ติดอันดับ

ประชาคมโลกเสนอสถานที่ลี้ภัยแก่ชาวฮ่องกงหลังการปราบปรามของจีน

ประชาคมโลก ตั้งแต่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกไปจนถึงยุโรปและอเมริกาเหนือ ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการปราบปรามเสรีภาพของประชาชนในฮ่องกงครั้งล่าสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการสนับสนุนอย่างล้นหลามและเสนอสถานที่ลี้ภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยจำนวน 7.5 ล้านคนของมหานครแห่งนี้

หนึ่งสัปดาห์กว่าหลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวดต่อศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้ นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศแผนการอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางฮ่องกงจำนวนสูงถึง 14,000 คนสามารถพำนักในระยะยาวขึ้นได้ นอกจากนี้ นักศึกษาและพนักงานชั่วคราวที่มีทักษะเหล่านั้นจะมีสิทธิ์ได้รับ “โอกาสสู่การมีถิ่นที่อยู่ถาวร” ในออสเตรเลีย

“ออสเตรเลียมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดึงดูดนักธุรกิจที่เก่งที่สุดและฉลาดที่สุดของฮ่องกง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานของเรา และเรามุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่านี่จะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น” สำนักนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังจะเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจและวีซ่าเพื่อดึงดูดธุรกิจระหว่างประเทศกว่า 1,000 แห่งที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในฮ่องกงให้บางส่วน “ย้ายฐานไปยังประเทศที่เป็นประชาธิปไตย”

ออสเตรเลียมีความเห็นเช่นเดียวกับแคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในการระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง โดยอ้างถึงการสูญเสียเอกราชของมหานครแห่งนี้จากจีนแผ่นดินใหญ่ ความตกลงว่าด้วยการส่งมอบดินแดนจากอังกฤษให้แก่จีนเมื่อ พ.ศ. 2540 รับรองให้ฮ่องกงปกครองตนเองได้ในระดับสูงจนถึง พ.ศ. 2590 แต่บรรดาผู้นำโลกกล่าวว่า จีนได้เหยียบย่ำการรับประกันเหล่านั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หลายคนมองว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มีเป้าหมายที่จะใช้ปราบขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง และผลกระทบอันน่าหวาดหวั่นของกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นทันทีที่เหล่านักเคลื่อนไหวประกาศยุบพรรคฝ่ายค้านและตำรวจปราบจลาจล (ในภาพ) เข้าจับกุมผู้ประท้วงหลายร้อยคน

ไต้หวันเปิดสำนักงานแผนกกิจการผู้อพยพ ณ สถานที่แห่งอื่นในอินโดแปซิฟิก เพื่อช่วยเหลือชาวฮ่องกงในการย้ายถิ่นฐานไปยังไต้หวัน “มีหลายอย่างเปลี่ยนไปใน #ฮ่องกง ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่ความมุ่งมั่นของ #ไต้หวัน ที่จะสนับสนุน #ชาวฮ่องกง ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่เคยเปลี่ยนไป” นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน เขียนในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายความมั่นคงมีผลบังคับใช้

ไกลออกไป ผู้นำแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศแผนการที่จะเสนอการยืดเวลาการพำนัก และโอกาสสู่การเป็นพลเมืองสำหรับผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงที่มีสิทธิ์ได้รับหนังสือเดินทาง (ต่างประเทศ) ของประเทศอังกฤษจำนวนสูงสุด 3 ล้านคน “จีนได้ทำผิดสัญญากับประชาชนฮ่องกงภายใต้กฎหมายของตัวเอง” นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวต่อรัฐสภาอังกฤษเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม

รัฐบาลเผด็จการของจีนได้ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยการขู่ว่าจะทำการตอบโต้โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด “เราขอย้ำว่ากิจการในฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีน ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ” นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ตามรายงานจากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ

แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสการสนับสนุนผู้คนในฮ่องกงจากทั่วโลกได้ แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะกำลังรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของตน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาก็ตาม

เมื่อทราบว่ามีชาวแคนาดา 300,000 คนอาศัยอยู่ในฮ่องกง นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา จึงกล่าวว่า แคนาดาจะพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในฮ่องกง “เราจะพิจารณาการตอบสนองโดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรของเราต่อไป” นายทรูโดกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม

ในรัฐสภาสหรัฐฯ สมาชิกสภานิติบัญญัติได้นำเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองความปลอดภัยของฮ่องกง ซึ่งเป็นกฎหมายแบบทวิภาคีที่จะให้สถานะผู้ลี้ภัยเป็นลำดับแรกแก่ผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงที่ถูกเอาผิดหรือที่กังวลว่าจะถูกจับ เพราะพวกเขา “ประท้วงอย่างสันติในระบบยุติธรรมที่ทุจริตของรัฐบาลจีน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button