ติดอันดับ

ออสเตรเลียและอินเดียลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับใหม่

โจเซฟ แฮมมอนด์

อินเดียและออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมสำคัญสองฉบับ ซึ่งเน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศและพันธมิตรของตน

ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกันฉบับนี้ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีความคล้ายคลึงกับข้อตกลงฉบับต่อมาที่ลงนามกับสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2559 โดยข้อตกลงนี้เรียกร้องให้มีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม

“ในการประชุมสุดยอดผ่านวิดีโอของนายกรัฐมนตรี มีการลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมที่สำคัญสองฉบับคือ ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกันและข้อตกลงการบังคับใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกลาโหม” โฆษกกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวกับ ฟอรัม “ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกันจะปูทางให้เกิดความร่วมมือทางทหารระหว่างอินเดียกับออสเตรเลียที่ลึกซึ้งและเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกันทางทหารมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งมีการตอบสนองร่วมกันต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคมากขึ้น” (ภาพ: นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผ่านวิดีโอ)

เอกสารที่ลงนามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ครอบคลุมถึงความมั่นคงในภูมิภาคและประเด็นอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางไซเบอร์และการก่อการร้าย ในฐานะส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์สู่อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ทั้งสองประเทศเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ต่อต้าน “ขยะทางทะเลและขยะพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว” และมุ่งเป้าไปที่การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” นอกจากนี้ ข้อตกลงในวงกว้างยังหมายรวมถึงกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ ๆ อีกหลายฉบับด้วย

แถลงการณ์ร่วมจากทั้งสองประเทศระบุว่า “ทั้งสองประเทศแบ่งปันวิสัยทัศน์ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม ซึ่งส่งเสริมประเทศให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคง และมีอธิปไตยบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน”

ทั้งสองประเทศ ร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งกลุ่มภูมิภาคที่รู้จักกันในนามการเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคี ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550

การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของทั้งสี่ประเทศเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 เมื่อนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมกับรัฐมนตรีฯ อีกสามประเทศควบคู่ไปในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในนิวยอร์ก ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างอินเดียกับออสเตรเลีย” นายซาเมียร์ พาทิล นักวิจัยด้านความมั่นคงระหว่างประเทศประจำเกตเวย์เฮาส์ สถาบันวิจัยด้านนโยบายต่างประเทศกล่าว “ที่จริงแล้ว เหตุผลสำหรับข้อตกลงดังกล่าวอยู่ในการพัฒนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการกระทำที่อุกอาจของจีนได้คุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในอินโดแปซิฟิก ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกองทัพเรืออินเดีย เนื่องจากกองทัพเรืออินเดียสามารถเข้าถึงท่าเรือออสเตรเลียได้”

นายพาทิล ซึ่งเคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ข่าวกรองพลเรือนที่สำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปะทะกันแถบชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้

ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกัน “ควรจะได้รับการลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดระหว่างอินเดียกับออสเตรเลีย ซึ่งมีกำหนดการในช่วงต้นปีนี้ แต่ได้เลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากวิกฤตไฟป่าของออสเตรเลีย จากนั้นก็มีการเลื่อนออกไปอีกครั้งเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา” นายพาทิลกล่าว

โจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button