เรื่องเด่น

การจัดหาเงินเพื่อ อนาคต ที่ปลอดภัย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ส่งเสริมการเติบโต ความเจริญ และ ความยั่งยืนในอินโดแปซิฟิก

นายพอล เคอร์รี่/ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

ด้วย การรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไปจนถึงการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ ธนาคารพัฒนาระดับพหุภาคีที่ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์เป็นเครื่องมือสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสังคมในอินโดแปซิฟิกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2509 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมะนิลา วิสัยทัศน์ขององค์กรคือการบรรลุซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความเจริญ ไม่แบ่งแยก ยืดหยุ่น และยั่งยืนตั้งแต่ทบิลีซีจนถึงตาราวา ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียใช้การผสมผสานเงินกู้ เงินอุดหนุน การลงทุนในตราสารทุน เงินค้ำประกัน ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการเจรจาเชิงนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการบรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อขจัดความยากจนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค ธนาคารดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของภูมิภาค และในฐานะผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด โดยจะยังคงมีบทบาทต่อไปในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของอินโดแปซิฟิก

ใน พ.ศ. 2561 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ให้เงินกู้และเงินอุดหนุนแก่รัฐบาลมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท) รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา ทรัพยากรส่วนใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คือการสนับสนุนทางการเงินในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลที่ดี ตลอดจนการปรับปรุงผลลัพธ์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ใน พ.ศ. 2561 ภาระผูกพันหลัก ๆ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้แก่ พลังงาน (ร้อยละ 24) การคมนาคมขนส่ง (ร้อยละ 23) ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาชนบท (ร้อยละ 11) การจัดการภาครัฐ (ร้อยละ 11) รวมถึงเมืองและน้ำ (ร้อยละ 10)

โดยความช่วยเหลือของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียขึ้นอยู่กับการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดแก่ผู้ถือหุ้นและประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา ตลอดจนพันธมิตรด้านการพัฒนาอื่น ๆ ที่มีบทบาทในภูมิภาคนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ “เท่าเทียม” กับญี่ปุ่น ความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียกับสหรัฐฯ ได้ส่งเสริมการเติบโตของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศสมาชิกของธนาคาร และในทางกลับกัน ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค

การเป็นเจ้าของและการกำกับดูแล

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียมี 68 ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าของ จากสมาชิกระดับภูมิภาค 49 ประเทศ มี 44 ประเทศที่ได้รับการจัดประเภทเป็นประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา ดังนั้นจึงมีสิทธิ์ที่จะกู้ยืมและรับความช่วยเหลือ การเป็นเจ้าของโดยสมาชิกในภูมิภาคและนอกภูมิภาคนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ซื้อ โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือญี่ปุ่น (ร้อยละ 15.6) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 15.6) ตามด้วยจีน (ร้อยละ 6.4) อินเดีย (ร้อยละ 6.3) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.8)

โครงสร้างการกำกับดูแลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประกอบด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลและคณะกรรมการประจำ เช่นเดียวกับธนาคารระดับพัฒนาพหุภาคีอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารโลก โดยคณะกรรมการกำกับดูแลเป็นผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ระยะยาวและการกำกับดูแลสถาบันโดยรวม กระทรวงการคลังเป็นผู้นำการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และมีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เป็นตัวแทนประจำธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

คณะกรรมการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่ธนาคาร และอนุมัติกลยุทธ์ นโยบาย รวมถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจทั้งหมด คณะกรรมการมีการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีและประกอบด้วยสมาชิก 12 ตำแหน่ง ซึ่งแต่ละตำแหน่งนำโดยผู้อำนวยการบริหาร เก้าตำแหน่งเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศ ในขณะที่อีกสามตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่สำรองไว้เพื่อตัวแทนจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเป็นประธานคณะกรรมการและวางแนวทางการดำเนินงานของธนาคาร พนักงาน และการบริหาร ในอดีต ผู้นำธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียนั้นเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยนายมาซัตสึงุ อาซากาวา ประธานคนใหม่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

การบริหารจัดการและการดำเนินงาน

ในเชิงปฏิบัติการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะแบ่งเป็นแผนกสนับสนุนและแผนกภูมิภาค แผนกภูมิภาคจะประสานงานความช่วยเหลือระหว่างธนาคารกับผู้กู้ ซึ่งดูแลสำนักงานภาคสนามของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในประเทศที่กู้ยืมเงิน และทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ภาคเอกชน และพันธมิตรด้านการพัฒนา เพื่อวางแผนและดำเนินการกลุ่มหลักทรัพย์การช่วยเหลือเฉพาะประเทศ แผนกภูมิภาคจะออกแบบและดำเนินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกของธนาคาร รวมถึงกลยุทธ์ความร่วมมือของประเทศสมาชิกของธนาคาร และแผนธุรกิจการดำเนินงานของประเทศ

แผนกภูมิภาคของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เรียงลำดับตามส่วนแบ่งภาระผูกพันใหม่ซึ่งจัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2561 ได้แก่ เอเชียใต้ (ร้อยละ 32) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 29) เอเชียกลางและตะวันตก (ร้อยละ 21) เอเชียตะวันออก (ร้อยละ 14) และแปซิฟิก (ร้อยละ 2) แผนกภูมิภาคส่วนใหญ่เป็น “ภาคพื้นดิน” โดยมีพนักงานของแผนกภูมิภาคของธนาคารดังกล่าวจำนวนร้อยละ 59 ที่ได้รับมอบหมายภารกิจประจำในประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา ช่วยให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียสามารถปรับความช่วยเหลือให้ตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ และสอดคล้องกับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นของธนาคาร แผนกปฏิบัติงานภาคเอกชนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ช่วยเสริมทีมระดับภูมิภาคโดยมุ่งเน้นการทำธุรกรรมนอกภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

แผนกสนับสนุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียให้ความช่วยเหลือที่หลากหลายสำหรับการดำเนินงานภายในของธนาคาร (เช่น การสื่อสาร ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และการประเมินผลภายใน) รวมถึงการออกแบบและดำเนินโครงการตามหัวข้อหรือภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือพลังงาน ตัวอย่างบางส่วนของแผนกนอกภูมิภาคของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ได้แก่ แผนกวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาค แผนกการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนกสื่อสาร และแผนกประเมินผลอิสระ

แผนกต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ และที่ปรึกษาทั้งหมดของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มุ่งมั่นในแนวทาง “ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหนึ่งเดียว” ซึ่งส่งเสริมการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญทั่วทั้งองค์กร เพื่อนำกลยุทธ์การแนะแนวของธนาคารไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2573 และด้านที่สำคัญของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

ใน พ.ศ. 2561 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์ พ.ศ 2573 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในระยะยาวของธนาคาร โดยได้กำหนดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานเจ็ดประการ เพื่อกำกับทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน การบริการให้คำปรึกษา ตลอดจนกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ของธนาคาร

ความสำคัญในการดำเนินงานเจ็ดประการของยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2573 ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยังคงมีอยู่และลดความเหลื่อมล้ำ เร่งความก้าวหน้าในความเสมอภาคทางเพศ การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความพร้อมรับมือด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และการเพิ่มความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาและความมั่นคงทางอาหารในชนบท การเสริมสร้างการปกครองและศักยภาพของสถาบัน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการในระดับภูมิภาค

แม้ว่าด้านที่สำคัญของยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2573 จะเป็นกรอบในการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย แต่การจัดตั้งโครงการของประเทศก็ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันตามความต้องการ ความสามารถในการดูดซับทางการเงินและทางเทคนิค รวมทั้งสถานะการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาแต่ละประเทศ การผสมผสานระหว่างรูปแบบการให้สินเชื่อตามสัมปทานและตามตลาดของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ควบคู่ไปกับเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางเทคนิค ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่เหมาะสมกับประเทศ ไปพร้อมกับการหารือนโยบายอย่างสร้างสรรค์และการสนับสนุนการพัฒนาภาคเอกชน

นโยบายและวิธีการให้สินเชื่อ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มีเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่แตกต่างกันสำหรับประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบจำแนกประเภทสามลำดับขั้นเพื่อพิจารณาว่า ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนามีสิทธิ์กู้ยืมในอัตราใกล้เคียงกับแหล่งเงินทุนสามัญของธนาคาร ตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อสัมปทาน หรือเพื่อรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือไม่ เงื่อนไขการให้สินเชื่ออยู่บนพื้นฐานของรายได้ประชาชาติต่อหัว ความน่าเชื่อถือทางเครดิต และความเสี่ยงต่อความเดือดร้อนจากหนี้ของประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา การดำเนินการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียสร้างรายได้ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพิ่มฐานทุนของธนาคาร และช่วยจัดหาการช่วยเหลือทางเทคนิคและเงินอุดหนุน ผู้บริจาคให้ทุนจำนวนมากแก่กองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชีย ซึ่งอัดฉีดเงินอุดหนุนในทุก ๆ สี่ปี ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้บริจาครายใหญ่เป็นอันดับสองของกองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชียรองจากญี่ปุ่น

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในอินโดแปซิฟิก

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเป็นธนาคารพัฒนาภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมีเงินช่วยเหลือมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท) ในการให้สินเชื่อ เงินอุดหนุน และภาระผูกพันอื่น ๆ ต่อปี ธนาคารยังเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีประวัติยาวนานที่สุดในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในภูมิภาคนี้มามากกว่า 50 ปี ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคเอกชนทั่วทั้งภูมิภาคอย่างยากที่จะเทียบเคียง แต่ขีดความสามารถทางการเงินและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียไม่ได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นธนาคารด้านการพัฒนาชั้นนำอีกด้วย ชุดนโยบายของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียที่ครอบคลุมถึงความยั่งยืนด้านหนี้สิน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสังคม การจัดหา การต่อต้านการทุจริต และความซื่อสัตย์ ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญของสถาบันแห่งนี้ นโยบายเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่ดีที่สุด อีกทั้งยังแสดงถึงมาตรฐานทองคำของการลงทุนที่มีคุณภาพและยั่งยืน

ในฐานะพันธมิตรการพัฒนาระดับพหุภาคีที่เชื่อถือได้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียรับหน้าที่ในการจัดการประชุมสำหรับรัฐบาล พันธมิตรการพัฒนา และผู้บริจาคแบบทวิภาคีทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก ดังนั้น ความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางแผนและส่งมอบความช่วยเหลือด้านการจัดทำโครงการและการลงทุนในภูมิภาคนี้

เนื่องจากบทบาทที่จัดตั้งขึ้นในภูมิภาค รายงานล่าสุดของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเป็น “สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ” รายงานระบุว่า “ใน พ.ศ. 2561 สหรัฐฯ มอบเงินรวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.3 แสนล้านบาท) ในการจองซื้อหุ้นทุน โดยมอบเงินเพิ่มเติม 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) แก่โครงการร่วมระดมทรัพยากรสมทบ ซึ่งโครงการร่วมระดมทรัพยากรสมทบนี้ได้กระจายไปหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินเดีย เวียดนาม และเนปาล นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ลงทุนในกองทุนรวมที่มีผู้บริจาคหลายราย เช่น กองทุนรวมด้านโครงสร้างพื้นฐานของอัฟกานิสถาน ซึ่งได้ร่วมระดมทรัพยากรสมทบกับภาคเอกชนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน”

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้นำการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย แต่ธนาคารก็ยังมีส่วนร่วมกับแผนกและหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น รายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียและองค์กรการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐฯ ในการเปิดตัวโครงการจัดซื้อจัดจ้างระดับโลกด้วยโครงการที่มีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นอกจากนี้ บรรษัทการลงทุนเอกชนในต่างประเทศยังทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เพื่อร่วมระดมทรัพยากรสมทบแก่ธนาคารและกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน โดยทั้งสองแห่งดำเนินการในอินเดีย ท้ายที่สุด บริษัทในสหรัฐฯ เช่น เจเนอรัลอิเล็กทริกและซิตี้แบงก์ จึงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในฐานะผู้ร่วมระดมทรัพยากรสมทบ ซึ่งให้ทุนและความเชี่ยวชาญแก่ภาคเอกชน

ในฐานะหนึ่งในสมาชิกที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในธนาคาร สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเสมอมา และในขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเป็นสมาชิก สหรัฐฯ ให้ทุนทางการเงินและความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ในขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียให้แพลตฟอร์มระดับพหุภาคีที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสหรัฐฯ สามารถสนับสนุนและกำกับความพยายามในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วอินโดแปซิฟิกได้

นายพอล เคอร์รี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประสานงานในการดำเนินงานหลักของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button