ข้าวสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งได้รับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อสู้กับภาวะขาดวิตามินเอ ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในฟิลิปปินส์
ผู้สนับสนุนกล่าวว่า พันธุ์ข้าวซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ข้าวสีทอง สามารถแก้ไขสภาวะซึ่งคร่าชีวิตเด็ก ๆ ถึง 250,000 คนในแต่ละปีทั่วโลก และอาจจะมากกว่าจำนวนนี้ถึงสองเท่า ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก
นี่เป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมโดยออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับปัญหาด้านสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับไฟเขียวจากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศที่กำลังพัฒนา
ข้าวสีทองได้เผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจากผู้ที่ต่อต้านจีเอ็มโอตลอดการพัฒนา โดยอ้างอิงความกังวลด้านความปลอดภัยและประเด็นอื่น ๆ ผู้ประท้วงทำลายแปลงทดสอบในฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2556
สำนักงานอุตสาหกรรมพืช กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ว่า ข้าวสีทองมีความปลอดภัยเท่ากับข้าวธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลในออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ยังให้ความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยของข้าวพันธุ์ดังกล่าว
นายเอเดรียน ดูบ็อก เลขาธิการคณะกรรมการมนุษยธรรมข้าวสีทอง ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อนำพันธุ์ข้าวดังกล่าวออกจากห้องปฏิบัติการสู่ท้องนา กล่าวว่า หลังจากพัฒนาข้าวถึง 20 ปี “รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง” ที่มาได้ถึงขั้นนี้
ยีนที่เพิ่มเข้ามา 2 ยีนจะเปลี่ยนข้าวเป็นสีทอง ซึ่งยีนหนึ่งมาจากข้าวโพดและอีกยีนหนึ่งมาจากแบคทีเรียในดิน ภายใต้การควบคุมโดยตรงขององค์กร เมล็ดข้าวจะผลิตเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอที่ทำให้แครอทและมันหวานมีสีส้ม ยีนแบคทีเรียชนิดที่สามทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้การตรวจสอบย้อนกลับได้
ในฟิลิปปินส์ ภาวะขาดวิตามินเอในกลุ่มเด็ก ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.2 ใน พ.ศ. 2551 เป็นร้อยละ 20.4 เมื่อ พ.ศ. 2556 แม้จะมีโครงการอาหารเสริมระดับชาติ ตามรายงานของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังพัฒนาข้าวพันธุ์ดังกล่าว
ข้าวสีทองสามารถให้วิตามินเอครึ่งหนึ่งของความต้องการในชีวิตประจำวันแก่เด็กเล็ก สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศกล่าว
พืชผลที่ก่อให้เกิดการโต้แย้ง
ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพได้นำเสนอข้าวสีทอง ในฐานะหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งที่เทคโนโลยีชีวภาพสามารถทำได้ ซึ่งผลิตพืชและสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้รวดเร็วกว่าการผสมพันธุ์ตามปกติ
ฝ่ายต่อต้านกล่าวว่า ข้าวพันธุ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่อาจทราบได้ แม้ว่าจะมีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ว่าสายพันธุ์จีเอ็มโอในท้องตลาดปัจจุบันนั้นมีความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงข้าวสีทองด้วย
นอกจากนี้ นักวิจารณ์จีเอ็มโอยังกังวลว่า บริษัทเพื่อการสร้างผลกำไรที่ได้พัฒนาจีเอ็มโอจะมีอิทธิพลที่ไม่เหมาะสมเหนืออุปทานของเมล็ดพันธุ์
ก่อนหน้านี้ ซินเจนทา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรเคยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสำคัญสำหรับข้าวสีทอง แต่ได้บริจาคให้แก่คณะกรรมการมนุษยธรรมข้าวสีทอง นายดูบ็อกกล่าวว่า สายพันธุ์ข้าวสีทองมีไว้สำหรับใช้ในโครงการเพาะสายพันธุ์พืชของรัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น และจะไม่ทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าข้าวธรรมดาทั่วไป
การแก้ไขปัญหาด้านอาหาร
นักวิจารณ์กล่าวว่า เวลา ความพยายาม และเงินจำนวนมากที่ใช้ในการพัฒนาข้าวสีทอง อาจดีกว่าหากนำไปใช้ในความพยายามเพื่อการสร้างความหลากหลายในอาหารของผู้ที่ประสบภาวะขาดสารอาหาร
“มีเงินทุนที่จำกัดอย่างมากสำหรับการพัฒนา … การเลือกเส้นทางที่คุณจะไป สถานที่ที่คุณจะวางเงินทุนของคุณมีความสำคัญอย่างยิ่ง” นายบิล ฟรีส นักวิเคราะห์นโยบายวิทยาศาสตร์ของศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารกล่าว
นายฟรีสตั้งข้อสังเกตว่า โครงการที่จะช่วยให้มีผลไม้และผักมากขึ้นในอาหารของผู้มีรายได้น้อย น่าจะช่วยบรรเทาโรคเรื้อรังหลายอย่างซึ่งไม่ใช่แค่การขาดวิตามินเอ
นายดูบ็อกเห็นด้วยว่า “การมีอาหารที่หลากหลายเป็นทางออกที่ดีที่สุด” พร้อมเสริมว่า ข้าวสีทองเป็นเครื่องมือที่ไปด้วยกันได้ดีกับวิธีรับประทานอาหารที่มีอยู่เดิมของผู้คน
ยังไม่ชัดเจนว่าเกษตรกรของฟิลิปปินส์จะสามารถปลูกข้าวสีทองได้เมื่อใด เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลยังคงต้องรับรองว่า ข่าวพันธุ์ดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในไร่นาของเกษตรกร สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศระบุว่าได้ยื่นการประยุกต์ใช้ข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563
สตีฟ บาราโกนา/วอยซ์ออฟอเมริกา