย
ไทย
โตโก
ตูนิเซีย
ยูกันดา
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เวียดนาม
เยเมน
(กลุ่มฮูษี)
แซมเบีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button