ประเทืองปัญญาแผนก

การค้นพบที่มีเรื่องราว

ศิลปะบนผนังถ้ำอินโดนีเซียเป็นบันทึกการเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ

มีการค้นพบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำในเกาะซูลาเวซีของอินโดนีเซีย ซึ่งแสดงภาพคล้ายมนุษย์กำลังล่าสัตว์ที่ดูเหมือนจะเป็นบันทึกภาพวาดเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ อ้างอิงจากงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ภาพเขียนสีที่พบในถ้ำหินปูนเมื่อ พ.ศ. 2560 ภาพนี้ มีอายุเกือบ 44,000 ปี ซึ่งตรวจโดยใช้การวิเคราะห์ชุดยูเรเนียม ตามที่ระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ในวารสารเนเชอร์

ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นทีเรียนโทรปหรือมนุษย์ที่มีลักษณะของสัตว์จำนวน 8 คน ซึ่งดูเหมือนกำลังไล่ล่าและฆ่าสัตว์หกตัว เช่น หมูวาร์ตี้ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นของเกาะ โดยใช้หอกและเชือกในการล่า

“ภาพเขียนสีของเหล่านักล่าที่เผชิญหน้ากับเหยื่ออย่างน้อยสองสายพันธุ์ที่ต่างกัน อาจแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนเกมการล่าสัตว์ในชุมชน โดยล่าสัตว์ที่ถูกต้อนออกจากที่ซ่อนอย่างไม่เลือกและมุ่งหน้าไปยังนักล่าที่รอคอยอยู่” นักวิจัยกล่าว

จวบจนปัจจุบัน ศิลปะบนหินที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสัตว์คืองาช้างสลักที่พบในถ้ำแห่งหนึ่งในเยอรมนี ประติมากรรมชิ้นนี้สลักเป็นร่างกายของมนุษย์แต่มีศีรษะคล้ายสัตว์จำพวกแมว ซึ่งคาดว่ามีอายุ 40,000 ปี

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำในอินโดนีเซียยังเป็นหลักฐานบางส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของจิตวิญญาณมนุษย์ นายอดัม บรัมม์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย ซึ่งเป็นนักโบราณคดีของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว “ทีเรียนโทรปปรากฏในนิทานพื้นบ้านหรือนิยายเล่าเรื่องของสังคมสมัยใหม่เกือบทุกแห่ง และมีการมองว่าบุคคลเหล่านี้เปรียบเสมือนเทพเจ้า วิญญาณ หรือการมีชีวิตของบรรพบุรุษในหลายศาสนาทั่วโลก” นายอดัมกล่าวในรายงาน

งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านโบราณคดีของอินโดนีเซียและนักวิทยาศาสตร์จากแผนกมรดกทางวัฒนธรรมของมาคัสซาร์ ซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัด นักวิจัยของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธกล่าวว่า มีการค้นพบศิลปะบนผนังถ้ำในซูลาเวซีครั้งแรกในทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) โดยมีถ้ำและที่พักพิงอย่างน้อย 242 แห่งที่มีภาพลักษณะดังกล่าวบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงนั้น

นายแอดไฮ อากัส ออกทาเวียนา ผู้เชี่ยวชาญศิลปะบนหินชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า ถ้ำบางแห่งได้รับความเสียหายซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้ภาพศิลปะได้ โดยชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากเกลือ ฝุ่นละออง การหลุดลอก จุลินทรีย์ และควัน “คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้า หากผลงานศิลปะเก่าแก่เหล่านี้หายไปในช่วงชีวิตของเราเอง แต่มันกำลังเป็นเช่นนั้น” นายออกทาเวียนา ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ กล่าวเพิ่มเติม รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button