ติดอันดับ

การตรวจสอบไวรัสโคโรนาล่าช้าลงเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกเผชิญกับมาตรการกักตัวภาคบังคับเมื่อมาถึงประเทศจีน

คณะทำงานระดับสูงของนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลกสองคนได้เดินทางไปยังประเทศจีนเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อวางรากฐานในการตรวจสอบที่มาของโควิด-19 อย่างกว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้เริ่มงาน นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองคนต้องเผชิญกับการกักตัว 14 วันตามที่รัฐบาลจีนกำหนด

“เห็นได้ชัดว่า การมาถึงและการกักตัวบุคคลและการทำงานจากระยะไกลไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการทำงาน แต่เราเคารพขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงที่กำหนดไว้อย่างเต็มที่” นายไมค์ ไรอัน หัวหน้าฝ่ายตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวในงานแถลงข่าว

นายไรอันระบุว่า อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้ทั้งทีมมาถึงและปฏิบัติงานในจีนเพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือมากกว่า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาพ: นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ซ้าย) เข้าพบปะกับนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนการประชุมที่ศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563)

การตรวจสอบขององค์การอนามัยโลกมีขึ้น เนื่องจากจีนยังคงเผชิญกับผลกระทบและการวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่โปร่งใสของตน เกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับไวรัสดังกล่าว ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศแผนการเดินทางไปยังประเทศจีน วารสารรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติระบุว่า มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสุกรในจีน ซึ่งไวรัสดังกล่าวคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเอช1เอ็น1 และมี “จุดเด่นสำคัญอยู่ที่การปรับตัวในระดับสูงเพื่อแพร่เชื้อสู่มนุษย์”

ไวรัสดังกล่าวมีชื่อว่า ไวรัสยูเรเซีย จี4 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่คล้ายกับไวรัส เอช1เอ็น1 ในสัตว์ปีก มีการแพร่ระบาดในสุกรในจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันไวรัสดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อมนุษย์

คาดกันว่านักวิจัยขององค์การอนามัยโลกที่กำลังตรวจสอบไวรัสโคโรนา จะเริ่มหันมาให้ความสนใจตลาดขายส่งอาหารทะเลหัวหนานในอู่ฮั่นซึ่งมีการจำหน่ายสัตว์เป็น ๆ และเนื้อสัตว์ป่า เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ๆ มีประวัติเดินทางไปยังตลาดแห่งนี้

“การระบุที่มาของโรคไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความซับซ้อนในการระบาดใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศต่าง ๆ ชุดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีการวางแผนเป็นอย่างดีจะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งรังโรคในสัตว์และเส้นทางการแพร่เชื้อสู่มนุษย์” เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกล่าวในแถลงการณ์ “กระบวนการนี้เป็นความพยายามในการพัฒนาซึ่งอาจนำไปสู่การวิจัยและความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติทั่วโลกต่อไป”

ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม นายไรอันกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ทำการตรวจสอบภาคสนามใด ๆ ในช่วงแรก กลับกัน นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกจะประชุมกับเจ้าหน้าที่และนักวิจัยจีนเพื่อทบทวนข้อมูลและสรุปขอบเขตการสอบถามข้อมูลคร่าว ๆ ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์

“เราต้องเปิดใจให้กว้าง” นายไรอันกล่าว “วิทยาศาสตร์ต้องเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ทั้งหมด”

นายหวง เหยียนจง ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณะสุขในจีนจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า จีนและองค์การอนามัยโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้านการรับมือกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าตัวแทนจากประเทศอย่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำการตรวจสอบหรือเข้าดูบันทึกการตรวจสอบหรือไม่

“โดยสรุปแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการตรวจสอบโดยละเอียดและเป็นกลางจะเป็นไปได้หรือไม่” นายหวงกล่าวกับเดอะนิวยอร์กไทมส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button